เอเจนซี - เกาหลีเหนือดำเนินการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลที่ฐานปล่อยจรวดแล้ว ทำให้สหรัฐฯออกโรงเตือนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ขณะที่ฝ่ายทหารอเมริกันก็ระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำการยิงสกัดโสมแดง ทางด้านเกาหลีใต้ระบุว่าการกระทำของเกาหลีเหนือจะสร้างปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาคครั้งใหญ่
การยิงขีปนาวุธในครั้งนี้จะกลายเป็นการทดสอบครั้งแรกต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในแง่การรับมือกับปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งพยายามที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ จนกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงอันดับแรกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างสูงแห่งหนึ่งของโลก และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือเลวร้ายมาหลายปี
หนังสือพิมพ์รายวัน โชซัน อิลโบ ของเกาหลีใต้ได้อ้างแหล่งข่าววงการทูตว่าเกาหลีเหนืออาจจะยิงจรวดซึ่งมีพิสัยทำการไกลถึงรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ ภายในสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเคยประกาศว่าจะทำการปล่อยจรวดยิงดาวเทียมสื่อสารในระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน
ส่วนสหรัฐฯ ก็ได้ใช้ดาวเทียมจารกรรมเก็บข้อมูลบริเวณฐานปล่อยจรวดมูซูดาน ที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับปล่อยจรวด "แตโปดอง-2"
โดยในวันพุธ (25) เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการขยายอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ระบุว่าเกาหลีเหนือได้ติดตั้งจรวดที่ฐานยิงแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกคนหนึ่งบอกว่าเกาหลีเหนือได้ทำการติดตั้งจรวดไปแล้วสองขั้นตอนด้วยกัน จากทั้งหมดที่คาดว่ามีสามขั้นตอน แต่เมื่อติดตั้งจรวดแล้วยังต้องใช้เวลาอีกหลายวันในการเติมเชื้อเพลิงในจรวด
ทวีความตึงเครียด
"เราขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้เกาหลีเหนือหยุดการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลทันที เพราะนี่เป็นการฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1718" โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุด้วยว่าการดำเนินการของเกาหลีเหนือเป็นการท้าทายอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงในภูมิภาคและถือเป็นพฤติการณ์รุกราน
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในคาบสมุทรเกาหลียังเริ่มสร้างความกังวลให้กับพวกนักลงทุนในตลาดการเงินเกาหลีใต้ด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาผลกระทบดังกล่าวจะยังเล็กน้อยก็ตาม
ด้าน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการเยือนเม็กซิโกว่า การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาระหว่างประเทศหกฝ่ายตามแผนการยุติอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ทั้งนี้การเจรจาดังกล่าวต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเมื่อที่ประชุมตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับวิธีการเข้าไปตรวจสอบว่าเกาหลีเหนือได้หยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วหรือยัง
"แต่การกระทำเชิงยั่วยุครั้งนี้จะไม่ผ่านเลยไปโดยไร้การตรวจสอบ และจะต้องมีผลลัพธ์บางประการเกิดขึ้นด้วย" คลินตันยังย้ำถึงคำเตือนก่อนหน้านี้ด้วยว่าสหรัฐฯ จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อขอให้มีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม
ขณะนี้ เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติอยู่แล้ว จากกรณีการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ส่วนพวกนักวิเคราะห์ก็ตั้งข้อสงสัยว่าจีนอาจคัดค้านการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง เนื่องจากจีนเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ
หากการยิงจรวดประสบความสำเร็จก็จะยิ่งเสริมฐานสนับสนุนให้กับคิม จอง-อิล ผู้นำของเกาหลีเหนือหลังจากที่เขาตกเป็นข่าวว่าล้มป่วยอย่างหนัก ส่วนเกาหลีใต้ก็จะเป็นฝ่ายเสียหน้า เพราะกำลังเตรียมการยิงดาวเทียมของตนเองภายในปีนี้เช่นกัน
อนึ่ง พล.ร.อ.ทิโมธี คีตติ้ง ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯประจำภูมิภาคแปซิฟิกระบุว่า "อาจเป็นไปได้สูง"ที่สหรัฐฯจะเข้าสกัดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่มุ่งหน้ามายังดินแดนของสหรัฐฯ หากได้รับคำสั่งให้ทำเช่นนั้น
ก่อนหน้านี้ โสมแดงเคยแถลงว่าหากจรวดของตนถูกยิงตก ก็จะถือว่าเป็นการประกาศทำสงคราม