เอเอฟพี - คณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยาเตือนวานนี้ (17) อาจเกิดคลื่นยักษ์ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวถล่มชายฝั่งเกาะสุมาตรา ซึ่งสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้มากเทียบเท่ากับสึนามิ ที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 โดยเฉพาะเมืองปาดังอยู่ในเขตที่ต้องเผชิญภัยพิบัติอย่างเต็มที่
คณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำนายเหตุแผ่นดินไหวบนเกาะสุมาตราเมื่อปี 2005 ได้อย่างแม่นยำ ส่งจดหมายเตือนถึงวารสารเนเจอร์ จีโอไซเอนซ์ ว่าอาจเกิดภัยพิบัติที่มาจากแรงกดดันสะสมนานกว่า 200 ปี บริเวณซุนดา เทรนช์ ซึ่งเป็นเขตที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และขนานกับชายฝั่งเกาะสุมาตราตะวันตก
พวกเขาระบุว่า แผ่นดินไหวที่จะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ครั้งใหญ่ครั้งนี้น่าจะมีความรุนแรงมากกว่า 8.5 ริกเตอร์ และสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้มากถึงระดับของภัยสึนามิเมื่อปี 2004 ในมหาสมุทรอินเดียทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุช่วงเวลาการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว แต่ได้เตือนถึงอันตรายของเมืองปาดัง ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 850,000 คน อาศัยอยู่ในเขตเสี่ยงภัย พร้อมชี้ถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ มีประชาชนมากกว่า 220,000 คนเสียชีวิตจากคลื่นยักษ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 หลังจากแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 9.3 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นทางเหนือของบริเวณซุนดา เทรนซ์ จากการที่แผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียเคลื่อนที่ซ้อนแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย
สำหรับคณะผู้ออกจดหมายฉบับนี้นำโดย จอห์น แมคคลอสคีย์ ศาสตราจารย์สถาบันวิจัยนิเวศน์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเคยเตือนว่าแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ได้สร้างแรงกดดันที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 8.5 ริกเตอร์ และสึนามิ ทั้งยังเตือนทางการให้เตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ
คำเตือนของแมคคลอสคีย์ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อแผ่นดินไหว วัดความสั่นสะเทือนได้ 8.6 ริกเตอร์ ถล่มเกาะซิมิวลิวในวันที่ 28 มีนาคม ปี 2005 และก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 3 เมตรตามมาด้วย
สำหรับการคาดการณ์แผ่นดินไหวของแมคคลอสคีย์นั้นเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักตามหลักวิชาทางธรณีวิทยา ซึ่งอาจคาดถึงสถานที่ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ แต่การทำนายถึงช่วงระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นนั้นยังคงยากที่จะชี้ชัด