เอเอฟพี - คณะมนตรีความั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ (7) แสดงความกังวลต่อเหตุปะทะตามแนวชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย พร้อมระบุอาจมีการประชุมฉุกเฉินในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว หลังมีเสียงเรียกร้องมาจากพนมเปญ
“สมาชิกของคณะมนตรี มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความตึงเครียดที่ทวีขึ้นตามแนวชายแดน” นางมาเรีย ลูยซา ริเบโร วิออตติ ประธานที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำเดือนกุมภาพันธ์ของบราซิล กล่าว
“พวกเขาเรียกร้องขอให้หยุดยิงและเร่งเร้าทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาอย่างสันติ” เธอกล่าวถึงเหตุปะทะที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 7 ราย และอีกหลายพันคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย
“พวกเขาอยากให้มีการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคง” เธอกล่าวต่อ และบอกด้วยว่า ทางคณะมนตรีความมั่นคงกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้านี้ กัมพูชาได้เรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อเหตุพิพาทชายแดนกับไทย
“พวกเขาแสดงความสนับสนุนต่อแนวทางคนกลางไกล่เกลี่ยโดยกระทรวงกิจการการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน” วิออตติ กล่าว และบอกด้วยว่าผู้แทนจากสมาชิก 15 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งประชาชาติได้พูดคุยปรึกษาหารือกันอย่างเป็นความลับในประเด็นไทยและกัมพูชาไปเมื่อวันจันทร์ (7)
ในวันจันทร์ (7) ทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันติดต่อกันเป็นวันที่ 4 หลังจากสู้รบกันอย่างดุเดือดเมื่อวันอาทิตย์ (6) หลังข้อตกลงหยุดยิงหนึ่งวันก่อนหน้านี้มีอันต้องพังลงไป ทั้งนี้ การสู้รบที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุปะทะครั้งรุนแรงที่สุดระหว่างสองชาติในรอบหลายปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ไทยและกัมพูชา กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้เปิดฉากยิงเข้าใส่ก่อน และทั้งสองประเทศก็ได้ส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อเหตุสู้รบกันครั้งนี้
เจ้าหน้าที่ทูตรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ระบุว่า กัมพูชาได้ส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 2 ฉบับต่อเหตุพิพาทช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นเรียกร้องให้คณะมนตรีแห่งสหประชาชาติดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนได้เรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสัตติภาพเข้าพื้นที่ เพื่อจัดตั้ง “เขตกันชน” ขึ้นมา แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายกัมพูชาได้บรรจุข้อเรียกร้องนี้ในหนังสือถึงคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติด้วยหรือไม่
ส่วนไทยได้ส่งไป 2 ฉบับเมื่อวันจันทร์(7) ในจำนวนนั้นรวมไปถึงหนังสือจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เรียกร้องขอแก้ไขปัญหาแบบทวิภาคี ส่วนอีกฉบับกล่าวหากัมพูชา พยายามนำความขัดแย้งนี้สู่ระดับสากล