เอเอฟพี – คำแนะนำแปลกๆ ของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าชาวออสเตรเลียควรบริโภคเนื้อจิงโจ้ แทนเนื้อวัว และเนื้อแกะ เพิ่งผ่านการอนุมัติจากที่ปรึกษาด้านการต่อสู้ภาวะโลกร้อนระดับสูงของรัฐบาล
ศาสตราจารย์ รอส การ์โนต์ ระบุไว้ในรายงาน 600 หน้า ที่ยื่นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ว่า การเรอและการผายลมของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มหลายล้านตัวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจก ขณะที่จิงโจ้ปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การ์โนต์ ชี้ว่า หากชาวนาชาวไร่ถูกนับรวมในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซที่พวกเขาผลิตออกมา จะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนนิสัยการกิน โดยแนะว่าเนื้อจิงโจ้เคยเป็นแหล่งอาหารหลักมานับ 60,000 ปี
เขาได้อ้างการศึกษา ที่มองประสิทธิภาพการใช้จิงโจ้แทนแกะและวัวเพื่อผลิตเนื้อในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของออสเตรเลีย ซึ่งเลี้ยงจิงโจ้เป็นผลผลิตแล้ว ทั้งยังระบุว่าภายในปี 2020 จำนวนวัว และแกะอาจจะลดลง 7 ล้าน และ 36 ล้านตัวตามลำดับ ส่วนจิงโจ้จะเพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านเป็น 240 ล้านตัว ซึ่งจะมีกำไรมากกว่าหากราคาการอนุญาตปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รายงานของการ์โนต์ ยังระบุว่า ปศุสัตว์ โดยเฉพาะวัว และ แกะ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 67% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมด