xs
xsm
sm
md
lg

สายการบินเอเชียงัดสารพัดแผน เตรียมพร้อมรับมือ “ฮาร์ดแลนดิ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ (เอสไอเอ) หนึ่งในสายการบินใหญ่ของเอเชีย
เอเอฟพี - สายการบินทั่วเอเชีย เดินหน้าลดเส้นทางบิน รวมถึงงัดมาตรการอื่นๆ มาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการให้บริการเที่ยวบินที่มีลูกค้าแค่ครึ่งลำ ท่ามกลางภาวะขาลงของอุตสาหกรรมการเดินทาง ที่ถูกปั่นกระแสจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก นักวิเคราะห์เชื่อทางเลือกต่อไป คือ การปลดพนักงาน การสร้างเครือข่ายพันธมิตรและการร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ

ชูกอร์ ยูซูฟ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินของ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ชี้ว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลงก่อนที่จะดีขึ้น และสายการบินต่างๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อแก้โจทย์นี้

สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ (เอสไอเอ) หนึ่งในสายการบินใหญ่ของเอเชีย ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จะระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศบางเส้นทางที่ไปยังอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงจะลดเที่ยวบินแบบไม่แวะจอดที่มีแต่ชั้นนักธุรกิจที่ไปยังนิวยอร์กและลอสแองเจลิสเหลือเพียงสัปดาห์ละ 10 เที่ยว จาก 14 เที่ยว บ่งชี้ว่าแม้แต่ผู้โดยสารกระเป๋าหนักยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

เจแปน แอร์ไลนส์ (เจเอแอล) และ ออล นิปปอน แอร์เวยส์ (เอเอ็นเอ) ของญี่ปุ่น ประกาศระงับและลดเที่ยวบิน รวมถึงเปลี่ยนไปใช้เครื่องที่มีขนาดเล็กลง

เจเอแอล สายการบินใหญ่ที่สุดของเอเชีย แจงว่า จะลดเที่ยวบินจากโตเกียวไปนิวยอร์ก กรุงเทพฯ และโซล ตั้งแต่ปลายเดือนหน้า และระงับเที่ยวบินจากโอซากาไปลอนดอน รวมทั้งมีแผนลดจำนวนที่นั่งโดยการใช้เครื่องบินขนาดเล็กลงในเส้นทางอื่นๆ เช่น โตเกียวไปซิดนีย์ ชิคาโก และลอสแองเจลิส

ส่วน เอเอ็นเอ สายการบินอันดับสองของญี่ปุ่น จะหยุดใช้เครื่อง 747 กับเที่ยวบินจากโตเกียวไปปารีสและแฟรงก์เฟิร์ต ปลายปีนี้ และใช้เครื่องบินขนาดเล็กลงในเส้นทางโตเกียว-วอชิงตัน

จิโอวานนี บิซิญญานี ผู้อำนวยการใหญ่และซีอีโอของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ชี้ว่า ปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่การบินระหว่างประเทศประสบปัญหาหนักหนาสาหัสที่สุด

หลายปีมานี้เอเชีย-แปซิฟิก เคยเป็นตลาดที่โตเร็วมาก แต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยอดการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศของสายการบินในภูมิภาคนี้กลับลดลง 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2007 ถือเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แม้อันที่จริงแล้วมีเพียงสายการบินในละตินอเมริกาและตะวันออกกลางเท่านั้นที่ยังมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ข้อมูลของไออาตา ยังระบุว่า สายการบินเอเชียที่ครองส่วนแบ่ง 45% ในการขนส่งสินค้าทั่วโลก มีปริมาณการขนส่งลดลงถึง 26% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการลดลงหนักกว่าอัตราการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกที่ลดลงเพียง 22.6%

ยูซูฟแห่งเอสแอนด์พี สำทับว่า การลดลงของจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่สายการบินจะต้องปลดพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดจนถึงต้องหาทางจัดการกับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ต้องจอดทิ้งไว้เพราะจำนวนผู้โดยสารลดลง

เอสไอเอนั้นมีทางเลือก คือ ขาย ให้เช่า หรือจอดทิ้งไว้ชั่วคราว อย่างไรก็ดี โฆษกของสายการบินเสริมว่า จะยังคงเร่งการส่งมอบตามคำสั่งซื้อที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งรวมถึงแอร์บัส เอ380 อันเป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นใหญ่ที่สุดในโลก 13 ลำ และเอ 330 อีก 18 ลำ รวมทั้งโบอิ้ง บี787 จำนวน 9 ลำ เพื่อปลดระวางเครื่องเก่า

ส่วนทาง แควนตัส สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ได้ระงับใช้เครื่องบิน 10 ลำ และยกเลิกแผนเช่าซื้อเครื่องบินใหม่ในเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งยังระงับแผนขยายเส้นทางบินภายในประเทศทั้งของแควนตัสเองและเจ็ตสตาร์ ที่เป็นสายการบินโลว์คอสต์ในเครือ

สำหรับ คาเธ่ย์ แปซิฟิค แห่งฮ่องกง ต้องเจอสถานการณ์ยอดผู้โดยสารลด 0.3% ในเดือนธันวาคม ทำให้ต้องลดราคาตั๋วเพื่อรักษารายได้ หลังจากจำนวนผู้โดยสารในเดือนก่อนหน้านั้นลดไปแล้ว 2.2% ขณะที่ธุรกิจขนส่งสินค้าดิ่งลงถึง 23.9% ในเดือนส่งท้ายปี 2008 จนต้องตัดสินใจเลื่อนโครงการเปิดเทอร์มินัลขนส่งสินค้าแห่งใหม่ในสนามบินนานาชาติฮ่องกงออกไปอีกสองปี

ที่ไต้หวัน สองสายการบินใหญ่ ไชน่า แอร์ไลนส์ และอีวา แอร์เวยส์ เผยว่าการเปิดเที่ยวบินตรงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้เป็นอย่างดี

สำหรับสายการบินที่ไม่โชคดีแบบนี้ ศูนย์เพื่อการบินเอเชีย-แปซิฟิก มองว่า ทางเลือกหนึ่งที่ต้องเลือกคือการควบรวมกิจการ โดยคาดว่าสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบและสายการบินโลว์คอสต์บางแห่งจะพยายามสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ขึ้นมาในปีนี้ ตั้งแต่การผนวกการดำเนินงานไปจนถึงการซื้อกิจการ

อย่างไรก็ดี งานวิเคราะห์ชิ้นนี้ เตือนว่า ความพยายามเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะล้มเหลว เนื่องจากอุตสาหกรรมสายการบินมีกฎระเบียบควบคุมเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น