เอเอฟพี - 120 ชาติสมาชิกไซเตส องค์กรเพียงแห่งเดียวของสหประชาชาติ ที่มีอำนาจในการสั่งห้ามค้าสัตว์และพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เริ่มเข้าประชุมเป็นวันแรกในวันนี้(13) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยคาดว่าประเด็นเกี่ยวกับปลาทูน่า ช้างแอฟริกา และหมีขั้วโลก จะเป็นหัวข้อในการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน
สมาชิก 120 จาก 175 ชาติของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) มีกำหนดประชุม 13 วันในกรุงโดฮาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมในตะวันออกกกลาง
นอกจากข้อเสนอให้ห้ามการค้าทูน่า ซึ่งถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากประเทศที่หลงใหลซูชิอย่างญี่ปุ่นแล้ว สมาชิกไซเตส มีวาระออกเสียงโหวตมติให้ออกมาตรการเข้มงวดในการปกป้องฉลามหลายสายพันธุ์ หลังจากในแต่ละปีสัตว์ นักล่าในน่านน้ำเปิดมากถึง 73 ล้านตัวถูกล่าเพื่อเอาครีบ ไปทำเป็นอาหารอันโอชะในจีน ตลอดจนชุมชนชาวจีนอื่นๆ ในทั่วโลก
การประชุมคราวนี้มีข้อเสนอ 41 ข้อเสนอ หนึ่งในนั้นคือ การที่รัฐบาลแทนซาเนียและแซมเบีย กำลังพยายามผักดันให้มีการเปิดการค้างาช้างอีกครั้ง หลังจากเมื่อปี 2008 ถูกสั่งพักการค้างาช้างเป็นเวลา 9 ปี ขณะที่ชาติส่วนใหญ่ในกลุ่มทวีปแอฟริกามีท่าทีคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว และพยายามสนับสนุนให้ที่ประชุมขยายเวลาแบนการค้าดังกล่าวไปอีก 10 ปี นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะพิจารณาการจัดให้หมีขั้วโลก เป็นสัตว์ที่อยู่ในรายชื่อของภาคผนวก 1 ซึ่งหมายความว่านานาชาติจะไม่สามรรถค้าขายสัตว์เหล่านี้ได้ โดยไม่มีข้อยกเว้น
การประชุมคราวนี้ มีเป้าหมายสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สัตว์และพืชนับพันชนิดอย่างยั่งยืน และการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้า โดยมาตรการต่างๆ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า 2 ใน 3 ก่อนการรับรองการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาไซเตส สัตว์และพืชสายพันธุ์ต่างๆ ในโลก ถูกจัดหมวดหมู่ตามระดับความจำเป็นในการอนุรักษ์ และป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์ โดยในหมวดภาคผนวก 1 ประกอบด้วยสัตว์ 530 ชนิด รวมถึงเสือ สัตว์ตระกูลลิงไม่มีหาง เสือดาวหิมะ เต่าทะเล และพืชพันธุ์อีกมากกว่า 300 ชนิด ขณะที่ปลาทูน่าได้รับการเสนอให้อยู่ระดับจำเป็นสูงสุดในการอนุรักษ์
ส่วนสัตว์และพืชอีก 33,500 รายการอยู่ในรายชื่อภาคผนวก 2 ของ ซึ่งหมายความว่าเป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่กำลังถูกใช้ประโยชน์ในทางการค้าด้วยรูปแบบหรือวิธีการอันไม่ยั่งยืน
ปะการังแดงและปะการังสีชมพู ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเก็บเกี่ยวจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อมาทำเครื่องประดับ กำลังได้รับการพิจารณาให้เพิ่มระดับความจำเป็นในการปกป้องมากยิ่งขึ้น หลังจากข้อเสนอนี้ประสบความล้มเหลวในการประชุมครั้งที่แล้ว ในปี 2007 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สัตว์และพืชอีกหลายร้อยชนิดถูกจัดอยู่ในหมวด ภาคผนวก 3 ซึ่งหมายความว่า ได้รับการปกป้องจากกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ