เอเอฟพี – นักวิจัยชาวสวิส และออสเตรเลียเผยชาวอังกฤษซึ่งเป็นเหยื่อหายนภัยเรือไททานิกล่มเมื่อปี 1912 อาจจมน้ำเสียชีวิตไปกับเรือ เนื่องจากความเป็นผู้ดีที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย
หลังจากการตรวจสอบปูมหลังทางเศรษฐกิจ และสังคมของผู้โดยสาร 2,200 คน และลูกเรือบนเรือเดินสมุทรขนาดมหึมา บรูโน เฟรย์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวซูริก และเพื่อนร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ก็พบว่า ชาวอังกฤษที่อยู่บนเรือไททานิกซึ่งรอดชีวิตนั้นน้อยกว่าผู้โดยสารชาติอื่นๆ 10%
ทีมนักวิจัยชี้ว่า มารยาทงาม หรือความเชื่อว่าผู้มั่งคั่งจะช่วยเหลือผู้ด้อยกว่า ต้องเป็นปัจจัยหนึ่งในระหว่างที่ผู้โดยสารทุกคนเร่งรีบหาเรือช่วยชีวิต
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาชิ้นใดที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วสรุปได้ว่า บรรทัดฐานทางสังคม เช่น ผู้หญิงและเด็กก่อน จะทำให้รอดชีวิตในสถานการณ์ บนเรือไททานิค ในช่วง 3 ชั่วโมงหลังจากชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง
ขณะที่พวกเขายังพบว่า ชาวอเมริกันมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าชนชาติอื่นๆ เมื่อเรือสำราญลำนี้ค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก
เฟรย์กล่าวว่า “เรารู้สึกสนใจว่าผู้คนปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่ออยู่ในเหตุการณ์เป็นหรือตาย”
ทั้งนี้ เรือไททานิกมีเรือช่วยชีวิตไม่เพียงพอ และทำให้มีผู้คนต้องทิ้งชีวิตไว้ที่มหาสมุทรกว่า 1,500 คน เมื่อเรือที่เลื่องลือกันว่าไม่มีวันจม กลับล่มในการเดินทางข้ามมหาสมุทรครั้งแรก
นอกจากนี้ การศึกษาของเฟรย์ และคณะยังพบว่า ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ได้เปรียบกว่า ขณะที่ผู้หญิงทั้งหมด มีโอกาสรอดชีวิต 53% ทว่า โอกาสที่เด็กจะรอดชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่มีเพียง 15% เท่านั้น
ขณะที่ลูกเรือมีความเป็นไปได้ที่จะรอดชีวิตสูงกว่าผู้อื่น 18% อาจเป็นเพราะความได้เปรียบเรื่องข้อมูล และรู้เรื่องบนเรือดีกว่า เช่น สถานที่เก็บเรือช่วยชีวิต
อย่างไรก็ตาม สมรรถภาพทางร่างกาย และพื้นฐานทางสังคมก็ยังมีส่วนสำคัญในโอกาสรอดชีวิต ขณะที่ชนชั้นเป็นปัจจัยที่เด่นชัด
ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้โดยสารชั้นหนึ่งที่ร่ำรวยมีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากกว่าผู้โดยสารชั้นสามถึง 40% เนื่องจากพวกผู้โดยสารระดับล่างถูกกันให้อยู่ในห้องที่ลึกลงไปในตัวเรือ และยากที่จะฝ่าฟันมาถึงดาดฟ้าเรือได้