เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 157 รายและบาดเจ็บ 1,253 คน จากเหตุทหารของคณะรัฐประหารเข้าสลายการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในกรุงโกนากรีเมื่อวันจันทร์(28) องค์กรสิทธิมนุษยชนกินีบอกกับเอเอฟพีในวันอังคาร(29)
"จนถึงตอนนี้เรานับได้ว่ามีผู้เสียชีวิต 157 ศพและบาดเจ็บ 1,253 ราย เจ้าหน้าที่ของเราอยู่รอบๆกรุงโกนากรีและตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์ได้ทั้งหมด" หัวหน้าองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุ
ผู้เห็นเหตุการณ์เปิดเผยว่าเห็นทหารยิงวัยรุ่นคนหนึ่งจนเสียชีวิตในกรุงโกนากรีเมื่อวันอังคาร(29) และลั่นกระสุนไปทั่วเมืองหลวง ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าทหารยังเข้าทำร้ายประชาชนและข่มขืนผู้หญิงในบ้านของพวกเธอด้วย
สหประชาชาติ สหภาพแอฟริกาและสหภาพยุโรป ต่างแสดงความวิตกและประณามเกี่ยวกับเหตุสังหารประชาชนในกลุ่มผู้ประท้วงหลายหมื่นคนที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้าน มัวซา ดาดิส กามารา หัวหน้าคณะรัฐประหาร
ด้านพรรคฝ่ายค้าน Union of Republican Forces บอกว่าศพผู้เสียชีวิต 128 รายถูกนำส่งโรงพยาบาล 2 แห่งในกรุงโกนากรีหลังเหตุยิงกันเมื่อวันจันทร์(28) ทั้งนี้ทางพรรคและแหล่งข่าวอื่นๆกล่าวหากองกำลังของคณะรัฐประหารรวบรวมศพไว้ในความพยายามปกปิดความโหดร้ายในปฏิบัติการสังหารหมู่ครั้งนี้
ซีเดีย ตูเร หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเป็นหนึ่งใน 2 อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับบาดเจ็บขณะร่วมชุมนุม ต่อมาถูกนำตัวไปยังสถานคุมขังในค่ายทหารค่ายอัลฟา ยายา ดิอัลโล โดย ตูเร บอกกับเอเอฟพีว่าปฏิบัติการสลายการชุมนุมของทหารมีเจตนายิงเพื่อกำจัดฝ่ายต่อต้าน
องค์กรสิทธิมนุษยชนกินีระบุว่าเหตุข่มขืนผู้หญิงเริ่มขึ้นในสนามกีฬา "ทหารข่มขืนผู้หญิงในสนามกีฬา จากนั้นก็เกิดขึ้นทั้งในค่ายทหาร ป้อมตำรวจและส่วนอื่นๆในโกนากรี"
ส่วนนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน มุคตาร์ ดิอัลโล บอกว่าเขาเห็นทหารเล็งปืนใส่ผู้หญิงเปลือย" ผมเห็นด้วยตาตัวเอง พวกเขาข่มขืนผู้หญิงต่อหน้าสาธารณะ ทหารกราดยิงไปทั่ว ผมเห็นผู้คนล้มลง พวกทหารใช้ประสุนจริงยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม"
แหล่งข่าวกาชาดระบุว่าบัญชาการกองทัพได้มีคำสั่งให้นำศพของผู้เสียชีวิตไปยังค่ายทหารอัลฟา ยายา ดิอัลโล แทนที่จะส่งมายังห้องเก็บศพตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยแหล่งข่าวทางการแพทย์ของโรงพยาบาลอิกนาเซ ดีน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่ารถบรรทุกของทหารได้ขนศพผู้เสียชีวิตหลายสิบศพออกไปและไม่ทราบจุดหมายปลายทาง
การชุมนุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อคัดค้านความพยายามของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือนธันวาคม 2008 ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า ขณะที่ตัวประธานาธิบดี มัวซา ดาดิส คามารา ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติให้ลงจากอำนาจ
คามารา ก้าวขึ้นสู่อำนาจ หลังเป็นผู้นำก่อรัฐประหารอันปราศจากการนองเลือดไม่กี่ชั่วโมงหลังการเสียชีวืตของ ลานซานา คอนเต ประธานาธิบดีผู้เข้มแข็งซึ่งปกครองประเทศแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1984