เอเอฟพี - อิสราเอลเริ่มต้นศักราชใหม่ปี 2009 ด้วยการโจมตีทางอากาศละรอกล่าสุดถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสบนพื้นที่ความขัดแย้งฉนวนกาซา ส่วนยอดผู้เสียชีวิตทะยานสู่ 400 ศพแล้ว ขณะที่ข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราวของนานาชาติล้มเหลว
เข้าสู่วันที่ 6 แล้วสำหรับปฏิบัติการโจมตีทางทหารครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของอิสราเอลบนฉนวนกาซา ขณะที่กลุ่มฮามาสยิงจรวจตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกล่าวว่า โจมตีทางอากาศถล่มดินแเดนดังกล่าวตลอดทั้งคืนกว่า 20 ครั้ง
ล่าสุดมีรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจาก "ภารกิจนำร่องครั้งนี้" ทะยานสูงถึง 400 ศพแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน เมาวิยา ฮัซซานิน ผู้อำนวยการหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินในกาซาบอกเอเอฟพี โดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานว่า อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตคือพลเรือน
อิสราเอลเริ่มเปิดฉากถล่มกลุ่มฮามาสทางอากาศอย่างหนักหน่วงเมื่อวันเสาร์ (27) ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ที่กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ยิงจรวดโจมตีอิสราเอลจากที่มั่นในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นส่วนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนหน้านั้นอิสราเอลปิดตายพรมแดนรอบด้าน นับตั้งแต่กลุ่มเคลื่อนไหวหัวรุนแรงฮามอส ยึดครองเขตกาซาในเดือนมิถุนายน 2004 มิหนำซ้ำยังจำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยอนุญาตให้รถบรรทุกความช่วยเหลือเพียงไม่กี่สิบคันซึ่งแทบไม่เพียงพอ ข้ามผ่านพรมแดนของประเทศ เพื่อเข้าไปบรรเทาความอดอยากและโรคภัยต่างๆ อันมหาศาลในหมู่ชาวปาเลสไตน์
กองทัพแถลงว่า จรวดอีก 5 ลูกของกลุ่มฮามาส ตกลงบนอาณาเขตของอิสราเอล โดยตั้งแต่วันเสาร์ (27) กลุ่มฮามาสยิงจรวดเข้ามาแล้วกว่า 250 ลูก คร่าชีวิตชาวอิสราเอล 4 คน
กลุ่มฮามาสประกาศกร้าวจะปักหลักสู้ "จนลมหายใจสุดท้าย" หากอิสราเอลเคลื่อนกำลังโจมตีภาคพื้นดินตามคำขู่
รัฐยิวเริ่มระดมรถถังและกำลังพลประชิดแนวพรมแนว ขณะที่เอฮุด บารัค รัฐมนตรีกลาโหมออกคำเตือนย้ำจะโจมตีภาคพื้นดินเพื่อสมทบปฏิบัติการทางอากาศ
เมื่อวานนี้ (31) รัฐบาลความมั่นคงของอิสราเอลปฏิเสธข้อเรียกร้องหยุดยิงจากนานาชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเอฮุด โอล์เมิร์ตกล่าวว่า สภาพการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ล่วงเลยถึงจุดที่จะต้องประกาศหยุดยิง
ผู้นำและนักการทูตนานาชาติ ต่างพยายามหาหนทางยุติการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งสร้างแรงโกรธกริ้วลุกลามทั่วโลกมุสลิม
วานนี้ (31) ลิเบียนำเสนอร่างมติของสันนิบาตชาติอาหรับต่อคณะมนตรีความมั่นยูเอ็น โดยเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที แต่ถูกสหรัฐฯ และฝรั่งเศส 2 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีฯ วิจารณ์ว่า ร่างมติดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะไม่พูดถึงการยิงจรวดโจมตีของกลุ่มฮามาสเลย