xs
xsm
sm
md
lg

อัลกออิดะห์พยายามสร้างพันธมิตรใหม่

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Al-Qaeda seeks a new alliance
By Syed Saleem Shahzad
20/05/2009

เพื่อให้บรรลุแผนการที่จะสร้างพื้นที่ “ระเบียงทางยุทธศาสตร์” ซึ่งทอดยาวจากอัฟกานิสถานผ่านปากีสานไปจนถึงอิหร่าน อัลกออิดะห์จึงต้องการที่จะเป็นพันธมิตรกับ จุนดุลเลาะห์ องค์การอิสลามสุหนี่ชาวอิหร่านที่กำลังก่อความไม่สงบต่อต้านทางการเตหะราน ขณะที่ในอีกฟากหนึ่ง พันธมิตรทำนองเดียวกันที่จัดตั้งขึ้นสำเร็จแล้วระหว่างอัลกออิดะห์กับกลุ่มหัวรุนแรงชาวปากีสถาน ก็ปรากฏผลออกมาว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

แคว้นพรมแดนตะวันออกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Province), ปากีสถาน – การสู้รบในหุบเขาสวัต (Swat Valley) และพื้นที่ประชิดติดกัน อันได้แก่ เขตบูเนอร์(Buner) และเขตดีร์ (Dir) ระหว่างพวกหัวรุนแรงตอลิบานกับกองกำลังทหารตำรวจปากีสถาน ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือดหลังเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ บีบบังคับให้ประชาชนประมาณ 1.4 ล้านคนต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนของพวกเขา เป็นการเพิ่มเติมขึ้นจากผู้คนอีก 550,000 คนที่ต้องพลัดบ้านพลัดถิ่นจากการสู้รบก่อนหน้านี้ในบริเวณดังกล่าวและในพื้นที่อื่นๆ

ฝ่ายทหารอ้างว่า จากการสู้รบที่เข้มข้น สามารถ “รุกคืบหน้าไปได้อย่างใหญ่หลวง” โดยสังหารพวกหัวรุนแรงไปหลายร้อยคนในการศึกซึ่งถือว่าเป็นระยะล่าสุดของสมรภูมิสงครามแห่งเอเชียใต้

แต่ปฏิกิริยาตอบโต้จากพวกหัวรุนแรงจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินทิศทางของการรณรงค์คราวนี้ ซึ่งปลุกปั่นให้บังเกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯออกแรงบีบคั้นอย่างหนักหน่วงต่อทางการกรุงอิสลามาบัด

ด้วยมุมมองเช่นนี้เอง เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้พูดคุยกับนักอุดมการณ์ระดับสูงคนหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าในการเขียนข่าวจะต้องไม่เอ่ยหรือพาดพิงถึงชื่อของชายผู้นี้ หรือสถานที่ของการพบปะกัน

นักอุดมการณ์ระดับสูงผู้นี้บอกว่า อัลกออิดะห์ได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่า วอชิงตันจะต้องดึงเอาปากีสถานและอินเดียมาร่วมวงในการต่อสู้ปราบปรามพวกหัวรุนแรง และกระทั่งจะพยายามหาความร่วมมือจากอิหร่านด้วยซ้ำ จุดมุ่งหมายก็คือมุ่งที่จะโดดเดี่ยวพวกหัวรุนแรงในทางภูมิศาสตร์

แต่ชายผู้นี้กล่าวต่อไปว่า พวกหัวรุนแรงนั้นได้วางแผนการที่จะเข้ายึดครองพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็น “ระเบียงทางยุทธศาสตร์” ที่ยาวเหยียดจากจังหวัดนานการ์ฮาร์ (Nangarhar) ในอัฟกานิสถาน ผ่านเขตไคเบอร์ เอเยนซี (Khyber Agency) ของปากีสถาน และพื้นที่เขตทูตระบัต (Tutrbut)ในแคว้นบาลูจิสถาน (Balochistan) ของทางปากีสถาน ไปจนถึงเขตบาลูจิสถานของทางอิหร่าน

พวกหัวรุนแรงกำลังวางแผนจะจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคกลุ่มใหม่ขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์นี้เอง อับดุล มาลิก ริกิ (Abdul Malik Rigi) หัวหน้ากลุ่มชาวอิหร่านที่มีชื่อว่า จุนดุลเลาะห์ (Jundullah แปลว่า กองทัพของพระเจ้า) จึงมีกำหนดพบหารือกับตัวแทนอัลกออิดะห์ผู้หนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ณ บริเวณไม่ห่างจากเมืองชายฝั่งแห่งหนึ่งในดินแดนบาลูจิสถานของปากีสถาน เพื่อวางรากฐานสำหรับการปฏิบัติการร่วมกันระดับภูมิภาคทั้งในอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อิหร่าน, และอินเดีย

ในอดีตที่ผ่านมา อัลกออิดะห์มีข้อสงวนบางประการเกี่ยวกับกลุ่มจุนดุลเลาะห์ชาวอิหร่านนี้ ซึ่งเป็นองค์การอิสลามสุหนี่ที่ทำการก่อความไม่สงบต่อต้านทางการเตหะราน เนื่องจากมีความระแวงกันว่ากลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์โยงใยกับหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯและปากีสถาน

แต่ระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ชาวบาลูจิปากีสถานที่รวมตัวกันต่อต้านพวกชิอะห์จำนวนไม่กี่คนได้ไปทำงานกับกลุ่มจุนดุลเลาะห์ ชาวบาลูจิปากีสถานเหล่านี้เมื่อก่อนเคยสังกัดอยู่กับกลุ่มหัวรุนแรงสุหนี่ที่ใช้ชื่อว่า “ลัชการ์-อี-ฌังวี” (Lashkar-e-Jhangvi) พวกเขากับจุนดุลเลาะห์ได้ออกปฏิบัติการร่วมกันหลายครั้ง เพื่อเล่นงานชาวอิหร่านและพวกชิอะห์ในพื้นที่เขตนั้น

พวกบาลูจิปากีสถานพวกนี้เอง เป็นผู้แสดงบทบาทในการนำอัลกออิดะห์และจุนดุลเลาะห์เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมทั้งสร้างความชัดเจนขึ้นมาว่า เวลานี้จุนดุลเลาะห์เป็นองค์การอิสระ มีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ในนครการาจี เมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของปากีสถาน แต่ก็มีที่มั่นหลายแห่งทั้งในบาลูจิสถานส่วนที่เป็นของปากีสถาน และในจังหวัดซิสตาน-บาลูจิสถาน (Sistan-Balochistan) ของอิหร่าน

จุนดุลเลาะห์มีจุดมุ่งหมายแคบๆ เพียงแค่สั่นคลอนเสถียรภาพระบอบปกครองอิหร่านซึ่งเป็นพวกชิอะห์ ส่วนอัลกออิดะห์ต้องการขายแฟรนไชส์ของตนให้แก่จุนดุลเลาะห์ ด้วยจุดมุ่งหมายหลักๆ 2 ประการ คือ

--เพื่อทำลายหรือก่อกวนการดำเนินงานต่างๆ ณ เมืองท่าชาบาฮาร์ (Chabahar ตั้งอยู่ในจังหวัดซิสตาน-บาลูจิสถานของอิหร่าน) ซึ่งอาจถูกใช้ขนส่งสัมภาระขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าไปยังอัฟกานิสถาน ทั้งนี้เส้นทางหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งต้องผ่านดินแดนปากีสถานอย่างยาวเหยียดนั้น กำลังถูกพวกตอลิบานโจมตีอย่างหนักหน่วง

--ทำให้อัลกออิดะห์ได้เข้าไปปรากฏตัวในอิหร่าน เพื่อดำเนินปฏิบัติการต่างๆ ที่จะสร้างความสมดุลทางยุทธศาสตร์ อันจะเป็นการทัดทานไม่ให้อิหร่านแสดงบทบาทใดๆ ในอัฟกานิสถานและอิรัก

ในปัจจุบัน จุนดุลเลาะห์เป็นองค์การที่ทั้งไร้เดียงสาและย่ำแย่ทางด้านการเงิน โดยมีการปฏิบัติการเพียงแค่เปิดการโจมตีภายในดินแดนอิหร่านเป็นครั้งคราว ซึ่งก็ทำแบบไม่ประสานกับฝ่ายใดและไม่ค่อยเป็นข่าวเกรียวกราวอะไร ทางกลุ่มอ้างว่าได้ฆ่าทหารอิหร่านไปราว 400 คนจากการปฏิบัติการในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทว่าไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไรจริงจังต่อทางการเตหะราน

อัลกออิดะห์มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนสภาพการณ์เช่นนี้ เหมือนกับที่ได้กระทำกับกลุ่มลัชการ์-อี-ฌังวี ในปากีสถาน

ลัชการ์-อี-ฌังวี เป็นกลุ่มที่แตกออกมาจากพรรค เซปาห์-อี-ซาฮาบา ปากีสถาน (Sepah-e-Sahaba Pakistan หรือ SSP) อันเป็นพรรคที่มุ่งต่อต้านพวกชิอะห์ในทางการเมือง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการออกกฎหมายประกาศว่าพวกชิอะห์ไม่ใช่ชาวมุสลิม ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง พรรคเอสเอสพีไม่เคยได้ที่นั่งมากกว่า 1 ที่ในรัฐสภาเลย ขณะที่ผู้นำของพรรคหลายคนต่างถูกลอบสังหารโดยพวกองค์การหัวรุนแรงของฝ่ายชิอะห์

นั่นจึงบังคับให้สมาชิกเอสเอสพีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งหันมาจัดตั้งองค์การหัวรุนแรงขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็คือ ลัชการ์-อี-ฌังวี (กองทัพของฌังวี) ที่ตั้งตามนามของผู้ก่อตั้ง มาวลานา ฮัก นาวาซ ฌังวี (Maulana Haq Nawaz Jhangvi) ผู้ซึ่งต่อมาก็ถูกสังหารโดยพวกหัวรุนแรงชิอะห์

ตอนแรกๆ กลุ่มลัชการ์-อี-ฌังวี มีเป้าหมายปฏิบัติการในรูปของการสังหารพวกชิอะห์ในมัสยิด ตลอดจนพวกผู้นำทางศาสนาฝ่ายชิอะห์ องค์การของพวกชิอะห์ที่ชื่อ เซปาห์ โมฮัมหมัด (Sepah Mohammad) ก็ทำการตอบโต้แบบเลือดล้างเลือดเอากับพวกสุหนี่

ต่อมาเมื่อกองกำลังทหารตำรวจปากีสถานกดดันเล่นงานกลุ่มลัชการ์-อี-ฌังวีแน่นหนายิ่งขึ้น จึงบังคับให้สมาชิกจำนวนหนึ่งหลบหนีไปอัฟกานิสถาน ซึ่งเวลานั้นปกครองโดยพวกตอลิบาน สมาชิกเหล่านี้ซึ่งแทบไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรและก็ยากจน ได้รับการต้อนรับโอบอุ้มจากอัลกออิดะห์ และได้รับการฝึกอบรมจากค่ายของอัลกออิดะห์

หลังจากสหรัฐฯเข้ารุกรานอัฟกานิสถานในปี 2001 และกระทั่งเมื่ออัลกออิดะห์ล่าถอยเข้าไปในปากีสถาน พวกสมาชิกลัชการ์-อี-ฌังวีก็เป็นธุระให้ความช่วยเหลือ จากกระบวนการเช่นนี้จึงทำให้การติดต่อสัมพันธ์ของสองฝ่ายยิ่งเพิ่มขึ้นอีก

ปรากฏว่าพวกสมาชิกลัชการ์-อี-ฌังวี กลายเป็นผู้เหมาะสมแก่การเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตายให้อัลกออิดะห์ เนื่องจากพวกเขาจำนวนมากต่างเป็นพวกที่ตีบตันไร้ทางเดินต่อไปเสียแล้ว กล่าวคือ ถูกหมายหัวต้องการตัวไม่ว่าเป็นหรือตายจากหน่วยรักษาความมั่นคงปากีสถาน ขณะเดียวกันก็ถูกครอบครัวของพวกเขาตัดหางปล่อยวัด

ยังมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่จะเป็นตัวเสริมส่งการจับมือเป็นพันธมิตรกลุ่มใหม่ระหว่างจุนดุลเลาะห์และอัลกออิดะห์ ตัวอย่างเช่น เป็นครั้งแรกที่มีชาวบาลูจิที่อยู่ในปากีสถานจำนวนมหาศาล ไหลทะลักเข้าสู่ค่ายต่างๆ ของอัลกออิดะห์ในเขตวาซิริสถานใต้ (South Waziristan) และ วาซิริสถานเหนือ (North Waziristan) ณ พื้นที่ชนเผ่าของปากีสถานที่บริเวณพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน

ทั้งหมดเหล่านี้ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาระเบียงทางยุทธศาสตร์แห่งใหม่ของพวกหัวรุนแรง เป็นที่คาดหมายกันว่าการพบหารือกันระหว่าง อับดุล มาลิก ริกิ กับผู้แทนอัลกออิดะห์ จะผลักดันให้จุดมุ่งหมายนี้ขยับใกล้ความเป็นจริงเข้าไปอีกขั้น

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น