เอเอฟพี – ทหารไนจีเรียออกลาดตระเวนตรวจตราตามหมู่บ้านต่างๆ ในเมืองจอส เมืองหลวงของรัฐแพลโท ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ชาวคริสต์กว่า 500 คนจนทำให้นานาชาติช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้รอดชีวิตต่างพากันประณามรัฐบาลว่าไม่สามารถเข้ามาระงับเหตุรุนแรงได้ทันเวลา
พวกญาติพี่น้องของเหยื่อในเหตุการณ์สังหารโหดได้เข้าร่วมในพิธีศพในวันจันทร์ (8) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กที่ถูกฟันด้วยมีดดาบหรือเผาทั้งเป็นในบ้านของตนเอง
ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวโทษว่าผู้ลงมือสังหารโหดในหมู่บ้านชาวคริสต์คราวนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเผ่าฟูลานี และสื่อในท้องถิ่นก็รายงานด้วยว่าชาวบ้านที่เป็นมุสลิมได้รับคำเตือนว่าจะมีการโจมตีก่อนเกิดเหตุสองวัน โดยพวกเขาได้รับข้อความเตือนส่งมาทางโทรศัพท์
หน่วยรักษาความปลอดภัยกล่าวว่าได้จับกุมผู้ต้องสงสัยไว้ 95 คน “ชาวบ้านกว่า 500 คนใน 3 หมู่บ้านถูกสังหาร ตอนนี้ผู้รอดชีวิตกำลังวุ่นอยู่กับการฝังศพ” เกรกอรี เยนลอง กรรมาธิการฝ่ายแถลงข่าวของรัฐแพลโทระบุ
“เหยื่อถูกทำร้ายด้วยขวาน กริช และดาบสั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ หญิงชรา และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์”
ขณะที่กระทรวงแถลงข่าวของรัฐระบุว่ามีผู้บาดเจ็บอีกราว 200 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่องค์กรที่ปรึกษาอาวุโสชาวคริสต์แห่งรัฐแพลโท ร้องเรียนว่าหลังจากที่มีผู้โทรศัพท์แจ้งเหตุร้ายแล้ว ทหารได้ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงก่อนที่จะนำกำลังเข้ามาระงับสถานการณ์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น “พวกคนร้ายก็เสร็จสิ้นงานของพวกมันและหนีหายไปหมดแล้ว”
ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม ก็เพิ่งเกิดเหตุปะทะกันระหว่างชนต่างเผ่าต่างศาสนาในเมืองจอสจนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 326 คนตามข้อมูลของทางการ ทว่ากลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 550 คน
ด้านจอห์น โอไนเยกัน อาร์กบิช็อปแห่งกรุงอาบูจา กล่าวกับวิทยุวาติกันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีต้นตอมาจากความขัดแย้งทางศาสนา หากเป็นความแตกต่างทางสังคม เศรษฐกิจ และความแตกต่างกันระหว่างชนเผ่า
“นี่เป็นตัวอย่างความขัดแย้งคลาสสิกระหว่างพวกเลี้ยงปศุสัตว์กับพวกชาวนา จะมีข้อยกเว้นก็เพียงแค่ว่าเผ่าฟูลานีเป็นมุสลิมทั้งหมด และเผ่าเบรอมเป็นคริสต์ทั้งหมด”
ทั้งนี้ชนเผ่าฟูลานีนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ในขณะที่เผ่าเบรอมเป็นชาวนาดั้งเดิม
ชาวบ้านกล่าวว่าเหตุโจมตีเมื่อวันอาทิตย์ (7) เกิดขึ้นเพราะความโกรธแค้นที่มีการขโมยสัตว์จนบานปลายเป็นการแก้แค้นกันถึงตาย ส่วนกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการแก้แค้นการโจมตีเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งในครั้งนั้นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นมุสลิม