เอเอฟพี - รัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษกำลังร่างกฎหมายเพื่อยุติการกีดกันผู้นับถือคริสต์นิกายคาทอลิกไม่ให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ และจะยกเลิกการพิจารณาลำดับขององค์รัชทายาทโดยให้สิทธิเพศชายก่อนด้วย โดยจะนำกฎหมายสำคัญดังกล่าวเข้าสู่สภาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์การ์เดียนฉบับวันพฤหัสบดี (25)
แม้ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีของกอร์ดอน บราวน์ จะไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด ทว่า แจ๊ค สตรอว์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า รัฐบาลนั้น “พร้อมที่จะพิจารณา” ทบทวนกฎหมาย “คร่ำครึ” ที่ห้ามกษัตริย์นับถือนิกายคาทอลิก
นอกจากนั้น ยังมีคำร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว และพวกนักวิจารณ์ก็โจมตีมาตลอดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสิทธิปี 1688 พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ปี 1700 และพระราชบัญญัติสหภาพผนวกอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์ ปี 1706 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ และหากองค์รัชทายาทเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับผู้นับถือนิกายคาทอลิก ก็จะถูกตัดสิทธิในการขึ้นครองราชสมบัติทันที
ในปีนี้เอง หญิงชาวคาทอลิกผู้หนึ่งได้เข้าพิธีหมั้นกับเจ้าชายปีเตอร์ ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และเธอจะต้องยอมเปลี่ยนมานับถือนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ ก่อนที่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรส มิฉะนั้นแล้วเจ้าชายฟิลลิปส์ก็จะต้องเสียสิทธิในการเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ไป
เดอะการ์เดียน รายงานด้วยว่า จะมีการแก้ไขข้อความในกฎหมายเดิมที่ระบุว่า องค์รัชทายาทเพศชายพระองค์แรกคือผู้ที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ซึ่งจะมีผลในกรณีที่เจ้าชายวิลเลียม องค์รัชทายาทในลำดับที่ 2 เวลานี้ เกิดทรงมีพระกุมารองค์โตเป็นพระธิดา พระธิดาพระองค์นี้ก็มีสิทธิขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีได้ ไม่ว่าในเวลาต่อมาเจ้าชายวิลเลียมยังจะมีพระโอรสหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในรายงานสรุปของรัฐสภาซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมก็เตือนด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว “อาจทำให้เกิดประเด็นถกเถียงในเรื่องรัฐธรรมนูญอันซับซ้อนอย่างยิ่ง” เพราะการพยายามคลี่คลายประเด็นระหว่างศาสนากับการเมืองนั้นยังมีปัญหาอยู่มากในเนื้อหาใจความของรัฐธรรมนูญอังกฤษ นั่นก็คือ บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์ประมุขแห่งคริสต์จักรแองกลิกัน (เชิร์ช ออฟ อิงแลนด์)