เอเอฟพี - หลังจากครั้งแรกที่ค้นคว้า และสร้างกบซีทรูได้ นักวิจัยญี่ปุ่นก็ยังประสบความสำเร็จในการผลิตปลาทอง ที่สามารถมองเห็นการเต้นของหัวใจทะลุผ่านเกล็ด และหนังที่โปร่งใสได้อีกครั้ง
สัตว์โปร่งใสเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดความจำเป็นในการผ่าชำแหละสัตว์เหล่านั้น ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ
“คุณสามารถเห็นหัวใจเต้น และอวัยวะอื่นๆได้ เนื่องจากเกล็ด และหนังปลาไม่มีเม็ดสี” ยูตากะ ทามารุ รองศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิเอะกล่าว “คุณไม่จำเป็นต้องผ่าชำแหละมัน คุณสามารถเห็นสมองเล็กๆเหนือตาสีดำของปลาทองได้เลย”
ทีมนักวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยมิเอะ และนาโกยา สร้างปลาทองริวกินโปร่งแสง จากการเลือกไข่ปลาทอง ที่หนังไม่มีสี และเพาะพันธุ์มันขึ้นมา โดยปลาซีทรูเหล่านี้น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ราวๆ 20 ปี และเติบโตได้มากสุด 25 เซนติเมตร หนัก 2 กิโลกรัม ซึ่งจะใหญ่กว่าปลาทั่วไป ที่ใช้ในการทดลอง เช่น ปลามังกร หรือปลาเมดากะของญี่ปุ่น
ด้านทีมนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกาศว่าสามารถพัฒนากบซีทรูได้ในปี 2007 เผยว่า พวกเขามีแผนจะเริ่มขายเจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 4 ขา ที่มีหนังโปร่งใสตั้งแต่ระยะที่เป็นลูกอ๊อด ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า ให้แก่ห้องทดลอง และโรงเรียนใช้ในการศึกษาวิจัย รวมถึงขายเป็นสัตว์เลี้ยง ในราคาที่คาดว่าไม่น่าจะเกิน 10,000 เยน หรือ ไม่เกิน 3,700 บาท