เอเอฟพี - เฟซบุ๊กกลายเป็นกลจักรสำคัญสำหรับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน และจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ต้องได้รับการปกป้อง โดยการอนุญาตให้ใช้นามแฝง วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้หนึ่งระบุในจดหมายถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กวันนี้ (11))
“เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในอียิปต์ และตูนิเซีย ได้ตอกย้ำถึงคุณค่าและประโยชน์ของเครือข่ายาสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก ต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” ส.ว. ดิค เดอร์บิน ระบุในจดหมายถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานบริหารของเฟซบุ๊ก
“ผมขอชื่นชมการสร้างเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนชิ้นนี้” ส.ว.เดโมแครตจากมลรัฐอิลลินอยส์ผู้นี้ ระบุ
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้คนทั่วโลกใช้เฟซบุ๊กเพื่อแสดงเสรีภาพในการแสดงออก ผมกำลังกังวล ว่า ทางบริษัทไม่มีมาตรการป้องกันเพียงพอ ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และหลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบของรัฐบาล” ดิค เดอร์บินระบุ
“เฟซบุ๊กช่วยส่งเสริมความพยายามของกลุ่มนักเคลื่อนไหวในการจัดประท้วง และป่าวประกาศเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
“ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่า รัฐบาลอียิปต์และตูนิเซียใช้เฟซบุ๊ก เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทางรัฐบาลได้ประโยชน์จากการที่เฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวใช้นามแฝง” วุฒิสมาชิกท่านนี้ระบุ โดยอ้างถึงอิหร่าน จีน เบลารุส และประเทศอื่นๆ ซึ่งใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อแกะรอยกลุ่มนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
เดอร์บินยังได้เรียกร้องให้เฟซบุ๊กเข้าร่วมกับองค์กรโกลเบิล เน็ตเวิร์ก อินิเทียทีฟ (จีเอ็นไอ) ซึ่งมีแผนการสร้างรหัส เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยขณะนี้ทั้ง กูเกิล ไมโครซอฟต์ และยาฮู ต่างเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
แอนดรูว์ โนเยส โฆษกของเฟซบุ๊กตอบจดหมายของ ส.ว.ดิค เดอร์บิน ใจความว่า “ความไว้ใจที่ผู้คนมอบให้เรา เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนเฟซบุ๊ก” ส่วนประเด็นการใช้นามแฝง เขาระบุว่า “เฟซบุ๊กมีวัฒนธรรมการใช้ชื่อจริง และโดยพื้นฐานแล้ว เราเชื่อว่าการใช้ชื่อจริงนำมาซึ่งความรับผิดชอบ และความปลอดภัยมากกว่า รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่น่าไว้ใจ้สำหรับผู้ใช้บริการ”