xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำธุรกิจ “สื่อ” คิดเปลี่ยน “โมเดลธุรกิจ” สู่ศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อสื่อยักษ์ใหญ่
เอเจนซี - บรรดาเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจสื่อชั้นนำของสหรัฐฯ ประชุมหารือกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ ซันแวลลีย์ ลอดจ์ มลรัฐไอดาโฮ โดยเน้นเรื่องการคิดหาวิธีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเสียใหม่ หลังจากที่ถูกเว็บไซต์ชิงส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ภาวะตลาดสินเชื่อที่ซบเซาและเศรษฐกิจที่ยังไม่รู้อนาคตทำให้เวทีประชุมของพวกผู้นำกลุ่มธุรกิจสื่อในสหรัฐฯเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือปฏิบัติและปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคอินเทอร์เน็ต ในขณะที่บรรยากาศการประชุมก็ “มืดมน” และ “ซึมเซาอย่างมาก” เพราะต่างก็ยังมองไม่เห็นว่าจะทำกำไรจากการขายข่าว และสิ่งบันเทิงทางระบบออนไลน์ ตลอดจนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนในอนาคตได้อย่างไร

“เราจะไม่เอาเนื้อหาที่มีความยาวใส่เข้าไปในเว็บ เพราะเรายังไม่แน่ใจว่านั่นเป็นวิธีที่ผู้คนบริโภคต้องการบริโภคเนื้อหาสาระในอนาคต” เดวิด ซาสลาฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “ดิสคัฟเวอรี คอมมิวนิเคชันส์ อิงค์” ซึ่งเป็นเจ้าของช่องรายการดิสคัฟเวอรี กล่าวและเสริมว่า “นอกจากนั้น โมเดลทางธุรกิจก็ยังไม่ลงตัว เราจึงจะค่อยๆ คิดกันไป”

ในช่วงหารือกันในบาร์ตอนช่วงดึกๆ ที่ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป มีการพูดคุยกันถึงเรื่องรูปแบบการเผยแพร่เนื้อหาว่าควรจะเป็นแบบไม่คิดเงินหรือสมัครสมาชิก ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของผู้บริหารอาวุโสที่ขอสงวนนาม

สิ่งที่พวกผู้นำธุรกิจสื่อเหล่านี้เป็นกังวลกันอยู่ ก็คือ จะรักษาโมเดลธุรกิจแบบเคเบิลทวี ซึ่งทำกำไรงามไว้ได้อย่างไร ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการเข้าถึงเนื้อหาในระบบออนไลน์ได้ฟรีกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ในสหรัฐฯปัจจุบัน ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีระดับท้องถิ่น ซึ่งเก็บเงินค่าสมาชิกจากพวกลูกค้า จะจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อได้สิทธิถ่ายทอดรายการของเครือข่ายเคเบิลทีวี ขณะเดียวกัน เคเบิลทีวีท้องถิ่นก็ยังมีรายได้จากการรับโฆษณา โดยที่จะแบ่งรายได้ค่าโฆษณานี้กับทางเครือข่าย

เวลานี้เทคโนโลยีผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้เป็นไปได้ที่จะรับชมทีวีผ่านเครื่องมือสื่อสารหลายหลาก กลุ่มธุรกิจสื่อชั้นนำจึงต่างเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เป็นต้นว่า ไทม์ วอร์เนอร์ อิงค์ วางโครงการที่ชื่อ “ทีวีในทุกที่” (TV Everywhere) ส่วน คอมแคสต์ คอร์ป ก็คิดแผน “ออนไลน์ตามความต้องการผู้บริโภค” (On Demand Online) โดยต่างยังคงหวังรักษาโมเดลธุรกิจแบบเคเบิลทีวีดั้งเดิมเอาไว้ โดยที่จะเสนอรายการต่างๆ ของเคเบิลทีวี ไปยังผู้ชมเฉพาะที่เป็นสมาชิกบอกรับเคเบิลทีวี “ตัวจริง”

“การทำระบบที่จะยืนยันได้ว่าเป็นสมาชิกตัวจริง (authentication) นับเป็นขั้นตอนตัวกลาง ซึ่งน่าสนใจมาก และเป็นอะไรที่เรากำลังศึกษากันอยู่” ซาสลาฟ กล่าว

นอกจากนั้น แอริก ชมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิล อิงค์ ก็ยืนยันว่า เขาได้เกริ่นกับไทม์วอร์เนอร์ไว้แล้ว เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำรายการเคเบิลทีวีไปไว้ใน “YouTube” แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ทีวีกับสื่อสิ่งพิมพ์และดนตรี

ผู้บริหารสตูดิโอโทรทัศน์ต่างก็ไม่ต้องการให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบเดียวกับที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์และดนตรีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอินเทอร์เน็ต และยังกังวลว่าผู้บริโภคจะคาดหวังว่ารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และรายการระดับมืออาชีพทั้งหลายจะต้องเป็นของฟรีทั้งหมด

ปัจจุบัน Hulu.com ซึ่ง นิวส์ คอร์ป, เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล และวอลต์ ดิสนีย์ โค.เป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ มีการให้บริการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ฟรีผ่านทางอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่พวกผู้บริหารในที่ประชุมที่ซันแวลลีย์กำลังคุยกันเพื่อหาโมเดลธุรกิจที่จะให้ผู้ชมต้องเสียเงิน

ในเรื่องนี้ บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร “ไวร์ด” คริส แอนเดอร์สัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Free” เสนอเอาไว้ว่า บริษัทจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทด้านสื่อ สามารถที่จะสร้างธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและดีขึ้นได้ หากมุ่งไปที่การนำเสนอเนื้อหาแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย

แต่พวกผู้บริหารจำนวนมากที่มาหารือกันในซันแวลลีย์ไม่เห็นด้วย พวกเขาบอกว่า แนวความคิดแบบให้ชมเนื้อหาฟรีและหารายได้จากการโฆษณานั้น ไม่ใช่เป็นแนวความคิดใหม่อะไรเลย เป็นต้นว่า โทรทัศน์แบบที่เปิดให้ดูกันทั่วไปก็เป็นของฟรีอยู่แล้ว ทว่าอิทธิพลของมันกลับถูกบั่นทอนจากพวกเคเบิลทีวี และอนาคตของฟรีทีวีที่จะเป็นช่องทางสำหรับการโฆษณาก็ดูมืดมนลงไปมากแล้วในเวลานี้

สำหรับพวกสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นทางค่าย นิวส์ คอร์ป ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค หรือค่ายอื่นๆ ต่างก็กำลังศึกษาสำรวจหาโมเดลในการคิดราคาจากข่าว เพื่อให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่ออ่านข่าวทางออนไลน์ โดยอาจใช้วิธีการรวมกลุ่มข่าวที่แตกต่างกันในแนวดิ่ง เช่น ข่าวธุรกิจกับข่าวกีฬาแล้วคิดค่าบริการเป็นรายเดือน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น