xs
xsm
sm
md
lg

โลกถึงเวลาต้องทำใจยอมรับ รีไซเคิล “น้ำทิ้ง” มาทำ “น้ำดื่ม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กหญิงชาวบังกลาเทศกำลังดื่มน้ำจากก๊อก
เอเอฟพี - คุณจะคิดอย่างไรถ้าวันหนึ่งคุณอ่านพบข้อความบนขวดน้ำดื่ม ว่า “น้ำในขวดนี้เป็นน้ำที่มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

ข้อความดังกล่าวเปิดโอกาสให้ตีความไปได้ต่างๆ นานา แต่สำหรับพวกนักวิชาการด้านน้ำแล้ว วิธีการเดียวที่ภูมิภาคต่างๆ อันแห้งแล้งของโลก จะสามารถมีน้ำใช้ได้เพียงพอกับปริมาณความต้องการ ก็คือ การรีไซเคิลน้ำ รวมทั้ง น้ำ “ใช้แล้ว” ที่ผ่านการชำระล้างร่างกายมนุษย์แล้วด้วย

นั่นก็หมายความว่า แทนที่จะทิ้งน้ำจากการทำความสะอาดชำระล้างหลังการขับถ่ายและการอาบน้ำ ของเหลวอันเปี่ยมคุณค่าเหล่านี้ สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้อีก และไม่เพียงแต่จะนำไปใช้สำหรับการชลประทานเพื่อการเกษตร หรือใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างที่หลายประเทศทำอยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนำไปผลิต “น้ำดื่ม” ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมน้ำโลก (World Water Forum) ที่กรุงอิสตันบูล ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ (22) นี้ มีประเด็นที่ถูกเน้นย้ำตลอดการประชุมว่า ควรมีการนำ “น้ำใช้แล้ว” หรือที่เรียกให้ดูน่าฟังขึ้นว่า น้ำ “สีเทา” จำนวนหนึ่ง มาใช้ผลิตน้ำประปาด้วย

ทว่า พวกผู้เชี่ยวชาญก็ได้เตือนว่าการจะทำให้ผู้คนเลิกขยะแขยงกับน้ำประเภทนี้เป็นเรื่องที่ยากเย็นเสียยิ่งกว่างานในส่วนวิศวกรรมการผลิตน้ำรีไซเคิลมากมายหลายเท่าตัว

“ใครๆ ก็รังเกียจที่จะต้องดื่มน้ำซึ่งอาจจะมาจากสิ่งปฏิกูล” เจอราร์ด ปาเยน บอก เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาของสหประชาชาติว่าด้วยน้ำและการสุขาภิบาล ซึ่งขึ้นตรงต่อบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ

“เราจะมีอุปสรรคสำคัญในเชิงจิตวิทยา แต่มันจะค่อยๆ ผ่อนคลายไปทีละเล็กทีละน้อย”

ปัจจุบัน กรุงวินด์ฮุก เมืองหลวงของนามิเบีย ในภาคใต้ของแอฟริกามีการใช้ระบบที่เรียกว่า “จากน้ำทิ้งสู่น้ำก๊อก” ได้ประสบผลสำเร็จมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ดี นี่เป็นตัวอย่างที่ยังมีน้อยนักหนาในเวลานี้

ที่ออสเตรเลีย เมื่อสามปีก่อน ชาวเมืองทูวูมบา ในรัฐควีนส์แลนด์ ก็ได้ลงประชามติไม่ยอมรับการใช้ระบบในทำนองเดียวกันนี้ ในขณะที่อีกหลายส่วนของประเทศอันแห้งแล้งนี้ก็ยังปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวอยู่ ถึงแม้อย่างน้อยได้มีการนำเสนอขึ้นมาเป็นทางเลือกหนึ่งอย่างจริงจังแล้ว

“ในทางเทคนิคแล้ว ถ้าเราใช้วิธีรีไซเคิลสมัยใหม่ ก็จะได้น้ำที่ดื่มได้อย่างแน่นอน” อองตวน เฟรโรต์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทน้ำดื่ม เวโอเลีย โอ แห่งฝรั่งเศสระบุ

“น้ำใช้แล้วเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งที่หาได้ใกล้ๆ ตามเมืองต่างๆ และมันก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าๆ กับปริมาณการบริโภค” เขาเสริม “การรีไซเคิลน้ำพวกนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการสกัดเกลือออกจากน้ำทะเลและช่วยลดมลพิษด้วย”

เฟรโรต์ บอกอีกว่า น้ำดื่มจากใต้ชั้นดินหรือหินนั้นมีต้นทุนราว 10 ยูโรเซนต์ต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำดื่มที่สกัดจากน้ำทะเลต้นทุนจะสูงขึ้นเป็น 70 ยูโรเซนต์ ขณะที่น้ำรีไซเคิลจะมีต้นทุนอยู่ช่วงกลางๆ คือ ราว 45 ยูโรเซนต์ต่อลูกบาศก์เมตร

แต่ท่ามกลางข้อข้องใจของสาธารณชน บริษัทผลิตน้ำก็กำลังมองหาวิธีการประหยดน้ำทางอ้อมอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งรวมทั้งเรื่องการแยกระบบน้ำดื่มกับน้ำใช้ในห้องน้ำ โดยนำน้ำทะเลไปใช้ในระบบชักโครก เป็นต้น

ส่วนวิธีการรีไซเคิลน้ำ “ทางอ้อม” ที่แพร่หลายมานานแล้ว ก็คือ เมื่อบำบัดน้ำเสียจากสิ่งปฏิกูลต่างๆ แล้วก็จะปล่อยน้ำเหล่านั้นกลับลงไปในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ซึ่งต่อมาก็จะถูกสูบกลับขึ้นมาผลิตน้ำประปา วิธีการดังกล่าวใช้กันมานานในบริเวณแม่น้ำเทมส์ ซึ่งองค์การประปาตามท้องถิ่นต้นน้ำมีการสูบน้ำขึ้นไปและปล่อยกลับลงมาหลายระลอก ก่อนที่แม่น้ำจะไหลลงไปถึงกรุงลอนดอนของอังกฤษ

นอกจากนั้น สิงคโปร์ซึ่งเป็นแนวหน้าในเรื่องการใช้ซ้ำ (reuse) ก็ได้คิดโครงการที่ชื่อว่า NEWater ขึ้นมา เพื่อนำน้ำทิ้งจากท่อระบายน้ำมารีไซเคิลแล้วไปผสมทำน้ำดื่มในสัดส่วน 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเชื่อว่าแม้ขณะนี้จะยังมีอุปสรรคในเชิงจิตวิทยาอยู่สูงมาก แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น คนก็จะค่อยๆ ทำใจยอมรับได้ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น