เอเอฟพี - ทางการเกาหลีเหนือลงโทษประหารชีวิตราษฎรของตน 2 รายต่อหน้าสาธารณชน ฐานครอบครองใบปลิวต่อต้านระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งลอยข้ามเขตแดนมาจากเกาหลีใต้ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวโสมขาวออกมาเปิดเผยวันนี้ (24)
เจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งถูกยิงเป้าเคียงข้างกับสตรีวัย 45 ปี อีกราย เนื่องจากเธอแอบซ่อนใบปลิวไว้หนึ่งใบ ขณะที่ทหารผู้นี้ก็ถูกพบว่า ลอบเก็บธนบัตรดอลลาร์ที่ติดมากับใบปลิว ชอย ซุง ยอง กล่าว
นักเคลื่อนไหวผู้นี้ กล่าวว่า การประหารชีวิตมีขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม ในเมืองซาริวอน ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงเปียงยางประมาณ 45 กิโลเมตร ต่อหน้าประจักษ์พยาน 500 คน หลังการประชุมพิเศษ เพื่อพิจารณากรณีการเก็บใบปลิวดังกล่าว
ชอย ซุง ยองให้ข้อมูลกับเอเอฟพีโดยอ้างแหล่งข่าวในเมืองซาริวอนว่า นอกจากโทษประหารชีวิตแล้ว สมาชิกอีก 6 คนจากครอบครัวของทั้งสองยังถูกส่งไปคุมตัวยังค่ายกักกันนักโทษการเมือง
“ชัดเจนว่า เกาหลีเหนือต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู” ชอย ซุง ยอง กล่าว
เขายังระบุอีกว่า ทางการโสมแดงพยายามควบคุมแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสืบทอดอำนาจของ คิม จอง อุน
ท่ามกลางบรรดาผู้ที่ถูกบังคับให้เป็นพยานการประหารชีวิตเพราะใบปลิวครั้งนี้ มีญาติของผู้ถูกลักพาตัว และอดีตเชลยสงครามชาวเกาหลีใต้รวมอยู่ด้วย 50 ราย พ่อของชอย ซุง ยองเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัว ปัจจุบัน ชอย เป็นแกนนำองค์กร ซึ่งเคยช่วยให้อดีตนักโทษสงคราม หรือผู้ถูกลักพาตัวหนีรอดออกมาจากเกาหลีเหนือได้หลายรายแล้ว
เกาหลีใต้ ประเมินว่า มีนักโทษสงครามในช่วงปี 1950-53 อีกประมาณ 500 คนที่ยังไม่ได้กลับไปเหยียบแผ่นดินเกิด ตั้งแต่ถูกคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือจับตัว อีกทั้งยังมีรายงานว่า หลังช่วงสงคราม โสมแดงลักพาตัวชาวเกาหลีใต้ไปประมาณ 480 คน
ชอย ซุง ยอง รวมทั้งนักเคลื่อนไหวโสมขาวอื่นๆ ได้ปล่อยลูกโป่งที่หอบเอาใบปลิว หรือ ดีวีดีต่อต้านกรุงเปียงยาง พร้อมทั้งธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ให้ลอยข้ามพรมแดนไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ
นักเคลื่อนไหวเจตนาติดเงินกับใบปลิว เพื่อดึงดูดให้ชาวเกาหลีเหนือยอมเก็บโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นขึ้นมา แม้การกระทำดังกล่าวจะมีโทษสถานหนักก็ตาม เนื้อหาในใบปลิวมักกล่าวถึงการโจมตีระบอบการปกครองภายในโสมแดง และเรียกร้องให้มีการล้มล้างอำนาจ คิม จอง อิล
เมื่อเดือนกันยายนปีกลาย กองทัพเกาหลีเหนือเคยประกาศกร้าวว่า จะโจมตีพื้นที่ปล่อยใบปลิวของเกาหลีใต้ หากรัฐบาลกรุงโซลยังไม่หยุดการโฆษณาชวนเชื่อวิธีดังกล่าว