เอเอฟพี - ผู้นำโดยพฤตินัยของฮอนดูรัส เสนอการเจรจาเป็นครั้งแรกกับ มานูเอล เซลายา เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการทางการเมือง หลังจาก เซลายา ที่ถูกทหารโค่นอำนาจกลับเข้าประเทศและลี้ภัยในสถานทูตบราซิลในกรุงเตกูซิกัลปา
เมื่อวันอังคาร (22) โรแบร์โต มิเชเล็ตติ ประธานาธิบดีรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ที่ขึ้นสู่อำนาจหลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ยอมเสนอการเจรจากับเซลายา แต่มีข้อแม้ว่า เซลายา ต้องยอมรับการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในการเลือกตั้งวันที่ 29 พฤศจิกายน
การเสนอการเจรจาคราวนี้เกิดขึ้นหลังจากการสิ้นสุดภาาวะตึงเครียดในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส หลังจากทหารได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา 4,000 คน ที่สถานทูตบราซิล เพื่อแสดงความสนับสนุนเซลายาและแข็งขืนกับการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลตอบโต้ด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟ รวมถึงสายโทรศัพท์ในสถานทูตที่เซลาเข้าไปลี้ภัยอยู่
นอกจากนี้ ยังมีการปิดสนามบิน ขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลประกาศขยายเคอร์ฟิวไปจนถึงรุ่งเช้าของวันนี้ (23) ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่า รัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัสได้จับกุมฝูงชน และแม้กระทั่งทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา 4 คน เผยว่า ถูกทหารยิงและได้รับบาดเจ็บด้วย
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ทำให้รัฐบาลในภูมิภาค เช่น เอกวาดอร์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเฉพาะการของฮอนดูรัส ประกันความปลอดภัยให้แก่เซลายา ขณะที่กลุ่มริโอกรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรรัฐละตินอเมริกัน และแคริบเบียนระดับภูมิภาค เรียกร้องให้รัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ยุติการปราบปรามและประกันความปลอดภัยแก่เซลายาและเจ้าหน้าที่สถานทูตด้วย
เซลายา กล่าวว่ารัฐบาลมิเชเล็ตติ วางแผนจะ “ยึดสถานทูต” เพื่อจับกุมเขา ขณะที่ มิเชเล็ตติปฏิเสธ และกล่าวหาว่า เซลายา โกหกโลก และยืนกรานว่ารัฐบาลเขาไม่มีแผนจะบุกยึดสถานทูตด้วย
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสเกิดขึ้น เมื่อกองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีเซลา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน หลังจากเซลายาพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ตัวเองได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ทำให้เขาต้องหนีออกไปต่างประเทศ ขณะที่ มิเชเล็ตติ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว และเขาให้สัญญาว่าจะลงจากอำนาจหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้