xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาดรัฐสภาปากีฯ เลือกนายกรัฐมนตรีใหม่เป็นผู้ใกล้ชิดนางบุตโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซี - รัฐสภาปากีสถานในวันจันทร์ (24) โหวตเลือกนายยูซุฟ ราซา กิลานี รองหัวหน้าพรรคและผู้ใกล้ชิดของอดีตผู้นำฝ่ายค้านนางเบนาซีร์ บุตโต ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โฆษกสภาแห่งชาติกล่าว

กิลานี ได้รับเสียงสนับสนุน 264 เสียงจาก 342 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ชอดรี เปอร์วาอิซ เอลาฮี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ได้รับเพียง 42 เสียง ขณะที่มีจำนวนมากที่งดออกเสียง

"ยูซุฟ ราซา กิลานี ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่ กรุณาก้าวออกมาและรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาล" ประธานสภากล่าว ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนต่างตะโกน "บุตโต จงเจริญ" และ "มูชาร์ราฟ ออกไป ออกไป"

นายกิลานีเคยเป็นประธานรัฐสภาครั้งที่นางบุตโตดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยสอง นอกจากนี้เขาเคยถูกจำคุก 5 ปีในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบภายใต้รัฐบาลของมูชาร์ราฟ "วันนี้ ประเทศคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง ขอขอบคุณความเสียสละอย่างใหญ่หลวงของนางบุตโต" นายกิลานี กล่าวต่อรัฐสภาครั้งแรก

ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ของการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี มีกระแสข่าวว่า นายอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี สามีของนางบุตโต อยากจะดำรงตำแหน่งนี้เอง แต่เขาไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี

นักวิเคราะห์ มองว่า นายกิลานีซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจได้รับการวางตัวให้เป็นเพียงผู้นำขัดตาทัพเพื่อรอเวลาให้นายซาร์ดารีสามารถเข้าสู่รัฐสภาผ่านการเลือกตั้งซ่อม และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในภายหลัง

อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของ ซาร์ดารี ที่ปฏิเสธเรื่องนี้และบอกว่าเขาไม่สนใจงานนี้และกิลานีจะเป็นนายกรัฐมนตรี "สำหรับ 5 ปีและไม่ใช่แค่ 3 เดือน"

มูชาร์ราฟ สั่งปลดหัวหน้าผู้พิพากษาและผู้พิพากษาหลายสิบคนภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน หลังเกรงว่าศาลฎีกาอาจล้มผลการเลือกตั้งที่เขาชนะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย

"ถ้าเราต้องการทำให้ประเทศนี้ประสบความสำเร็จ เราต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อรัฐสภา เราต้องเคารพรัฐธรรมนูญและยึดถือกฎหมาย" กิลานีกล่าว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคนายนาวาซ ชารีฟ กล่าวว่า ผู้พิพากษาหลายคนที่ถูกกักบริเวณ รวมถึงหัวหน้าผู้พิพากษา อิฟติการ์ โมฮัมเหม็ด ชอดรี อาจได้รับการปล่อยตัวในขณะที่ กิลานี สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

กิลานี เคยติดคุกนานกว่าครึ่งทศวรรษในข้อหาคอร์รัปชั่น ที่เขาบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยรัฐบาลมูชาร์ราฟซึ่งต้องการดิสเครดิตเขา

นอกจากนี้กิลานียังเคยเป็นประธานรัฐสภาในสมัยที่นางบุตโตดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยสองระหว่างปี 1993 ถึง 1996 และเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยแรกของเธอระหว่างปี 1988 ถึง 1990
กำลังโหลดความคิดเห็น