เอเอฟพี - คนทั่วโลกจำนวนเกือบ 85,000 ราย ร่วมลงชื่อทางอินเตอร์เนต เพื่อเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของสนามหญ้าภายในทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นแปลงผัก ผู้ริเริ่มโครงการสีเขียวดังกล่าวบอกในวันพุธ (11)
"โครงการนี้เรียกร้องให้ทางครอบครัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา แปรเปลี่ยนพื้นบางส่วนของสนามหญ้าภายในทำเนียบขาวเป็นแปลงผักอินทรีย์ โดยหลังจากออกดอกออกผลแล้ว พืชผักเหล่านี้จะถูกส่งเข้าห้องครัวของทำเนียบขาว และส่วนที่เหลือกินเหลือใช้จะนำไปจุนเจือผู้ที่ขาดแคลน" โรเจอร์ ดอยรอนบอกกับเอเอฟพี พร้อมเสริมว่า แนวความคิดโครงการนี้มีการริเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว
หากครอบครัวของประธานาธิบดีโอบามาริเริ่มทำสวนผักบนสนามหญ้าภายในทำเนียบขาว จะสร้าง "โอกาสที่จะเป็นแรงบันดาลใจ" ให้เกิดสวนผักในลักษณะดังกล่าวตามมาอีกหลายล้านแห่ง มิใช่เพียงแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมทั้งส่วนต่าง ๆ ของโลกด้วย ดอยรอนชี้
แรงสนับสนุนโครงการปลูกผักนี้ มาจากทั่วสารทิศ รวมทั้งประเทศห่างไกลอย่างเคนยา ที่ซึ่งบรรดาชาวนาต้องการจะลงนามในข้อเรียกร้องดังกล่าว และบริจาคเงินสนับสนุน
เวลานี้ที่เมืองคิงส์ตันในมลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ มีแปลงผักอยู่หน้าศาลาว่าการมลรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากการจุดประกายความคิดของดอยรอน
เช่นเดียวกันที่เมืองฟลินต์ มลรัฐมิชิแกน ทางการท้องถิ่นอนุมัติให้ทำสวนผักขนาด 3 เอเคอร์บนลานกว้างตรงกลางกลุ่มอาคารบริหารท้องถิ่น ดอยรอนบอก
ทั้งนี้อาจจะมีแรงสนับสนุนโครงการปลูกผักดังกล่าวจากภายในทำเนียบขาวเองด้วย
"เราประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายในสำนักงานของมิเชลล์ โอบามา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ตกปากรับคำอะไร แต่พวกเขากำลังสอบถามคำถามที่ดี ๆ และตระหนักดีถึงเสียงสนับสนุนของผู้คนในโครงการนี้" ดอยรอนบอก
"ดูเหมือนพวกเขากำลังพิจารณาอยู่"
ดอยรอน ผู้อุทิศตนให้กับการปลูกพืชผักอินทรีย์ ซึ่งเมื่อปีก่อน สวนผักของเขาที่มลรัฐเมนให้ผลผลิตมูลค่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เขาบอก
ทำเนียบขาวเคยมี "สวนที่สามารถรับประทานได้" ครั้งสุดท้ายในปี 1943 โดยเอลินอร์ โรสเวลต์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้น ปลูกสวนผัก "วิคตอรี การ์เดน" เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนผักในช่วงสงคราม
"ตอนนั้นอยู่ในช่วงสงคราม และเป็นเวลาแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นเวลาที่ปวงชนชาวอเมริกันยึดทำเนียบขาวเป็นผู้นำ" ดอยรอนกล่าว
"ฟังดูคุ้น ๆ รึเปล่า?" เขาทิ้งท้าย