xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิตาชิ” จัดโครงการเยาวชนผู้นำครั้งที่ 9 เพื่อสร้างผู้นำในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์บัมบัง ซูดิบโย รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาแห่งชาติของอินโดนีเซีย
ผู้จัดการออนไลน์ - บริษัท ฮิตาชิ ผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น จัดโครงการผู้นำเยาวชนฮิตาชิ ครั้งที่ 9 (Hitachi Young Leaders Initive) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา (7-11) ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กิจกรรมดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

โครงการเยาวชนผู้นำฮิตาชิ (เอชวายเอลไอ) เป็นพันธสัญญาที่ฮิตาชิมีต่อเอเชีย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1996 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเยาวชนผู้มีศักยภาพ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของภูมิภาค ตลอดจนสร้างความสามัคคีในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดเวทีให้นักศึกษา 4 คน ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ อินโดนีเซีย,ญี่ปุ่น,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์,ไทย และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 28 คน มีโอกาสได้ระดมความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ในระดับโลกและภูมิภาค ทั้งยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญพิเศษ ทั้งจากภาครัฐ ธุรกิจและวิชาการ ตลอดจนเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และร่วมทำกิจกรรมเพื่อชุมชน โครงการนี้จัดขึ้นต่อเนื่องประจำทุกปี โดยมีการผลัดเปลี่ยนสถานที่จัดงานและหัวข้อการประชุมไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ณ กรุงจาการ์ตา ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายพันธมิตรเอเชีย ด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการพลังงาน”

โครงการครั้งนี้ มีนิสิตนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการ 4 คน คือ ศิริศิลป์ กองศิลป์ นักศึกษาปี 2 วิชาเอกซอฟต์แวร์และความรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,ดล สืบสันติกุล นักศึกษาปี 2 โครงการหลักสูตรพิเศษเทคโนโลยีการบิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,อรพิน เนื่องแก้ว นักศึกษาปี 3 สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเกวลิน โลวะจินังกูร นิสิตปี 3 วิชาเอกชีวะการแพทย์ คณะนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการของฮิตาชิครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน โดย 2 วันแรก เป็นการประชุมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการและผู้สนใจทั้งจากภาครัฐ ธุรกิจ เอ็นจีโอ สื่อมวลชนทุกแขนง นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังการบรรยายทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิ ในวันแรกของการประชุม (7) ศาสตราจารย์ บัมบัง ซูดิบโย รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาแห่งชาติของอินโดนีเซียเป็นผู้กล่าวบรรยายเปิดการประชุมในหัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายพันธมิตรเอเชีย ด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการพลังงาน”

จากนั้นเป็นการอภิปรายร่วมกันระหว่าง ดร.เซียลิโต เอฟ.ฮาบิโต อดีตเลขาธิการสำนักวางแผนเศรษฐกิจและสังคม และอธิบดีองค์การพัฒนาและเศรษฐกิจแห่งชาติของฟิลิปปินส์,ดร.ดิจส์มัน เอส.ซิมันดุนตัก ประธานคณะกรรมการอำนวยการมูลนิธิศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ของอินโดนีเซีย และเลือง วาน ทู อดีตรองรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม ในหัวข้อย่อยของการประชุมวันแรก คือ “การสร้างความเข้มแข็งในประชาคมเอเชียตะวันออก : โอกาสและความท้ายทาย” ผู้บรรยายทั้ง 3 คนที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยไม่เพียงแค่นำเสนอภาพรวม,ทฤษฎี,โอกาส และความท้าทายของประชาคมเศรษฐกิจเอเชียแล้ว ยังได้หยิบยกประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดจนทิ้งท้ายด้วยคำถามและข้อเสนอแนะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กลับไปคิดทบทวนเพื่อสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียอย่างยั่งยืนในอนาคต ก่อนจะเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมประชุมซักถามข้อสงสัย

ส่วนในภาคบ่ายของวันเดียวกันนี้ เยาวชนโครงการเอชวายเอลไอทั้ง 28 คน ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย เพื่อระดมความเห็นและสัมมนาเชิงปฏิบัติการใน 2 หัวข้อย่อยดังต่อไปนี้ “การสร้างประชาคมเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออก : ความท้าทายและโอกาส” และ “การบริหารจัดการพลังงานเพื่อความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออก”

ถัดมาในวันที่ 2 ของโครงการผู้นำเยาวชนฮิตาชิ (8) ซึ่งยังอยู่ในวาระการประชุม เริ่มต้นดวยการบรรยายทางวิชาการของ ศาสตรจารย์ ปูรโนโม ยุสจิอันโตโร รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุของอินโดนีเซีย ที่อธิบายภาพรวมสถานการณ์ด้านพลังงานของอินโดนีเซีย ทั้งยังเสนอแนวทางการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออก และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ซักถามข้อสงสัย จากนั้นเป็นการอภิปรายร่วมของดาโต๊ะ เปียน ซูโกร ประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติของมาเลเซียในหัวข้อ “การบริหารจัดการซัปพลายพลังงานอย่างยั่งยืน”, ดร.ชิเกรุ อาซูฮาตะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่บรรยายในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของฮิตาชิ ปี 2025 และแนวโน้มพลังงานโลก” และ ลี เหยิน ฮี ซีอีโอสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ในหัวข้อ “สิงคโปร์และการบริหารพลังงานอย่างยั่งยืน”

ในภาคบ่ายของวันเดียวกัน (8) เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีภารกิจต้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามกลุ่มย่อยที่แบ่งไว้เป็นวันที่ 2 โดยตลอดระยะเวลาสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อย่อยทางเศรษฐกิจและพลังงาน เยาวชนจะได้รับความรู้และคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองจาก ดร.อีมาน ซูเกมา ผู้อำนวยการศูนย์การประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์และการเงินระหว่างประเทศและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเกษตรศาสตร์บอกอร์ และ ตรี มุมปูนี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเงินเพื่อประชาชนและนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ช่วงค่ำเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมของเยาวชนจากทั้ง 7 ประเทศ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายของภูมิภาค

เช้าวันต่อมา (9) เยาวชนโครงการเอชวายเอลไอ ออกเดินทางไปยังอุทยานเมืองจำลอง (ตามัน มินิ อินโดนีเซีย อินดะห์) ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา อันเป็นสถานที่ซึ่งรวมรวมและจำลองบ้านเรือน,วัฒนธรรมความเป็นอยู่อันแตกต่างหลากหลายจากทั่วประเทศไว้ในสถานที่เดียวกัน เยาวชนมีภารกิจต้องร่วมกิจกรรมวอล์กแรลลี่ อันเป็นการสร้างความสามัคคีและเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซีย ส่วนในภาคบ่าย เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ต้องกลับเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้น

ในวันพฤหัสบดี (10) ตัวแทนเยาวชนโครงการฮิตาชิจากทั้ง 4 กลุ่ม มีโอกาสนำเสนอผลงานการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการตลอด 3 วันที่ผ่านมาในหัวข้อย่อยที่ได้รับมอบหมาย ต่อสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ ส่วนภาคบ่ายผู้เข้าร่วมโครงการได้เดินทางไปยังหมู่บ้านช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส (เอสโอเอสวิลเลจ) เขตชิบูบรูชานกรุงจาการ์ตา หมู่บ้านเด็กแห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 1984 โดยขณะนี้ต้องดูแลและอุปการะเด็กด้อยโอกาสราว 150 คน ภารกิจในหมู่บ้านเอสโอเอสแห่งนี้ เริ่มต้นกิจกรรมการต้อนรับ,การสำรวจบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน จากนั้นเป็นกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนโครงการฮิตาชิกับเด็กๆ ในหมู่บ้านเอสโอเอส ทั้งนี้ ภารกิจหลักที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องทำในกิจกรรมเพื่อชุมชน คือ การแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม เพื่อรับฟังปัญหาด้านทรัพยากรน้ำจากกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ ก่อนจะนำไปถ่ายทอดและนำเสนอการเรียนรู้เรื่องวัฏจักรน้ำและการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับเด็กๆ ในหมู่บ้านเอสโอเอสในวันถัดไป

เมื่อถึงวันสุดท้ายของกิจกรรม (11) เยาวชนโครงการฮิตาชิกลับไปยังหมู่บ้านดูแลอุปการะเด็กแห่งเดิมอีกครั้ง เพื่ออธิบายเรื่องวัฎจักรน้ำและซักซ้อมกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์น้ำแก่เด็๋กๆ ก่อนที่เยาวชนฮิตาชิและเด็กจากเอสโอเอสวิลเลจจะออกปฏิบัติภารกิจตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณรอบๆ จากนั้นก็ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้และอนุรักษ์น้ำของเยาวชนและเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาส ท้ายที่สุดเป็นการพิธีมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำเยาวชนฮิตาชิครั้งที่ 9

โครงการเยาวชนผู้นำฮิตาชิครั้งนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จุดเด่นของกิจกรรมดังกล่าวคือการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนชาวเอเชียแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ริวานา เมซายา นักศึกษาด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (ยูไอ) หนึ่งใน 28 เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการให้สัมภาษณ์ว่า เอชวายเอลไอ เป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่ง ที่สามารถรวบรวมโอกาสต่างๆ รวมไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคนรุ่นใหม่,การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น,ความเป็นมืออาชีพ,ทีมเวิร์ก,โอกาสในการทำงานด้านสังคม และมิตรภาพ ทั้งยังเปิดเวทีให้เยาวชนสามารถแสดงความห่วงใยและความเห็นอย่างเต็มที่ต่อประเทศและภูมิภาค

นอกจากนี้ ตัวแทนเยาวชนของแต่ละประเทศยังมีโอกาสได้รับฟังความเห็นและซักถามข้อสงสัยจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเป็นกันเอง อันเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก ดังเช่นที่ คาซูโนบู โคโน ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกกิจการพิเศษ สำนักงานธุรกิจสากลของบริษัทฮิตาชิให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในโครงการผู้นำเยาวชนฮิตาชิครั้งนี้ คือ การได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 8 คน รวมถึง 2 รัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย ที่ให้เกียรติบรรยายทางวิชาการกับเยาวชนและผู้เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม จากการเข้าร่วมและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กิจกรรมครั้งนี้มีจุดอ่อนบางประการ ดังเช่นที่เมซายา เยาวชนจากอินโดนีเซีย บ่นว่า ระยะเวลา 5 วันของโครงการนี้สั้นเกินไป จนทำให้เยาวชนต้องรีบเร่ง อีกประการหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการอดบ่นไม่ได้ คือสถานที่จัดงาน จริง ๆ แล้วภาพรวมของนครจาการ์ตาถือเป็นแดนสวรรค์แห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย มีเพียงเรื่องระบบขนส่งเพียงประการเดียวเท่านั้น ที่สร้างความไม่ประทับใจให้ผู้เข้าร่วมนัก เมื่อเทียบกับกิจกรรมในครั้งอื่นๆ ที่เยาวชนมีโอกาสได้เดินทางและทำความรู้จักกับประเทศที่จัดกิจกรรม แต่เนื่องด้วยพิษจราจรในจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่เลื่องลือทั่วโลก จึงทำให้ส่วนมากของกิจกรรมอยู่ในโรงแรมประการสุดท้าย คือโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น แต่มีประเทศจากเอเชียอาคเนย์เข้าร่วมเพียง 7 ประเทศ ยังไม่ครบทั้งภูมิภาค ยังขาดพม่า,กัมพูชา,ลาว และบรูไน ต่อข้อสงสัยนี้ โคโน ชี้แจงว่า การคัดสรรตัวแทนจากประเทศต่างๆ นั้น มาจากฐานการผลิตของฮิตาชิ และหากทางบริษัทมีโอกาสขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆ ตัวแทนเยาวชนในประเทศนั้นๆ ก็จะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างแน่นอน

ในภาพรวมแล้ว โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและเป็นบันไดก้าวสำคัญสำหรับเยาวชนในการพัฒนาตนเองและเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตของภูมิภาค นางสาวอรพิน เนื่องแก้ว เป็นนักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนประเทศไทยชวนเชิญเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมผู้นำฮิตาชิในปีต่อๆ ไป ว่า “อยากให้น้องๆ หรือเพื่อนๆ ให้ความสนใจกับโครงการนี้มากๆ เพราะประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากจริงๆ คะ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และก็ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับได้เพื่อนใหม่ไปในตัวด้วยคะ”
ศาสตรจารย์ปูรโนโม ยุสจิอันโตโร รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุของอินโดนีเซีย
นักศึกษาในขณะเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการ
ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
บรรยากาศระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ


กำลังโหลดความคิดเห็น