เอเจนซี/ASTV ผู้จัดการรายวัน- ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการขุดรากถอนโคนกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานและปากีสถาน อาจประสบความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมีแนวโน้มว่าปากีสถานส่อเค้าที่จะกลายเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบในไม่กี่นับจากนี้ และจะยิ่งเกิด “กระแสต่อต้านอเมริกัน” อย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ตามรายงานการวิจัยที่นำออกเผยแพร่วันอังคาร(12)
ในรายงานฉบับล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยด้านการเมืองและสังคม “ เลกาทัม ” ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2007 และมีสำนักงานในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ระบุว่า ปากีสถานมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นรัฐอิสลามมากขึ้นรวมทั้งจะเกิดกระแสต่อต้านอเมริกันในหมู่ประชาชนชาวปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงสนับสนุนที่สหรัฐฯและพันธมิตรเคยได้รับจากรัฐบาลปากีสถาน ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถาน
รายงานดังกล่าวชี้ว่า บทบาทของบรรดาพรรคการเมืองที่มีแนวคิดผูกกับศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นปัญจาบ จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปากีสถาน เพราะมีแนวโน้มที่พรรคแนวอิสลามนิยมเหล่านี้จะหยิบยกความความล้มเหลวในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางของรัฐบาลฝักใฝ่ตะวันตกในปัจจุบัน มาเป็นเครื่องมือสามารถสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเองอย่างได้ผล
แต่รายงานดังกล่าวซึ่งทำการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์ทางด้านการเมือง และความมั่นคงในปากีสถานในระยะเวลา 1-3 ปีข้างหน้าระบุว่า ยังคงไม่มีความเป็นไปได้ใดๆ ที่ปากีสถาน ซึ่งเป็นชาติหนึ่งในสโมสรนิวเคลียร์ (nuclear club) จะกลายเป็น “รัฐที่สิ้นสภาพ” และถูกยึดครองโดยกลุ่มตอลิบาน
“สิ่งที่น่าวิตกที่สุดสำหรับปากีสถานในอนาคตอันใกล้ มิใช่การถูกยึดครองโดยตอลิบาน แต่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากการมีรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจนออกนอกหน้าอย่างในปัจจุบัน ไปสู่การมีรัฐบาลที่มีแนวคิดในการใช้หลักคำสอนอันเข้มงวดของศาสนาอิสลามมาเป็นแกนหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งน่ากลัวยิ่งกว่าการถูกกลืนโดยพวกตอลิบานเสียอีก” โจนาธาน แพริส หัวหน้าทีมวิจัยที่จัดทำรายงานชิ้นนี้กล่าว
แพริสยังระบุว่า ปากีสถานจะเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมากในช่วง 1-3 ปีนับจากนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความแตกแยกระหว่างรัฐบาลนิยมอิสลามกับกองทัพ เนื่องจากบรรดาผู้มีอำนาจในกองทัพปากีสถานจะต้องดำเนินความพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาสถานะและบทบาทของตนในฐานะ “ ผู้อยู่หลังฉาก ” ในการควบคุมและกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศและความมั่นคงของรัฐบาล แม้อิทธิพลและแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯและอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “มหามิตร” ของกองทัพปากีสถานมาตลอด ตั้งแต่เปิดฉากทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อปี 2001 จะเสื่อมถอยลงก็ตาม อย่างไรก็ตาม แพริสระบุว่า แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองแต่ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายในรัฐบาลและกองทัพปากีสถานจะยอมจำนนหรือ “เสียท่า” ให้กับตอลิบาน
รายงานฉบับนี้บอกว่า มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ที่บรรดาสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายในปากีสถานเวลานี้ จะพากันแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มนักรบที่มีขนาดเล็กลง แต่มีแนวคิดหัวรุนแรงแบบสุดขั้วยิ่งกว่าเดิมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดากลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์มาแล้ว อันจะทำให้รัฐบาลปากีสถานต้องประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นในการควบคุมกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เหล่านักรบผู้มีแนวคิดสุดโต่งทั้งหลายจะลงมือก่อเหตุโจมตีเป้าหมายต่างๆตามลำพัง โดยไม่ฟังคำสั่งจากหัวหน้ากลุ่มดังเดิม