xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมปักกิ่งจึงไม่สามารถยึดกุมทิเบตไว้ได้อย่างมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: Pallavi Aiyar

Why Beijing just can’t grasp Tibet
By Pallavi Aiyar
9/04/2008


ปักกิ่งวาดหวังมาหลายปีแล้วว่า ความรุ่งเรืองมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ชาวทิเบตเชื่อมั่นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต่างหาก ไม่ใช่ ทะไลลามะ เลย ที่สามารถให้หลักประกันว่าชีวิตจะดีขึ้นไปกว่านี้ ความเข้าใจผิดเช่นนี้เองนำไปสู่การไร้ความสามารถที่จะรู้ซึ้งถึงสังคมซึ่งให้ความสำคัญแก่จิตใจมากกว่าวัตถุ ชาวทิเบตโดยเฉลี่ยยังคงเชื่อว่า ทะไลลามะคือองค์อวตารของพระโพธิสัตว์ และความเชื่อเช่นนี้จะไม่อาจลบล้างไปด้วยมาตรการอุดหนุนทางเศรษฐกิจหรือขบวนรถไฟ

ปักกิ่ง – ในระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา คณะผู้นำจีนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถอันโดดเด่นในการตอบสนองต่อภาวการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป พรรคคอมมิวนิสต์จีน(ซีซีพี)ที่เป็นผู้ปกครองประเทศจีนเวลานี้ แสดงให้เห็นถึงการเล็งผลในทางปฏิบัติและความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้พรรคยังสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้ ทั้งที่ม่านเหล็กแห่งอดีตสหภาพโซเวียตได้ฉีกแหว่งทลายลงมา ในอาณาบริเวณใหญ่ๆ หลายส่วนตามแนวชายแดนของจีน

ทว่าขณะที่ซีซีพีแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความชำนาญในการจับปัญหาและเข้าใจปัญหาต่างๆ อันหลายหลากจำนวนหนึ่ง –ตั้งแต่ความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างคึกคักแข็งขัน ไปจนถึงความจำเป็นที่จะต้องรับประกันให้มีการเจริญเติบโตอย่างสมดุลกันระหว่างเขตชนบทกับเขตตัวเมือง -ทิเบตกลับยังคงเป็นจุดอ่อนที่อาจเป็นอันตรายยิ่งของจีน

ภายหลังช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ค่อนข้างเงียบสงบในทิเบต การประท้วงตามพื้นที่ต่างๆ ของชาวทิเบตในประเทศจีนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ปะทุขึ้นมาโดยปักกิ่งไม่ทันระวังตั้งตัว หลังจากการจลาจลหลายครั้งในทศวรรษ 1980 ยุทธศาสตร์ต่อทิเบตของซีซีพี ก็คือยุทธศาสตร์ที่มุ่งจัดการอย่างรุนแรงกับพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ และเวลาเดียวกันก็พัฒนาภูมิภาคนี้ในทางเศรษฐกิจ ความหวังก็คือความรุ่งเรืองมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะผูกพันภูมิภาคซึ่งเกิดความไม่สงบอยู่เสมอนี้ ให้เข้าใกล้ชิดกับส่วนกลางมากขึ้น และทำให้ชาวทิเบตเชื่อมั่นว่า พรรคซีซีพีต่างหาก ไม่ใช่ทะไลลามะเลย ที่สามารถให้หลักประกันแก่พวกเขาได้ว่าชีวิตจะดีขึ้นยิ่งกว่าในอดีต

การเปิดทางรถไฟสายปักกิ่ง-ลาซา เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างอันเป็นข่าวดังเอิกเกริกของแนวทางเช่นนี้ ทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็นหลักฐานของการที่ปักกิ่งรู้สึกมั่นอกมั่นใจต่อความสำเร็จในมาตรการต่างๆ ของตน เขตปกครองตนเองทิเบตค่อยๆ เปิดประตูให้แก่การท่องเที่ยว และวัดวาต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งบ่มเพาะพวกไม่พอใจทางการ ก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สาธิตให้เห็นว่าทางการผู้มีอำนาจของจีนประสบความไม่ล้มเหลว ไม่สามารถอ่านชีพจรของชาวทิเบตให้ถูกต้องได้ ความล้มเหลวดังกล่าวนี้นำไปสู่การไร้ความสามารถที่จะทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งต่อสังคมซึ่งให้ความสำคัญแก่จิตใจมากกว่าวัตถุ

ไม่ว่าในระดับภายในประเทศ ทะไลลามะจะถูกวาดภาพให้กลายเป็น “นักแบ่งแยกดินแดน”ผู้ชั่วร้ายไปอย่างไรก็ตาม คนทิเบตโดยเฉลี่ยก็ยังคงเชื่อว่าผู้นำทางจิตใจองค์นี้คือองค์อวตารของพระโพธิสัตว์ และเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถลบล้างไปได้ด้วยมาตรการอุดหนุนทางเศรษฐกิจหรือขบวนรถไฟ ด้วยเหตุนี้ ปัญหาเรื่องทิเบตจึงไม่ใช่เรื่องของ “เอกราช” ดังที่มักถูกใส่ความกันจนเป็นธรรมดาไปแล้ว หากแต่เป็นเรื่องของเสรีภาพในการเลื่อมใสศรัทธาและเคารพบูชา ในทิเบตนั้น เสรีภาพดังกล่าวนี้มีความหมายเท่ากับการมีสิทธิที่จะเคารพบูชาทะไลลามะ

ในทิเบต ความเคร่งครัดศรัทธาทางศาสนามีลักษณะเหมือนกับเป็นสัญชาตญาณ หลักฐานของเรื่องนี้เห็นได้จากบรรดาธงมนตราปลิวไสวที่ขึงแขวนกันตามวัตถุติดพื้นดินทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะคิดนึกกันออก, กลิ่นของธูปและตะเกียงเนยจามรีที่อลอวลอยู่ในอากาศ, และเสียงหมุนกงล้อมนตราของเหล่าผู้แสวงบุญ ซึ่งเดินเวียนรอบๆ วัดวาต่างๆ ของนครลาซาในทุกๆ เวลาของแต่ละวัน ยิ่งกว่านั้น ความเคร่งครัดศรัทธาในศาสนานี้เองที่ทำให้ทิเบตแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของจีน ซึ่งห่างไกลจากศาสนาอย่างชวนให้สะดุ้ง

กระทั่งก่อนที่คอมมิวนิสต์จะขึ้นครองอำนาจในปี 1949 ซึ่งหลังจากนั้นการเคารพบูชาทางศาสนาก็ถูกโจมตีว่าเป็นความเชื่อไสยศาสตร์งมงายของยุคศักดินา ศาสนาภายในดินแดนส่วนที่เป็นชาวฮั่นของจีน ก็มีองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากในทิเบตอยู่แล้ว ลัทธิขงจื้อและปรัชญาของพวกสำนักนิติธรรม มีอิทธิพลยิ่งในการก่อรูปแบบวิธีซึ่งครอบงำเหนือแนวความคิดของคนจีน และแบบวิธีเหล่านี้ก็แทบไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องอภิปรัชญาหรือพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดนัก หากแต่ปักหลักมั่นคงกับเรื่องของที่นี่และเดี๋ยวนี้

พุทธศาสนา ที่เข้ามาสู่จีนจากอินเดียเมื่อคราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 จัดเป็นข้อยกเว้นสำหรับประเพณีดั้งเดิมทางแนวคิดแบบจีน โดยที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเพณีทางแนวคิดของจีนนั้นย่อมเน้นย้ำในเชิงผลทางการปฏิบัติมากกว่าในเชิงจิตใจ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาก็ไม่เคยสามารถขึ้นครองฐานะสูงสุดอย่างชัดเจน ภายในโครงสร้างความเชื่อของคนจีน

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามที ประวัติศาสตร์ทางความคิดปรัชญาและศาสนาซึ่งมีลักษณะทบซ้อนกันชั้นแล้วชั้นเล่าของจีนเช่นนี้ ก็ถูกฉีกขาดแหว่งวิ่นอย่างฉับพลันรุนแรงในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-71) โดยภายหลังจากคำพูดชี้แนะที่ไม่มีใครทัดทานได้ของเหมาเจ๋อตุง วัดวาอารามและสถานที่เคารพบูชาต่างๆ ทั่วประเทศก็ถูกโจมตี พระสงฆ์ถูกจับมาเดินแห่แหนไปตามท้องถนนและถูกเฆี่ยนตี อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ต่างหากไม่ใช่ศาสนาเลย ที่ประชาชนได้รับการสอนสั่งและได้รับการคาดหมายให้เลื่อมใสศรัทธา

ช่วงเวลาภายหลังการปฏิรูปเปิดประตูประเทศ สิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ในหลายๆ มิติแล้ว ศาสนาใหม่ในจีนก็คือการเคารพบูชาธนาคารและเครื่องเอทีเอ็ม แต่ขณะที่ลัทธิบูชาเงินอาจจะเข้าแทนที่ความเร่าร้อนในทางอุดมการณ์กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว กระแสการฟื้นฟูศาสนาขึ้นมาใหม่อย่างจริงจังก็กำลังบังเกิดขึ้นมาด้วย อีกทั้งได้รับความยินยอมจากซีซีพี ถึงแม้โดยทางการแล้ว พรรคนี้เป็นอเทวนิยม ทว่าซีซีพีก็ได้แปรเปลี่ยนจากความเป็นนักปฏิวัติ กลายมาเป็นมหาอำนาจที่มุ่งรักษาสถานะเดิม และมองเห็นประโยชน์ของพวกปรัชญาโบราณดั้งเดิมอย่างเช่น ลัทธิขงจื๊อ และ พุทธศาสนา ซึ่งเน้นย้ำในเรื่องความกลมกลืนและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ถึงแม้เสรีภาพทางศาสนาในจีนกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ปักกิ่งก็ยังคงกำหนดขอบเขตอันเข้มงวด ให้การใช้ “เสรีภาพ” นี้สามารถกระทำภายในแวดวงที่ขีดไว้ให้เท่านั้น ซีซีพีคือคนคัดเลือกว่าใครจะได้เป็นสมภารเจ้าสำนักของวัดวาอาราม, สุเหร่ามัสยิด, และโบสถ์คริสต์ทั้งหลาย สถานที่เคารพบูชาทุกแห่งต้องจดทะเบียนไว้กับรัฐบาล ยิ่งกว่านั้น เสรีภาพทางศาสนาเช่นนี้จะได้รับอนุญาตตราบเท่าที่เหล่าผู้ศรัทธายังคงต้องยอมรับว่า คณะกรมการเมืองของพรรคต่างหาก ไม่ใช่ผู้นำของศาสนา คือผู้ทรงอำนาจสูงสุดของพวกเขา

ชาวคาทอลิก ซึ่งพระสันตปาปาที่กรุงโรมคือผู้ที่สามารถเรียกร้องการอุทิศตนชนิดล้ำเหนือเกินกว่าการควบคุมของคณะผู้นำซีซีพี จึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และสายสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวาติกันก็ถูกตัดขาดกันไปตั้งแต่ปี 1951 “คริสตจักรตามบ้าน” ของพวกนิกายโปรแตสแตนต์ ซึ่งเป็นการจัดชุมนุมกันอย่างไม่เป็นทางการของเหล่าผู้ศรัทธา ตามบ้านเรือนส่วนตัวหรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งอยู่นอกโบสถ์ที่ได้รับอนุญาตจากทางการ ก็อยู่ในฐานะล่อแหลมอาจถูกปราบปรามได้อย่างง่ายดาย

บรรดาสาวกของศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 ศาสนาซึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ –อันได้แก่ พุทธ, อิสลาม, เต๋า, โปรแตสแตนต์, และ ลัทธิคาทอลิกแบบจีน – จะถูกจับตามองด้วยความระแวงสงสัย

“ฉันพบว่าเป็นเรื่องลำบากมากที่จะบอกให้ใครฟังแม้กระทั่งเพื่อนๆ ของฉันเองว่าฉันเป็นมังสวิรัติ เพราะในสายตาของพวกเขาแล้ว การประพฤติมังสวิรัติจะทำให้ฉันดูเป็นพวกไม่อยู่ในกรอบในเกณฑ์ปกติ และดังนั้นจึงน่าระแวงสงสัย” เป็นคำบอกเล่าของคนจีนคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มรธา-สะโอมิ อันเป็นกลุ่มด้านจิตวิญญาณในภาคเหนือของอินเดีย

การที่ซีซีพีปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีการอุทิศตนแก่ศาสนา ยกเว้นแต่ในกรณีที่ยังยอมรับขึ้นต่อพรรคนี่เอง คือสิ่งที่บรรจุไว้ด้วยธรรมชาติอันแท้จริงของปัญหาเรื่องทิเบต ตลอดจนความเลื่อมใสที่ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลยของชาวทิเบตต่อทะไลลามะ

ในฤดูร้อนของปี 2006 ดิฉันได้ไปเยือนนครลาซา โดยร่วมอยู่ในคณะนักหนังสือพิมพ์ซึ่งขึ้นขบวนรถไฟสายปักกิ่ง-ลาซา เที่ยวแรก ทุกๆ หนแห่งที่ดิฉันเดินทางไปในเมืองนั้น ระลอกคลื่นแห่งความตื่นเต้นก็ดูจะแพร่กระจายออกไปเพียงเพราะสัญชาติอินเดียของดิฉันเท่านั้นเอง พ่อค้าแม่ค้าขายของที่ระลึกริมถนน, พระลามะในพระราชวังโปตาลา, เหล่ามัคคุเทศก์นำเที่ยวชมเขตนคร, ผู้จาริกแสวงบุญสูงอายุ สิ่งซึ่งบรรดาชาวเมืองลาซาอันแตกต่างหลายหลากสีสรรเหล่านี้มีอยู่ร่วมกันก็คือ ความปรารถนาที่จะพูดคุยกับดิฉันเกี่ยวกับทะไลลามะ

ด้วยดวงตาเบิกโพลงอย่างกระหายใคร่รู้ พวกเขาพากันถามว่า “คุณเคยไปที่ธรรมศาลาหรือเปล่า” ซึ่งหมายถึงสถานที่ตั้งรัฐบาลลี้ภัยของทะไลลามะในดินแดนอินเดีย “คุณเคยเข้านมัสการองค์มหาสมณเจ้าหรือไม่” หลายๆ คนอวดภาพถ่ายของผู้นำทางจิตใจผู้นิราศองค์นี้ ซึ่งพวกเขามีอยู่ในครอบครอง ถึงแม้การมีวัตถุบูชาดังกล่าวนี้เป็นการละเมิดคำสั่งห้ามของปักกิ่ง

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างกระจ่างชัดก็คือ เสรีภาพทางศาสนาในทิเบต เมื่อปราศจากเสรีภาพที่จะเลื่อมใสศรัทธาในทะไลลามะเสียแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย สำหรับพระลามะหลายร้อยรูปในทิเบตแล้ว การประณามทะไลลามะ องค์อวตารแห่งพระโพธิสัตว์ของพวกท่าน คือสิ่งที่พวกท่านถูกบังคับให้กระทำเป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากนั้นซีซีพียังแทรกตัวเองเข้าไปในพิธีกรรมทางศาสนาของคนทิเบตในด้านอื่นๆ อีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้เองปักกิ่งประกาศว่า พรรคเป็นผู้ทรงอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการอนุมัติรับรองเรื่องการกลับชาติมาเกิด -อันเป็นกระบวนการศักดิ์สิทธิ์ที่ทำการเลือกสรรว่าเด็กชายผู้ใดเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ ในคำปราศรัยครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว จางชิ่งหลี เลขาธิการพรรคสาขาเขตปกครองตนเองทิเบต ไปไกลถึงขั้นพูดว่า “คณะกรรมการกลางพรรคคือพระโพธิสัตว์ที่แท้จริงสำหรับชาวทิเบต”

ความเคืองแค้นอันดุเดือดรุนแรงซึ่งคำพูดดูหมิ่นศาสนาเช่นนี้จักก่อให้เกิดขึ้นภายในหัวใจของผู้เลื่อมใสศรัทธานั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ปักกิ่งไม่เข้าใจรู้ซึ้งเอาเลย

ในอินเดีย เพียงแค่การสังหารวัวตัวหนึ่งก็ทราบกันดีว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการจลาจลซึ่งมีคนตายกันหลายร้อย การตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อศาสดามุฮัมมัดเพียงสองสามภาพ ก็ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงไปทั่วโลก หลายๆ คนรู้สึกว่า การใส่ร้ายป้ายสีและการบังคับฝืนใจให้วิพากษ์วิจารณ์องค์ผู้นำทางจิตใจของชาวทิเบตอยู่เป็นประจำเช่นนี้ ก็ควรมองในบริบทเยี่ยงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในการจัดการกับ “ปัญหา” เรื่องทิเบต ก็คือการเฝ้ารอคอยให้ทะไลลามะถึงแก่มรณภาพ ด้วยความเชื่อว่าเมื่อปราศจากพระองค์แล้ว ชาวทิเบตก็จะมีความโน้มเอียงมากขึ้น ที่จะรวมศูนย์ความสนใจไปยังความรุ่งเรืองมั่งคั่งทางวัตถุซึ่งการปกครองของจีนให้คำมั่นสัญญาไว้ และให้ความสนใจลดน้อยลงกับการอุทิศตนเพื่อกษัตริย์-พระโพธิสัตว์ ซึ่งแทบไม่สามารถให้ผลตอบแทนอันจับต้องได้แก่พวกเขาเอาเลย

อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเรื่องจะเป็นไปในทิศทางดังกล่าวนี้ “พวกเรา [คนทิเบต]จะไม่ยอมถูกซื้อหรอก วิญญาณของพวกเราไม่ได้มีเอาไว้ขาย” เป็นคำพูดของชาวทิเบตคนหนึ่งซึ่งพำนักในปักกิ่ง

ลักษณาการที่ชาวทิเบตแสดงปฏิกิริยาต่อข้อวินิจฉัยทางศาสนาของปักกิ่งในระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่า ปักกิ่งจำเป็นจะต้องยอมรับเรื่องทางจิตใจของคนทิเบต มากกว่าที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงหรือปราบปรามกำจัดเรื่องนี้ให้จงได้

Pallavi Aiyar เป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังใกล้จะออกวางจำหน่าย ชื่อ Smoke and Mirrors: China Through Indian Eyes, Harper Collins (India), May 2008)
กำลังโหลดความคิดเห็น