เอเจนซี – นักวิจัยอเมริกันพบวิธีการใหม่ในการทำนายความสำเร็จของความสัมพันธ์ ด้วยการเปรียบเทียบสไตล์การพูดคุยของคู่เดต
ในการศึกษาจากนักศึกษา คณะนักวิจัยพบว่าคู่ที่ใช้ภาษาสอดคล้องกันมีแนวโน้มอยากสานต่อความสัมพันธ์กันมากกว่าคู่ที่ “พูดกันคนละภาษา” เกือบ 4 เท่า
“เราสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าที่เจ้าตัวเองจะคาดถูกเสียอีก” ศาสตราจารย์ เจมส์ เพนนีเบเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ผู้นำการวิจัยกล่าว
คณะนักวิจัยที่รายงานผลการศึกษาไว้ในวารสารไซโคโลจิคัล ไซนส์ มุ่งเน้นที่คำที่มีความหมายตามโครงสร้าง หรือฟังก์ชันเวิร์ด ซึ่งไม่ใช่คำนามหรือคำกริยา แต่เป็นคำที่แสดงความเกี่ยวข้องของคำต่างๆ และต้องใช้ทักษะในการเข้าสังคมสูง
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมกำลังพูดถึงบทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมา และอีก 2 นาทีต่อมาผมพูดว่า ‘บทความ’ คุณและผมจะรู้ทันทีว่าหมายถึงบทความใด”
ในการทดลอง นักศึกษาราว 40 คู่จะเข้าร่วมสปีดเดท 4 นาที และนักวิจัยบันทึกการพูดคุยเก็บไว้
“เราพบว่าฟังก์ชันเวิร์ดสะท้อนสถานะทางจิตใจของผู้พูดอย่างชัดเจน และคุณสามารถบอกได้เมื่อคนสองคนมีสภาพจิตใจแบบเดียวกัน”
ส่วนที่สองของการศึกษาเป็นการตรวจสอบการสนทนาประจำวันผ่านการรับส่งข้อความสั้นทันใจระหว่างคู่ที่เดทกันแล้วภายในระยะเวลา 10 วัน โดยนักวิจัยใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์บทสนทนาเหล่านั้นเพื่อค้นหารูปแบบคำและการสนทนา
เพนนีเบเกอร์ เผยว่า เป็นอีกครั้งที่นักวิจัยสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าคู่ไหนยังคงนัดเจอกันต่อ
นักวิจัยพบว่า สไตล์การพูดและการเขียนที่คนสองคนใช้ระหว่างการโต้ตอบกันเป็นดัชนีอย่างดีที่บ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์จะไปรอดหรือไม่
“ยิ่งมีสไตล์การพูดคุยและเขียนสอดคล้องกันเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่คู่นั้นจะเดทกันต่อไป” เพนนีเบเกอร์ ย้ำ
กล่าวคือ นักศึกษาประมาณ 80% ที่มีสไตล์การสนทนาเหมือนกันยังคงเดทกันต่อไป 3 เดือนภายหลังการทดลอง เทียบกับแค่ 54% ของคู่ที่สไตล์การสนทนาแตกต่างกันมาก
เพนนีเบเกอร์ กล่าวว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวชัดเจนมาก เนื่องจากเกิดขึ้นระหว่างการสนทนาในชีวิตประจำวัน แม้คนส่วนใหญ่ไม่สังเกตเห็นก็ตาม
“ไม่มีใครสนใจคำพูดเหล่านี้ สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเราไม่ได้ใช้กระบวนการตัดสินใจ แต่เป็นสิ่งที่เราพูดออกมาจากปาก”