เอเอฟพี/เอเจนซี - เกาหลีเหนือส่งมอบรายละเอียดโปรแกรมนิวเคลียร์แล้วเมื่อวันพฤหัสบดี (26) เคลียร์เส้นทางการถอดชื่อออกจากบัญชีดำประเทศสนับสนุนก่อการร้ายของสหรัฐฯ ในความพยายามโน้มน้าวให้เปียงยางล้มเลิกพัฒนาระเบิดปรมาณู
6 เดือนที่เลยเส้นตาย ในที่สุดเกาหลีเหนือได้ส่งมอบเอกสารข้อมูลโครงการนิวเคลียร์ให้กับจีน เจ้าภาพของโต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 ชักชวนให้เกาหลีเหนือยุติผลิตอาวุธนิวเคลียร์แลกกับความช่วยเหลือทางการเงินและการยอมรับทางการทูต
ด้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ แสดงความยินดีอย่างระมัดระวังและเตือนเกาหลีเหนือซึ่งได้ทดสอบนิวเคลียร์เมื่อ 2 ปีก่อน จะต้องเผชิญกับผลต่อเนื่องหากว่าเปียงยางไม่เปิดเผยข้อมูลปฏิบัติการและการถอดรื้อโครงการนิวเคลียร์อย่างถูกต้องครบถ้วน
"ถ้าเกาหลีเหนือเลือกทางผิด สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในโต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายจะตอบโต้ตามนั้น" เขากล่าว ณ ทำเนียบขาวในวอชิงตันอย่างสั้นๆ หลังจากรายละเอียดข้อมูลถูกส่งมอบให้กับจีนแล้ว
"หากพวกเขาไม่เปิดเผยอย่างครบถ้วน ยุติแปรรูปพลูโตเนียมและพยายามแพร่ขยายระเบิดปรมาณู พวกเขาจะได้รับผลต่อเนื่องในภายหลัง" บุชกล่าว
เขาเตรียมเดินหน้าอย่างรวดเร็วในความมุ่งหมายถอดชื่อเกาหลีเหนือออกจากบัญชีประเทศสนับสนุนก่อการร้ายของสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องใช้เวลา 45 วัน และเตรียมประเทศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรภายใต้กฎการค้าสหรัฐฯ กับศัตรู
บุชยังยินดีกับกรณีที่เกาหลีเหนือทำลายอาคารหล่อเย็น ณ โรงงานนิวเคลียร์หลักยองบอน แต่กล่าวว่านี่เป็นแค่เพียงก้าวย่างเบื้องต้นของประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้เท่านั้นและยังมีอีกมากที่จำเป็นต้องทำ ส่วนอีกเรื่องที่บุชหวังเห็นความคืบหน้าคือเกาหลีเหนือจำเป็นต้องคลี่คลายปัญหาบาดหมางกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับการลักพาตัวชาวปลาดิบ
นักวิเคราะห์ มองว่า การเปิดเผยข้อมูลคือก้าวย่างสำคัญ แต่ยังมีความไม่แน่นอนว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่และชาติอื่นๆ มีความไว้วางใจเกาหลีเหนือมากแค่ไหน
"การเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ไม่รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์หรือจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ถูกต้องที่พวกเขามี นั่นคือความกังวลหลัก ส่วนเรื่องอื่นๆ คือเกาหลีเหนือได้ยุติปฏิบัติการโปรแกรมแปรรูปยูเรเนียมจริงหรือไม่และล้มเลิกอย่างไร" ลี ชุง มิน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยอนเซในกรุงโซลกล่าว "จนกว่า 2 ประเด็นนี้จะได้รับการตรวจสอบ ผมคิดว่ายังคงต้องรอก้าวย่างที่ 3 ในการเดินหน้าถอดรื้ออย่างสมบูรณ์"
จีน พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ เจ้าภาพโต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย เมื่อปีที่แล้วสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางพลังงาน การเงินและการยอมรับทางการทูตสำหรับตอบแทนการปิดโรงงานหลักและเปิดเผยปฏิบัติการในอดีตที่ผ่านมา
"เราเชื่อว่าเราต้อง...ตรวจสอบความสมบูรณ์และความละเอียดละออของเอกสารนี้ " รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างเยือนญี่ปุ่น "ยกตัวอย่างคือตรวจสอบจำนวนพลูโตเนียมที่เกาหลีเหนือยอมสละ เราได้รับเอกสารแล้ว แต่เราคาดหมายไว้ว่าต้องเข้าถึงแกนกลางเตาปฏิกรณ์" เธออ้างถึงโรงงานนิวเคลียร์ที่ยองบอน
แต่เดิมเกาหลีเหนือมีกำหนดต้องแจ้งรายละเอียดโครงการนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในช่วงสิ้นปี 2007 แต่ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเงิน ความช่วยเหลือ ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกมา ก่อนได้บทสรุปในวันนี้