xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ มาเลเซียหวังผ่อนแรงบีบระบุคุยกับ "รองฯ" เรื่องยกเก้าอี้ให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บาดาวี(ซ้าย)
เอเจนซี/เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี แห่งมาเลเซีย แถลงเมื่อวานนี้ (13) ว่า เขาบรรลุข้อตกลงเรื่องเวลาในการถ่ายโอนอำนาจให้แก่รองนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคแล้ว ถือเป็นการคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินมาหลายเดือน ขณะเดียวกันก็มีผู้คนนับพันออกมาเดินขบวนต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ก็มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า อับดุลเลาะห์จะถ่ายโอนอำนาจของเขาให้แก่รองนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ทว่ายังไม่มีความแน่นอนว่าการถ่ายโอนนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

"ดาโต๊ะ ศรี นาจิบและผมได้ตกลงเรื่องเวลาอันเหมาะสมที่จะถ่ายโอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้เขาแล้ว เราไม่มีปัญหาอะไรกันและเราก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน" สำนักงานเบอร์นามาของทางการอ้างคำพูดของอับดุลเลาะห์ ที่กล่าวกับพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลในรัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

นอกจากแรงกดดันอันหนักหน่วงภายในพรรคที่ต้องการให้เขาออกจากตำแหน่ง หรืออย่างน้อยก็มีแผนการในเรื่องนี้ที่ชัดเจนแล้ว เวลานี้อับดุลเลาะห์ยังกำลังเผชิญกับความโกรธแค้นของประชาชน ซึ่งไม่พอใจการขึ้นราคาน้ำมันอย่างฮวบฮาบของรัฐบาลเมื่อไม่กี่วันก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลบอกว่า จำต้องลดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ

การปรับขึ้นราคาน้ำมันไปถึง 41% ของรัฐบาลคราวนี้ แม้จะพ่วงด้วยมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน ก็ยังคงถูกโจมตีว่าสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชน และมีความเคลื่อนไหวมาหลายวันแล้ว โดยเฉพาะจากพวกพรรคฝ่ายค้านที่จะจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

เมื่อวานนี้ (13) ภายหลังประชาชนของประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เสร็จสิ้นการทำละหมาดใหญ่วันศุกร์ในตอนเที่ยง ก็ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งรอยเตอร์บอกว่ามีหลายร้อยคน ขณะที่เอเอฟพีให้ตัวเลขว่ามีราว 2,000 คน ขบวนไปตามท้องถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาควบคุมราคาน้ำมันอย่างเดิมหรือลาออกไป ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์

"นายกรัฐมนตรีจงพินาศ ประชาชนจงเจริญ" เหล่าผู้ประท้วงพากันตะโกนในขณะที่ออกจากมัสยิดในย่านยากจนของกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยในตอนแรกพวกเขามุ่งหน้าไปยังตึกเปโตรนาส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งนี้

แม้ว่าจำนวนคนที่มาร่วมประท้วงจะน้อยกว่า 20,000 คนที่กลุ่มผู้จัดหวังเอาไว้อย่างมากแต่กระนั้นก็ยังใหญ่กว่าการประท้วงอื่น ๆเท่าที่เคยมีมา การเดินขบวนจบลงอย่างสงบหลังจากที่ตำรวจสกัดมิให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวเข้าไปในย่านใจกลางเมือง พวกเขาก็เลยสลายตัวกันที่หน้าสำนักงานของพรรคปาร์ติ อิสลาม เซมาเลเซีย (ปาส) ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ประสานงานการประท้วง

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียที่ประกาศขึ้นราคาน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีอินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย ศรีลังกา ซึ่งต่างก็ทำให้ประชาชนโวยวายด้วยความไม่พอใจกันอย่างมาก ทั้งนี้การประท้วงเรื่องน้ำมันแพงได้ปะทุขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะแถบเอเชีย ทว่าไล่ตั้งแต่ประเทศไทยยันไปจนสเปนกันเลยทีเดียว

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าอับดุลเลาะห์จะส่งมอบอำนาจในนาจิบเมื่อไร ทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ

การประท้วงนับเป็นบททดสอบทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับอับดุลเลาะห์ผู้ซึ่งกำลังดิ้นรนจากแรงกดดันของพรรคร่วมรัฐบาลให้เขาลาออก หลังจากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อับดุลเลาะห์เองก็พยายามทำให้ประชาชนบรรเทาความโกรธแค้นลงโดยการให้คำมั่นว่าจะไม่มีการขึ้นราคาน้ำมันในปีนี้อีกแล้ว เขายังได้ประกาศลดเงินเดือนของบรรดารัฐมนตรีลง อันเป็นหนึ่งในมาตรการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของมาเลเซีย หนึ่งในผู้ที่ออกมาส่งเสียงก็คืออดีตรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม เขาตั้งคำถามว่ามาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิรายหนึ่งในเอเชีย ทำไมต้องขึ้นราคาน้ำมันในประเทศด้วย เพราะว่าทุกครั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเลเซียจะมีรายได้เข้าประเทศถึง 250 ล้านริงกิต

ตอนนี้ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่พอใจต่อเปโตรนาส บริษัทน้ำมันของรัฐบาลมาเลเซียที่ได้กำไรจำนวนมหาศาลในจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นมาก แต่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนในสภา กลับไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือทำให้เปโตรนาสกระจายส่วนแบ่งนั้นให้กับคนทั้งประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น