xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์ในยามยากลำบาก

เผยแพร่:   โดย: คาลิงกา เสเนวิรัตเน

(เอชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Singapore in straitened times
By Kalinga Seneviratne
26/03/2009

รายรับที่ลดฮวบฮาบของสิงคโปร์ สืบเนื่องจากบรรดาผู้บริโภคของโลกต่างไม่ยอมควักบัตรเครดิตออกมาจับจ่าย กำลังทำให้ประเทศเกาะที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกแห่งนี้ ต้องขบคิดทบทวนจนแม้กระทั่งโมเดลทางเศรษฐกิจ ที่ได้ทำให้สิงคโปร์มั่งคั่งร่ำรวยถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ดี จากการที่มีประชากรเพียงแค่ 4 ล้านคน ทางเลือกอื่นๆ จึงดูจำกัดตีบตัน

สิงคโปร์ – สาธารณรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ แห่งนี้นั่งทับอยู่บนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ แต่กระนั้นนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ก็ยังกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีในเดือนนี้ว่า ประเทศของเขาไม่สามารถอาศัยการจับจ่ายใช้สอยภายในชาติ มาเป็นหนทางประคองตัวให้หลุดพ้นจากสภาพเศรษฐกิจทรุดต่ำไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับการเยียวยาฟื้นตัวแล้ว

สิงคโปร์ซึ่งไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ และมีประชากรเพียงแค่ 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงจากภาวะปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกคราวนี้ โดยตัวเลขล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งสิงคโปร์ (Development Bank of Singapore) ระบุว่า จะมีคนต้องถูกปลดออกจากงานประมาณ 99,000 คนในปีนี้

เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนาเป็นประเทศขึ้นมาในปี 1965 ที่สิงคโปร์จำเป็นจะต้องล้วงเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของตนมาใช้ช่วยเหลือเป็นเงินทุนสำหรับโครงการ “มาตรการเพื่อสร้างความยืดหยุ่น” (Resilience Package) มูลค่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศบรรจุไว้ในร่างงบประมาณเมื่อเดือนมกราคม

มาตรการเหล่านี้จะ “ช่วยบริษัทต่างๆ ให้ยังอยู่ต่อไปได้ แต่เราก็จะต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เราสามารถทำได้นั้นคือช่วยแบกรับผลกระทบเอาไว้เท่านั้น” ลีกล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการ “รายงานธุรกิจเอเชีย” (Asian Business Report) ของบีบีซี “คุณจะต้องอดทนรอคอยจนกว่าพายุจะพัดผ่านพ้นไป”

เมื่อตอนที่ยังเป็นช่วงเวลาดีๆ สิงคโปร์ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล แต่เมื่อบรรดาเศรษฐกิจในโลกตะวันตกที่เป็นคู่ค้าของสิงคโปร์มีอันทรุดตัวลงไปเป็นแถว เสือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัวนี้ก็อยู่ในหมู่ประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างรวดเร็วก่อนเพื่อน รัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งนี้เชื่อว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ถึง 3 ปี กว่าที่เศรษฐกิจของประเทศจะกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้

หนังสือพิมพ์เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดงบประมาณฉุกเฉินของสิงคโปร์ โดยบอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกคราวนี้ สำหรับสิงคโปร์แล้วควรถือเป็นเสียงกริ่งปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล เนื่องจากสิงคโปร์นั้นต้องพึ่งพาอาศัยรายได้จากการส่งออกเป็นอย่างยิ่ง โดยที่การค้าเสื่อมทรุดนั่นเองคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส4ปีที่แล้วหล่นวูบลงถึง 16.9% “เศรษฐกิจสิงคโปร์จะมีความยืดหยุ่นยิ่งกว่านี้ ถ้าหากมีการสร้างความสมดุลให้ดียิ่งขึ้น” เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล เสนอแนะ พร้อมกับชี้ด้วยว่า การบริโภคภายในประเทศนั้นยังอยู่ในระดับเท่ากับเพียง 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)เท่านั้น

ทางด้านโฆษกกระทรวงการคลัง ฉินเซ่าโฮ ได้แถลงตอบโต้บทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว โดยแย้งว่าโมเดลทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นจริงต่างๆ ของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งที่กำลังมุ่งมั่นที่จะสร้างตนเองให้กลายเป็นชาติทันสมัย

“มันมีการกระจายตัวอยู่แล้วทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ ทว่าทั้งสองภาคนี้ก็ยังคงต้องอิงอาศัยตลาดโลกเป็นอย่างมาก” เขากล่าวและโต้แย้งว่า “ในฐานะที่เป็นนครรัฐซึ่งมีประชากร 4 ล้านคน ธุรกิจต่างๆ ย่อมมีแรงจูงใจในการให้บริการตลาดโลก ยิ่งกว่าให้บริการการบริโภคในประเทศเป็นไหนๆ”

กระนั้นก็ตาม ผลกระทบจากความปั่นป่วนทางการเงินทั่วโลกคราวนี้ที่มีต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของสิงคโปร์ดังกล่าว ก็ทำให้นายกรัฐมนตรีลีถึงกับพูดถึงสิ่งที่ไม่มีใครกล้าขบคิดกันในสิงคโปร์ ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในเดือนนี้ โดยเขาบอกว่าสิงคโปร์คงจะต้องขบคิดทบทวนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตนที่อาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ

“มันจะต้องมีการปรับสร้างสมดุลกันใหม่ในระดับโลก เพราะเราไม่สามารถที่จะคาดหมายว่าชาวอเมริกันจะยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวของต่างๆ ที่ทำกันออกมาในทั่วโลก –โดยที่ส่วนอื่นๆ ของโลกจะยังทำตนเป็นผู้เก็บออม คอยปล่อยเงินกู้ให้แก่สหรัฐฯเพื่อใช้ซื้อสิ่งต่างๆ จากคุณ”

เขายอมรับว่าเรื่องนี้จะหมายความถึงการพลิกตัวออกจากโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียซึ่งใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน

หากเป็นเมื่อสักสองสามเดือนก่อนหน้านี้ ถ้ามีผู้นำของสิงคโปร์ออกมาพูดแบบนี้ ก็จะเท่ากับการทำสิ่งอัปมงคลด้วยการหยามหมิ่นหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว เนื่องจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนี้จนกระทั่งมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนในระดับสูงกว่า 24,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเช่นนี้ ก็เป็นเพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างและพึ่งพาอาศัยต่างประเทศ โดยรายได้ถึงราวสามในสี่ของสิงคโปร์ก็ได้มาจากการค้าและการลงทุนภายนอกประเทศนั่นเอง

เทมาเส็ก ซึ่งเป็นเครื่องมือในการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ทำการลงทุนเป็นอันมากทั้งในต่างประเทศและในวิสาหกิจของรัฐบาลเอง อาทิ สิงเทล ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสาร, สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส, ธนาคาร ดีบีเอส แบงก์ เคปเพล คอร์เปอเรชั่น, และ เซมบ์-คอร์ป โดยที่ทำรายได้จำนวนมหึมาทีเดียวจากการประกอบกิจการหรือการค้าในต่างแดน

ทว่าราคาหุ้นและรายได้จากต่างแดนเหล่านี้กำลังทรุดฮวบลงในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเวลานี้

“เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เราทำชิป, เราทำเวชภัณฑ์, เราทำปิโตรเคมี เราบริโภคอาจจะเพียงแค่ราวๆ 1% ของสิ่งที่เราทำต่างๆ เหล่านี้ บางทีอาจจะน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ” ลีกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี “เรากำลังทำสิ่งเหล่านี้เพื่อขายให้แก่โลก เราซื้อจากโลก และทำเพื่อโลก ... นั่นคือวิธีการที่ทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมา”

เพื่อสกัดกั้นการทรุดตัวลงเช่นนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้สั่งจอดเครื่องบินไม่ให้ขึ้นบินเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นจำนวน 17 ลำ อีกทั้งกำลังวางแผนปลดพนักงานในทั่วโลกเป็นจำนวนประมาณ 9,000 คน ทางด้านรัฐบาลนั้นในแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้จัดสรรเงินก้อนใหญ่ทีเดียวให้แก่โครงการฝึกอบรมให้การศึกษาใหม่แก่บรรดาคนงานที่ถูกปลด เพื่อให้สามารถหางานอื่นๆ ทำในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นคนละแวดวงกับที่พวกเขาเคยทำงานมาก่อน

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ไปสู่ตำแหน่งในอุตสาหกรรมที่อาศัยความรู้เป็นฐาน อาทิ งานในด้านมัลติมีเดีย

ณ การประชุมระดับสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ สิงคโปร์เป็นผู้นำหน้าในการเรียกร้องให้ช่วยกันต่อต้านความเอนเอียงที่ประเทศต่างๆ จะหันไปใช้ลัทธิกีดกันการค้า เรื่องนี้ย่อมนำไปสู่การเรียกร้องให้ภายในภูมิภาคเองเปิดตลาดกันให้กว้างขึ้น ตลอดจนเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมทางเศรษฐกิจแห่งอาเซียที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2015

สมาชิกทั้ง 10 ประเทศที่ประกอบกันขึ้นเป็นอาเซียนนั้น มีขนาดประชากรรวมกันเท่ากับ 560 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ทีเดียว ทว่าอำนาจซื้อของพวกเขายังแตกต่างห่างกันไกล โดยมีสมาชิกบางรายอย่างเช่น ลาว, พม่า, และกัมพูชา ติดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดของโลก

เรื่องที่ควรถือเป็นข้อดีประการหนึ่งจากสภาพเช่นนี้ก็คือ ระบบการเงินของประเทศเหล่านี้ยังค่อนข้างจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากวิกฤตการเงินทั่วโลกคราวนี้ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียรายอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, บรูไน, และสิงคโปร์ (สมาชิกอาเซียนที่เหลืออีกรายหนึ่ง คือ เวียดนาม) ต่างก็ได้รับความเสียหายจากวิกฤตทั้งนั้นในระดับมากบ้างน้อยบ้าง

อดีตเลขาธิการอาเซียน โรโดลโฟ เซเวริโน เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ของสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่ามีหลายๆ ประเทศในสมาคมอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จากฟองสบู่ซึ่งสร้างขึ้นโดย “พวกบริษัทอเมริกันและผู้บริโภคอเมริกันที่ใช้จ่ายอย่างมือเติบโดยที่ได้เงินมาจากการกู้หนี้ยืมสินอย่างหนักหน่วง อีกทั้ง(หลายๆ ประเทศอาเซียนเหล่านี้) ยังยึดติดกับการทำกำไรและการสร้างงานในโมเดลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้การส่งออกเป็นตัวนำ”

เขาเสนอแนะว่า อาเซียนควรทำอะไรมากกว่านี้ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของพวกตนแบบเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และพึ่งพาพวกเศรษฐกิจฟองสบู่ดังกล่าวให้น้อยลง รวมทั้งควรที่จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศด้วยการลงทุนในภาคสาธารณสุข, การศึกษา, และชนบท

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น