เอเจนซี - วิศวกรชาวญี่ปุ่นใช้คอมพิวเตอร์ที่ประกอบขึ้นเองคำนวณหาค่าพาย (อัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวงกับเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลม) ได้แม่นยำที่สุดเป็นตัวเลขนับแสนล้านหลัก ซึ่งกลายเป็นสถิติโลกใหม่สัปดาห์ที่แล้ว
ชิเงรุ คอนโดะ วิศวกรคอมพิวเตอร์วัย 50 ปี ของบริษัทอาหารในจังหวัดนางาโน สามารถคำนวณหาค่าพายได้ถึง 5 แสนล้านหลัก ซึ่งแม่นยำกว่าสถิติโลกเดิมเกือบเท่าตัว
กินเนสส์ เวิลด์ เร็กคอร์ดส์ ได้บันทึกผลการคำนวณของ คอนโดะ เป็นสถิติโลกใหม่ และส่งใบประกาศเกียรติคุณให้แก่เขาทางไปรษณีย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง คอนโดะ เปิดเผยว่า การคำนวณเป็นเพียงงานอดิเรกของเขาเท่านั้น
“ผมอยากจะชื่นชมคอมพิวเตอร์ของผมมากกว่า ที่คำนวณต่อเนื่องตลอด 3 เดือน โดยไม่ปริปากบ่นสักคำ” คอนโดะ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ จูนิจิ ชิมบุน เดลี
คอนโดะ ได้รับเกียรติดังกล่าวร่วมกับ อเล็กซานเดอร์ ยี นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้เขียนโปรแกรมคำนวณดังกล่าว และประสานงานกับ คอนโดะ ทางอีเมล
คอนโดะ ใช้ชิ้นส่วนที่หาได้จากโกดังสินค้าและร้านค้าออนไลน์ประกอบขึ้นเป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบปฎิบัติการสมรรถนะสูง (high-end) ของอินเทล และมีฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกอีก 20 ตัว
หลังจากประมวลผลต่อเนื่องถึง 90 วัน คอมพิวเตอร์ของ คอนโดะ จึงสามารถระบุค่าพายที่แม่นยำถึง 5 แสนล้านหลัก จากนั้นเขายังตรวจสอบความถูกต้องของค่าดังกล่าวอีกหลายวิธี ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 64 ชั่วโมง
บริษัทที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ของฝรั่งเศสเป็นผู้ทำสถิติโลกครั้งก่อนในเดือนมกราคม ปี 2010 โดยสามารถคำนวณค่าพายเป็นจุดทศนิยมได้ราว 2.7 แสนล้านหลัก
การคำนวณค่าพายเป็นความท้าทายสำหรับนักปราชญ์มาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ค่าดังกล่าวถูกค้นพบและเริ่มใช้โดยชาวอียิปต์โบราณ
คอนโดะ เปิดเผยว่า เขากำลังคำนวณค่าพายรอบใหม่ให้แม่นยำถึง 1 ล้านล้านหลัก
“หากไม่มีอะไรผิดพลาด ผมน่าจะทำสำเร็จในเดือนกรกฎาคม ซึ่งผมก็รอให้วันนั้นมาถึงเหมือนกัน”