เอเอฟพี/เอเจนซี - โคโซโวเริ่มต้นวันแรกแห่งการประกาศตนเป็นเอกราชวันจันทร์ (18) ขณะที่กรุงเบลเกรดของเซอร์เบียมีคนออกมาก่อจลาจลตามท้องถนน และแดนหมีขาวเรียกประชุมพิเศษคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อพยายามขัดขวางการแยกตัวครั้งนี้
ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาเฉลิมฉลองถึงดึกดื่นตามท้องถนนในกรุงพริสตินาเมื่อวันอาทิตย์ (17) เมื่อรัฐสภาโคโซโวลงมติอย่างเป็นทางการ ประกาศแยกตัวจากเซอร์เบีย
แต่ที่กรุงเบลเกรดของเซอร์เบีย ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้ก๊าซน้ำตาและไม้ตะบองสลายการชุมนุมกลุ่มวัยรุ่นราว 800 คน ที่ออกมาประท้วงโดยทำลายร้านแมคโดนัลด์ 2 แห่ง และร้านอาหารของสถานทูตสหรัฐฯและสโลวีเนีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปอยู่
เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเผยว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุจลาจลอย่างน้อย 50 คน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นตำรวจ 20 นาย แต่ไม่มีใครบาดเจ็บสาหัส
ชาวเซิร์บในโคโซโว ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในตอนเหนือของโคโซโว ไม่ยอมรับการแยกประเทศในครั้งนี้
ด้านประธานาธิบดีเซอร์เบีย บอริส ทาดิก ประกาศว่า "เซอร์เบียได้ตอบโต้และจะตอบโต้ด้วยทุกวิธีที่เน้นสันติ การทูต และชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ความเคลื่อนไหวที่สถาบันของโคโซโวสร้างข้อผูกพันขึ้นกลายเป็นโมฆะ"
นอกจากนี้ สำนักข่าวของทางการเซอร์เบียรายงานโดยอ้างคำแถลงของกระทรวงมหาไทยว่า ตำรวจของเซอร์เบียได้ตั้งข้อหาอาญาบรรดาผู้นำโคโซโวที่ "กระทำการประกาศเอกราชรัฐจอมปลอมในดินแดนเซอร์เบีย"
สำนักข่าวทันจัก รายงานว่า ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาคือ ประธานาธิบดีโคโซโว ฟัตมีร์ เซจดิว, นายกรัฐมนตรี ฮาชิม ธาชี และประธานรัฐสภา จาคัป คราสนิกี
รัสเซียขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือปัญหาดังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ แต่ก็ไม่สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากสมาชิกอื่นๆที่จะประกาศให้การประกาศเอกราชของโคโซโว "ไม่มีผลและเป็นโมฆะ"
จีนก็แสดงความ "วิตกเป็นอย่างยิ่ง" ต่อการที่โคโซโวประกาศเอกราชจากเซอร์เบียเพียงฝ่ายเดียว และเตือนว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้ประเทศในแถบคาบสมุทรบอลข่านเกิดความไร้เสถียรภาพอย่างร้ายแรงได้
ด้านสหรัฐฯ และมหาอำนาจในยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี น่าจะรับรองโคโซโวเป็นประเทศอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับสหภาพยุโรปโดยรวมนั้นสมาชิกยังมีความเห็นแบ่งแยกกันอยู่
รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรปประชุมกันวานนี้ เพื่อพิจารณาปฏิกิริยาของอียูต่อการประกาศเอกราชของโคโซโว
สโลวีเนีย ประธานอียู คาดว่า สมาชิกอียูจำนวนมากน่าจะรับรองประเทศใหม่นี้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีอิสระในการทำสิ่งประเทศนั้นพอใจ
โอลลี เรห์น กรรมาธิการด้านขยายสมาชิกของอียู ระบุว่า โคโซโวนั้นเป็นกรณีพิเศษไม่เหมือนใคร และไม่น่าจะเป็นแบบอย่างให้ดินแดนอื่นๆประกาศเอกราชตาม เขายังชื่นชมบรรดาผู้นำของโคโซโวที่เคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อย สอดคล้องกับแผนที่ร่างโดยมาร์ตตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์
เหล่านักการทูต ระบุว่า มหาอำนาจสำคัญๆในยุโรป ซึ่งก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี จะสามารถประกาศรับรองโคโซโวได้ทันทีหลังจากการประชุมของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯก็จะทำเช่นเดียวกัน
คาดว่าประเทศอื่นๆ ในอียูเกือบทั้งหมด น่าจะทำตามมหาอำนาจเหล่านั้นในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม มีประเทศอย่างน้อย 6 ประเทศ ซึ่งก็คือ ไซปรัส กรีซ สโลวาเกีย สเปน บัลแกเรีย และโรมาเนีย ได้แสดงท่าทีว่า พวกเขาจะยังไม่รับรองโคโซโวในตอนนี้ โดยให้เหตุผลเรื่องความชอบธรรมด้านกฎหมายที่โคโซโวประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียว หรือเรื่องความวิตกเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศตนเอง