xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเล็งพึ่ง‘มีเทนไฮเดรต’เป็นแหล่ง'พลังงาน'ทดแทนน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: โคสุเกะ ทากาฮาชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Japan eyes methane hydrate as energy savior
By Kosuke Takahashi
21/12/2009

ระยะเวลานานปีแห่งการที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันจากตะวันออกกลาง อาจจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดเสียทีแล้ว เมื่อแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเล็งแลแหล่งมีเทนไฮเดรตสำรองที่อยู่ใต้ทะเล ว่าน่าจะแหล่งพลังงานของตนในอนาคตได้ เรื่องนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องอีกยาวไกล ทว่าพวกนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแจแปนดริลลิ่ง ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหมาดๆ มีความเชื่อไปในทางตรงกันข้าม

โตเกียว – ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันที่มาจากประเทศอื่นๆ แทบจะโดยสิ้นเชิง เพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นตัวสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศ แต่บัดนี้ดูเหมือนแดนอาทิตย์อุทัยจะค้นพบหนทางที่จะลดการยืมจมูกคนอื่นหายใจเช่นนี้ได้แล้ว

นักลงทุนจำนวนมากทีเดียว กำลังวางเดิมพันเพื่อพนันว่าญี่ปุ่นจะสามารถขุดเจาะสกัดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากแร่มีเทนไฮเดรต (methane hydrate) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งทดแทนการใช้น้ำมันได้ และด้วยความหวังความเชื่อเช่นนี้เอง เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พวกเขาจึงได้ช่วยกันผลักดันราคาหุ้นของ แจแปนดริลลิ่ง (Japan Drilling) ให้ขยับขึ้นลิ่ว บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1968 ทว่าเพิ่งจดทะเบียนและนำหุ้นออกมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคมดังกล่าวนี้เอง

แจแปนดริลลิ่งได้รับความสนใจจากพวกผู้เล่นในตลาดหุ้น เนื่องจากบริษัทกำลังดำเนินกิจการอันเกี่ยวข้องกับเรื่องการวิจัยและพัฒนามีเทนไฮเดรต

สินแร่ชนิดนี้มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ใต้ทะเลรอบๆ ประเทศญี่ปุ่น และมันอาจจะมีอำนาจอิทธิพลไม่เพียงในการชุบชีวิตเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยให้คึกคักขึ้นมาอีกครั้งเท่านั้น หากแต่ยังจะปรับเปลี่ยนรูปโฉมความสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารที่โตเกียวมีอยู่กับโลกภายนอก รวมทั้งกับสหรัฐอเมริกา อีกด้วย

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นแทบไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุอะไรที่พอจะหยิบยกขึ้นมาโอ่อวดได้เลย ประเทศนี้ต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่ตนเองต้องใช้ถึงประมาณ 99.7% โดยที่นำเข้าน้ำมันเหล่านี้จากตะวันออกกลางราวๆ 87% นั่นทำให้ญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของช่องทางเดินเรือทะเลที่ทอดยาวจากตะวันออกกลางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกันที่แดนอาทิตย์อุทัยจะต้องรักษาประคับประคองความสัมพันธ์ทางการทูตอันดี ที่มีอยู่กับบรรดารัฐที่ส่งพลังงานให้กับตน รวมทั้งผู้ที่คอยหนุนหลังตนในทางทหาร ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา

มีเทนไฮเดรตนั้นเป็นก๊าซมีเทนที่อยู่ในสภาพเยือกแข็ง โดยสามารถพบได้ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำและความกดอากาศสูง เป็นต้นว่า ในชั้นดินลึกลงไปใต้ก้นทะเล และตามชั้นดินที่อยู่ลึกลงจากพื้นดินที่เยือกแข็ง สารชนิดนี้มักถูกเรียกขานกันบ่อยๆ ว่าเป็นก้อนน้ำแข็งที่ติดไฟได้ สำหรับก๊าซมีเทน ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งอยู่ในก๊าซธรรมชาติที่เราขุดค้นนำขึ้นมาใช้เป็นพลังงาน

มีความคาดหมายกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีเทนไฮเดรตจะขยับขึ้นมาเป็นแหล่งพลังงานอันทรงคุณค่าได้ สหรัฐฯ, จีน, แคนาดา, และเกาหลีใต้ คือส่วนหนึ่งของหลายๆ ประเทศที่กำลังเสาะแสวงหาทางพัฒนาแร่ชนิดนี้ให้มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีการขุดเจาะและสกัด

ในญี่ปุ่น รัฐบาลก็กำลังสนับสนุนความพยายามต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาโดยตั้งเป้าหมายที่จะให้สำเร็จเสร็จสิ้นภายในปี 2018 และเริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายหลังจากนั้น

เฉพาะในบริเวณที่เป็นชั้นโคลนตมของพื้นทะเลรอบๆ ญี่ปุ่นเท่านั้น ก็ประมาณการกันว่ามีแร่มีเทนไฮเดรตในปริมาณเพียงพอที่จะให้พลังงานได้เท่ากับการใช้ก๊าซธรรมชาติของแดนอาทิตย์อุทัยทุกวันนี้เป็นเวลานานถึง 90 ปี

เมื่อปี 2007 รัฐบาลประกาศว่ามีแร่มีเทนไฮเดรตในปริมาณ 1.14 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในร่องใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีชื่อว่า “แอ่งนันไค” (Nankai Trough) ร่องดังกล่าวนี้อยู่ห่างราว 50 กิโลเมตรจากชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู อันเป็นเกาะสำคัญที่สุดของเกาะต่างๆ ที่ประกอบเป็นประเทศญี่ปุ่น ปริมาณสำรองระดับนี้เท่ากับพลังงานที่จะได้จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในอัตราปัจจุบันซึ่งญี่ปุ่นใช้อยู่เป็นเวลานานร่วมๆ 14 ปีทีเดียว นั่นก็คือ มันมีคุณค่าเท่ากับเป็นแหล่งก๊าซแหล่งยักษ์ใหญ่มหึมา นอกจากนั้นแล้ว รอบๆ ญี่ปุ่นยังมีแหล่งมีเทนไฮเดรตสำรองแหล่งอื่นๆ อีก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคอีกหลายเปลาะที่จะต้องแก้ไขให้ได้เสียก่อน แร่มีเทนไฮเดรตของญี่ปุ่นจำนวนมากทีเดียวอยู่ลึกประมาณ 1,000 – 1,500 เมตรข้างใต้พื้นทะเล ทำให้การขุดเจาะขึ้นมากลายเป็นความท้าทายสำคัญในทางเทคโนโลยี ในเดือนมีนาคม 2008 บรรษัท แจแปน ออยล์, แก๊ส, แอนด์ เมทอลส์ เนชั่นแนล คอร์ป (Japan Oil, Gas and Metals National Corp หรือ JOGMEC) ประสบความสำเร็จในการสกัดก๊าซมีเทนออกมาจากแหล่งมีเทนไฮเดรตสำรองใต้เขตทุ่งน้ำแข็งทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา ความสามารถในการเจาะสกัดก๊าซจากสินแร่ที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกลงไปกว่า 1 กิโลเมตรเช่นนี้ ได้รับการยกย่องชมเชยว่าเป็นการผ่าทางตันทางด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นได้เฝ้ารอคอยมานานแล้ว

อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ มีความสงสัยข้องใจกันอยู่มากว่าการเจาะสกัดมีเทนไฮเดรตขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อทั่วโลกกำลังเกิดความวิตกเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ภูมิอากาศกันมากขึ้นทุกทีเช่นนี้ ทั้งนี้แม้ก๊าซมีเทนจะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดกว่าถ่านหินหรือน้ำมัน แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมไม่ใช่น้อยที่เป็นห่วงและมีความคิดเห็นว่า เนื่องจากมีเทนไฮเดรตที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ มีสภาพเสมือนกับเป็นก๊าซปฏิกิริยาเรือนกระจกที่ถูก “จับกุมคุมขัง” เอาไว้ ดังนั้นจึงสมควรที่จะขังมันเอาไว้ใต้ทะเลต่อไป

แต่ความวิตกเหล่านี้ถูกคัดค้านโดย เคจิ ยามาโมโต (Koji Yamamoto) ผู้อำนวยการโครงการคนหนึ่งที่บรรษัท JOGMEC เขาโต้แย้งว่า “การผลิตก๊าซไฮเดรตจะสามารถก่อให้เกิดความหายนะทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ มีเทนไฮเดรตนั้นประกอบด้วยน้ำบริสุทธิ์และก๊าซมีเทน และไม่ได้มีสารที่เป็นอันตรายอะไรเลย

“มีบางคนยังหวาดหวั่นว่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่” ในกระบวนการเจาะสกัดมีเทนไฮเดรต ยามาโมโตอธิบายต่อ “อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย สารไฮเดรตของก๊าซมีเทนนั้นเป็นสารที่ค่อนข้างเสถียรมาก ... เหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่มีไฮเดรตของมีเทนจำนวนมหาศาลแตกตัวออกจากกันนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสภาพของมหาสมุทรในระดับโลก ขณะที่การผลิตก๊าซมีเทนโดยฝีมือมนุษย์จะเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง”

กระนั้นก็ตามที เพื่อลดทอนความกังวลทางด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าส่วนกลาง (Central Research Institute of Electric Power Industry) ในกรุงโตเกียว จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเพิ่มผลผลิตของมีเทนไฮเดรต เทคโนโลยีนี้ใช้ความร้อนของคาร์บอนไดออกไซด์มาทำการผลิตไฮเดรต และคาดหมายกันว่าจะเป็นการจำกัดการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกลงได้

นี่ควรต้องถือเป็นข่าวดีสำหรับแจแปนดริลลิ่ง บริษัทที่ได้รับสัมปทานจากญี่ปุ่นให้ทำการขุดเจาะมีเทนไฮเดรตนอกชายฝั่งแต่ผู้เดียว หุ้นบริษทแห่งนี้ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเป็นวันแรกในวันที่ 14 ธันวาคม 2009 และปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทั้งหลายอาจจะต้องอดทนรอคอยไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะได้เห็นการขุดเจาะและการสกัดในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ “มีเทนไฮเดรตจะช่วยเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองทางด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน” โทชิยูกิ ชิกาตะ (Toshiyuki Shikata) นักวิเคราะห์เรื่องการทหารของญี่ปุ่น กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “แต่มันจะต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่จะสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แล้วตอนนี้ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่ามันคุ้มค่าไหมที่จะลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาแร่ชนิดนี้”

โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงโตเกียว นอกจากเขียนให้เอเชียไทมส์ออนไลน์แล้ว เขายังเป็นผู้สื่อข่าวประจำโตเกียวให้แก่ “แจนส์ดีเฟนซ์วีกลี่” (Jane's Defence Weekly) สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ letters@kosuke.net
กำลังโหลดความคิดเห็น