เอเจนซี - คณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย ประกาศมอบรางวัลประจำปีนี้แก่ชาวเอเชีย 6 คน หนึ่งในจำนวนนี้ ประกอบด้วย “เภสัชกรยิปซี” ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ซึ่งอุทิศตนผลิตยาราคาถูก ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในไทย และในทวีปแอฟริกา ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวพม่าก็ได้รับรางวัลจากการทำงานโดยไม่หวังเกรงกับอิทธิพลใดๆ
คณะกรรมการรางวัล รามอน แมกไซไซ ประกาศมอบรางวัลประจำปีในวันนี้ (3) ประกอบด้วยชาวจีน 2 คน อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า และไทยชาติละ 1 คน ได้แก่
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัย 57 ปี ได้รับรางวัลจากอุทิศตนผลิตยาราคาถูกช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ทั้งในประเทศไทย และในทวีปแอฟริกา
ชาวพม่า คือ คา ซอว์ วา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งในระหว่างที่เป็นนักศึกษา เขาเคยถูกทหารพม่าจับทรมาน แต่ในปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร เอิร์ธไรท์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งรณรงค์ไม่ใช้ความรุนแรงในการแสดงออก ได้รับรางวัลจากการช่วยแก้ไขปรับปรุงและให้การศึกษาเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตยในพม่าอย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด
ชาวจีน 2 คนที่ได้รับรางวัลนี้ คือ อี๋ว์ เสี่ยวกัง ในฐานะเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักเกี่ยวกับเขื่อนที่สร้างขึ้นในจีน และได้อุทิศตนเพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการก่อสร้างอภิมหาโครงการทุกแห่ง ขณะที่ หม่า จวิน อดีตนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนอีกคน ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ จากการเสนอรายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในจีน โดยเฉพาะการระบุชื่อบริษัทกว่า 10,000 แห่ง ที่ละเมิดมาตรฐานการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ทีป โจชี ชาวอินเดีย ผู้จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยแมสชาชูเซตส์ อินสติติวออฟเทคโนโลยี(MIT) ได้รับรางวัลจากผลงานอุทิศตนเพื่อการพัฒนาชนบทของอินเดียมานานหลายทศวรรษ อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งได้ระดมและเตรียมพร้อมให้นักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่โครงการระดับรากหญ้าในชุมชนที่ยากจนของอินเดีย
อันโตนิโอ โอโปซา จูเนียร์ ทนายความและนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวฟิลิปปินส์ คว้ารางวัลในฐานะผู้รณรงค์ต่อต้านการทำลายระบบนิเวศวิทยาทางทะเล รวมทั้งอำนวยการลาดตระเวนทางทะเลเพื่อป้องกันเรือที่จะระเบิดปลาโดยผิดกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ ดร.กฤษณา กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ กับรางวัล เพราะไม่ว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับเกียรตินี้ เธอก็จะต้องทำงานต่อไป และไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้รับรางวัลใดๆ อย่างไรก็ตาม รู้สึกดีใจที่มีคนเห็นสิ่งที่เธอทำ โดยโครงการต่อไปคือการช่วยเภสัชกรท้องถิ่นผลิตยารักษามาลาเรียในบุรุนดี
ดร.กฤษณา ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก จากมูลนิธิเลตเทนของนอร์เวย์มาแล้วในปี 2004 และเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ ประจำปี 2008 จากการทำงานบริการสาธารณะมาตลอด หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาเอกในสาขาเภสัชเคมีจากประเทศอังกฤษ
อนึ่ง รางวัลรามอน แมกไซไซ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 เพื่อเป็นเกียรติแด่อดีตประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ แห่งฟิลิปินส์ ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกในปี 1956