xs
xsm
sm
md
lg

'คนรุ่นหลังปฏิวัติอิสลาม'กับการชุมนุมประท้วงที่'อิหร่าน' (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เปเป เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iran's post-Islamist generation
By Pepe Escobar
16/02/2011

พวกผู้ประท้วงวัยหนุ่มสาวในอิหร่าน อาจจะยังไม่มีโอกาส “ตอกหน้า” อย่างถนัดถนี่ต่อระบอบปกครองปัจจุบันของอิหร่าน ที่เที่ยวป่าวร้องสนับสนุนเยาวชนปฏิวัติในอียิปต์ ทว่ากลับทำการเซ็นเซอร์, ทุบตี, และจับกุม บรรดาลูกหลานแห่งมาตุภูมิของตนเอง คนวัยหนุ่มสาวเหล่านี้กำลังปฏิเสธไม่ยอมรับระบอบปกครองเผด็จการที่ฉ้อฉลเลวร้าย ตลอดจนไม่เห็นด้วยกับการนำเอาศาสนาอิสลามมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง พวกเขามาจากคนรุ่น “เจเนอเรชั่น วาย?” (Generation Why?) และมีความเห็นว่าการปฏิวัติอิสลามเป็นสิ่งที่หมดพลังไปเสียแล้ว

**คนรุ่นหลังการปฏิวัติอิสลาม**

ในเวลาที่สถานการณ์ของภูมิภาคตะวันออกกลางตกอยู่ในภาวะวิกฤตเฉกเช่นปัจจุบันนี้ มักจะเป็นประโยชน์เสมอมาถ้าเราจะหันไปรับฟังความคิดเห็นของหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของโลกตะวันตก ในเรื่องศาสนาอิสลามกับการเมือง นั่นคือ โอลิวิเยร์ รอย (Olivier Roy) ผู้อำนวยการโครงการเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean program) แห่งสถาบันมหาวิทยาลัยยุโรป (European University Institute) ที่ตั้งอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

จากงานเขียนที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ เลอมง (Le Monde) ของฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่ารอยเป็นหนึ่งในจำนวนนักวิชาการไม่กี่คน ที่กำลังเสนอคำอธิบายทางทฤษฎีออกมา เกี่ยวกับเรื่องยุคสมัยหลังการปฏิวัติของพวกอิสลามิสต์ (post-Islamist revolution) โดยเนื้อหาสาระแล้ว การปฏิวัติดังที่กล่าวนี้สามารถมองได้ว่า คือการหักล้างโต้แย้งทัศนะของคาเมเนอี กล่าวคือพวกคนหนุ่มคนสาวชาวอิหร่าน ได้ทำการวิเคราะห์ประวัติความเป็นมาของการปฏิวัติของพวกอิสลามิสต์ แล้วมีข้อสรุปว่าการปฏิวัติดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องความยากจน, การทุจริตคอร์รัปชั่น, การโกหกหลอกลวงของรัฐบาล, และอัตราการเติบโตอย่างน่าผิดหวังของเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

หนุ่มสาวที่เป็นคนรุ่นหลังการปฏิวัติอิสลามิสต์เหล่านี้ เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นว่าควรแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน, มุ่งมองผลเชิงปฏิบัติได้จริง, ไม่ยึดติดกับแนวความคิดอุดมการณ์, และเป็นนักชาตินิยม (โดยไม่มีความหลงใหลคลั่งไคล้แบบลัทธิชาตินิยม) คนรุ่นนี้ทั้งเชื่อในเรื่องความหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ และก็เชื่อในความเป็นปัจเจก พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมรับความเป็นเผด็จการที่ฉ้อฉลเลวร้าย –เช่นเดียวกับที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเอาศาสนาอิสลามมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง-- ขณะเดียวกันก็มุ่งมาดปรารถนาในประชาธิปไตย สำหรับพวกเขาแล้ว แม้กระทั่งลัทธิรวมอาหรับ (pan-Arabism) ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดใจ โดยที่คุณค่าต่างๆ ที่พวกเขายึดมั่นและยกย่องนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นสากล

พวกเขาได้รับการศึกษาดียิ่งกว่าพ่อแม่ของพวกเขา, สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดีกว่า, ยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในกรอบโครงของครอบครัวหน่วยกลาง (nuclear family ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่-ลูก-ปู่ย่าตายาย), มีบุตรน้อยลง, ทว่าจำนวนมากทีเดียวเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างไร้ความสำคัญในสังคม ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีการต่อเชื่อมกันทางอินเทอร์เน็ตและจับกลุ่มกันเป็นเครือข่าย เปิดทางให้พวกเขาสามารถมองข้ามไม่ใยดีพวกพรรคการเมือง (ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งอียิปต์และอิหร่าน ต่างก็มีการกดมีการปรามพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย)

ระบอบปกครองของอิสลามิสต์นั้นเป็นระบอบเผด็จการในทางพฤตินัย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาไม่ว่าจะเป็นระบอบที่อยู่ในอิหร่านหรือในซาอุดีอาระเบีย ด้วยเหตุนี้พวกที่ทำการประท้วงในอียิตป์จึงมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับพวกที่ทำการประท้วงต่อต้านอาห์มาดิเนจัดในปี 2009 และต่อต้านท่านผู้นำสูงสุดของอิหร่านในวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รอยกล่าวว่า “การก่อกบฎแข็งข้อจะทำให้เกิดการปฏิวัติ ขบวนการนี้ไม่มีผู้นำ, ไม่มีพรรคการเมือง หรือหลักนโยบาย นี่เป็นอะไรที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นมาของมัน ทว่าก็ก่อให้เกิดปัญหาในด้านการทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นสถาบันที่คงทนถาวรขึ้นมา”

ต่อคำถามที่ว่าการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการจะนำสู่การถือกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม “แบบที่วอชิงตันวาดหวังให้เกิดขึ้นในอิรัก” โดยอัตโนมัติหรือไม่ รอยให้คำตอบว่า “ความเป็นไปได้มีอยู่ไม่มากนัก” ถึงแม้เขาดูมุ่งที่จะเน้นย้ำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติอย่างสันติและเป็นฝ่ายถูกกระทำ (อย่างที่เกิดขึ้นในอียิปต์) กับการใช้ปากกระบอกปืนมาทำคลอดระบอบประชาธิปไตย (ความคิดว่าด้วยมหาตะวันออกกลาง Greater Middle East ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ในทางปฏิบัติกำลังถือกำเนิดขึ้นมาในอิรัก)

รอยยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) นั้น ยังไม่สามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวยุคหลังการปฏิวัติอิสลามิสต์ โดยที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้มุ่งเสาะแสวงหาโมเดลทางสังคมและทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นพวกอนุรักษนิยมในด้านศีลธรรมจรรยา และเป็นพวกอนุรักษนิยมใหม่ในทางปฏิบัติเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สำหรับพวกอิสลามิสต์นั้นกำลังมีบทบาทลดน้อยลงเรื่อยๆ ในหมู่ขบวนการทางสังคมทั้งหลายในดินแดนแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์แห่งนี้

ทางด้านฝ่ายซ้าย (ดังเช่นพวกนิยมแนวทางรุนแรงในหมู่สหภาพแรงงาน) กำลังกลับมาแล้ว จากนึ้ไปกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอาจจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะพัฒนาไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อพวกชนชั้นกลางในสังคมอาหรับนั้นเป็นพวกอนุรักษนิยม –พวกเขาส่วนใหญ่ต่างต้องการให้มีเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่ “การก่อกบฎของคนรุ่นหนุ่มสาว” ลงท้ายแล้วอาจจะปฏิเสธไม่จัดโครงสร้างตนเองเพื่อเข้ามีบทบาททางการเมือง โดยพวกเขายังคงปักหลักอยู่ที่การก่อการประท้วงแข็งข้อ ไม่ถลำลงไปแบกรับงานอันหนักหน่วงในการสร้างระบอบปกครองใหม่ขึ้นมา

**ท่าทีของสหรัฐฯ**

คำถามที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากอีกประการหนึ่งก็คือ วอชิงตันมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในอิหร่าน ตลอดจนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งอาณาบริเวณมาเกร็บ (แอฟริกาเหนือ) – ตะวันออกกลาง

กล่าวได้ว่า สำหรับวอชิงตันแล้ว พวกเขายังคงแสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องอิหร่าน และละเลยรัฐบริบารของสหรัฐฯอีกหลายสิบแห่งที่อยู่ในภูมิภาคแถบนี้

ในทางเป็นจริงแล้ว บาห์เรนซึ่งมีระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นอีกรัฐหนึ่งในตะวันออกกลางที่การประท้วงยังกำลังถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม บาห์เรนเป็นที่ตั้งกองบัคญชาการกองทัพเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ โดยที่กองทัพเรืออเมริกันกำลังใช้จ่ายเงิน 580 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของตนขึ้นไปอีกเท่าตัว ถัดจากนั้นก็เป็นเยเมน ซึ่งถูกตีตราว่าเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” (failed state) ที่นี่ราว 40% ของประชาชนทั้งหมด 23 ล้านคนมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้วันละไม่ถึง 2 ดอลลาร์ และราว 35% ต้องเผชิญภาวะอดอยากร้ายแรง รายถัดมาคือ แอลจีเรีย ที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารสุดโหด ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงจอร์แดนของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ และพระราชินี ราเนีย (Rania) ผุ้ทรงมีพระสมัญญาว่า “ราชินีแห่งยูทิวบ์” (Queen Youtube) ประเทศนี้มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีหน่วยงานสายลับแสนเหี้ยม โดยคอยเฝ้าติดตามพวกผู้นำชนเผ่าและชาวปาเลสไตน์ที่พำนักอาศัยอยู่ในจอร์แดนเป็นจำนวนมหาศาล

แน่นอนที่ว่าบาห์เรนเป็นจุดที่มีความสำคัญยิ่งยวดสูงสุด เห็นได้ชัดว่าระบอบปกครองของผู้นำศาสนานิกายชิอะห์ในกรุงเตหะรานนั้นต้องการกระตุ้นปลุกเร้าให้ชาวชิอะห์ที่เป็นส่วนข้างมากของประชากรบาห์เรน ก่อการแข็งข้อต่อต้านกษัตริย์ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ สถานการณ์ในบาห์เรนสร้างความวิตกหวั่นผวาให้แก่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากดินแดนทางด้านตะวันออกของซาอุดีอาระเบียเองก็มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชิอะห์ และที่สำคัญอาณาบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันของประเทศ เวลานี้กองทัพซาอุดีอาระเบียน่าจะกำลังเตรียมพร้อมอยู่แล้ว เพื่อยกกำลังข้ามทะเลเข้าไปยังบาห์เรน ตามเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ทั้งนี้ต้องตระหนักด้วยว่า บาห์เรนไม่เหมือนกับ กาตาร์ หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถหว่านโปรยเงินรายได้จากน้ำมันเพื่อซื้อใครก็ตามที่มีความโน้มเอียงไปในทางการเมือง

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ วอชิงตันดูเหมือนจะได้พัฒนาถ้อยคำโวหารชุดใหม่ขึ้นมา

หลังการประท้วงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ในอิหร่าน รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงกล่าวหารัฐบาลอิหร่าน “ผู้เลวร้าย” ในทันทีว่า “เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล” จากนั้นก็อวยชัยให้พรขบวนการสีเขียว “และประชาชนผู้กล้าหาญตามท้องถนนในนครใหญ่ต่างๆ ตลอดทั่วอิหร่าน ซึ่งมองเห็นโอกาสอย่างเดียวกับที่พวกเขาได้เคยเห็นเพื่อนพ้องชาวอียิปต์ของพวกเขาหยิบฉวยมาแล้วในสัปดาห์ก่อน”

นี่หรือคือ ฮิลลารี คลินตัน คนเดียวกันกับที่ในช่วงแรกๆ ที่เกิดการประท้วงขึ้นตามท้องถนนในอียิปต์ ยังออกมาแสดงการสนับสนุนมูบารัคในฐานะที่เป็นผู้สร้าง “เสถียรภาพ” แล้วถ้าเธอเกิดเครื่องร้อนจี๋ขึ้นมาจริงๆ แล้ว ทำไมเธอไม่อวยชัยให้แก่ประชาชนผู้กล้าหาญในบาห์เรน, ซาอุดีอาระเบีย, เยเมน, โมร็อกโก, แอลจีเรีย, จอร์แดน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, และลิเบีย บ้าง เพื่อให้พวกเขามองเห็น “โอกาสอย่างเดียวกับที่พวกเขาได้เคยเห็นเพื่อนพ้องชาวอียิปต์ของพวกเขาหยิบฉวยมาแล้วในสัปดาห์ก่อน”

น่าจะมีใครสักคนรีบดึงเอาตัว โอลิวิเยร์ รอย ไปยังกรุงวอชิงตัน เผื่อว่าเขาอาจจะสอนคนที่นั่นได้สักอย่างสองอย่าง เกี่ยวกับเรื่องคนรุ่นหลังการปฏิวัติอิสลามิสต์

เปเป เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2007) และเรื่อง “Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge” หนังสือเล่มใหม่ของเขาคือเรื่อง “Obama does Globalistan” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2009) ทั้งนี้สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น