xs
xsm
sm
md
lg

“แบร์ลุสโคนี” เตรียมคืนสู่เก้าอี้นายกฯ อิตาลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี
เฮรัลด์ทรีบูน - สำหรับ ซิลวิอา โตมัสซินี เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าบูติกในย่านเมืองโบราณกลางกรุงโรม ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี เป็น “คนหยิ่งยโส” ด้วยอายุที่มากถึง 71 ปีแล้ว เขาจึงแก่เกินไป แถมเขายังเป็น “นักการเมืองที่ประหลาดๆ ไม่เหมือนปกติธรรมดาหรอก” เธอบอกพร้อมกับชี้ว่า เขาเอาแต่ทำตัวเป็น “บรุตตา ฟิกูรา” ซึ่งพอจะแปลคร่าวๆ ได้ว่า คุณไม่อาจชี้ได้เลยว่าคนๆ นี้มีอะไรน่ารักบ้าง

กระนั้นก็ตามที เมื่ออิตาลีมีการเลือกตั้งกันอีกครั้ง (ซึ่งอาจจะจัดขึ้นในเร็ววันนี้ด้วย เพราะรัฐบาลแนวทางกลาง-ซ้ายของนายกรัฐมนตรี โรมาโน โพรดี เพิ่งล้มไปในสัปดาห์เศษที่ผ่านมา) โตมัสซินี ก็จะลงคะแนนให้แบร์ลุสโคนี

ผลโพลของสำนักต่างๆ ก็ชี้ว่า หลังจากสูญเสียเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาเกือบ 2 ปี แบร์ลุสโคนี น่าจะได้ชัยชนะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ในกรณีของ โตมัสซินี เธอไม่ได้รักไม่ได้ชอบเขาหรอก แต่คิดว่าเขาดูแลเอาใจใส่ประชาชนคนทำงาน บวกกับการที่เธอเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

“เขาไม่ใช่คนที่มีรสนิยมหรือวัฒนธรรมหรอก” เธอว่า “แต่เขาก็ยังดีกว่าพวกกลาง-ซ้าย”

ตอนที่ แบร์ลุสโลนี ซึ่งเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของอิตาลี รวมทั้งเป็นเจ้าพ่อสื่อ และเป็นผู้นำของฝ่ายกลาง-ขวา ชนะการเลือกตั้งในปี 2001 เขาให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่ดูใหม่สด นั่นคือ ในฐานะที่เขาเป็นผู้ประกอบการ และเป็นคนวงนอกที่ก้าวเข้ามาสู่การเมือง เขาจะทำให้การเมืองแดนสปาเก็ตตี้ซึ่งไม่ค่อยมีการขยับอะไรกันเลย ให้เกิดการลงมือทำและมีความหวัง

หลังจากผ่านชีวิตช่วง 5 ปี (มิ.ย.01-พ.ค.06) ที่ แบร์ลุสโคนี เถลิงอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี ชาวอิตาลีส่วนใหญ่ต่างทราบอย่างกระจ่างชัดว่า พวกเขาจะต้องเจอกับอะไร เวลานี้เขายังมีความแปลกใหม่น่าตื่นเต้นน้อยลง นอกจากแค่ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในวงการเมืองสปาเกตตี้ที่ไม่ค่อยมีอะไรให้ผู้ออกเสียงได้เลือกนัก อีกทั้งกำลังทำให้คนอิตาลีเกิดการแตกขั้วเป็น 2 ค่ายซึ่งต่างก็มีจำนวนและพลังใกล้เคียงกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน และอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านเขา

พวกที่คัดค้านเขานั้นรู้สึกใจหายในประเด็นที่ว่า ทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่ามันจะหมายความถึงอะไร ก็ยังมีคนอิตาลีคิดเลือกเขากันอีก บัญชีกล่าวโทษร้องเรียนแบร์ลุสโคนีนั้นยาวเป็นหางว่าว เริ่มตั้งแต่การพูดจาแบบโฉ่งฉ่างสาวหาว อย่างเช่น “ผมคือพระเยซูแห่งวงการเมือง” เขาเคยพูดเช่นนี้ในปี 2006 “ผมอุทิศพลีตัวผมเองให้แก่ทุกๆ คน” แต่แล้วก็จบลงโดยถูกนักวิจารณ์สาวไส้เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน

“เราได้เห็นการทำงานของแบร์ลุสโคนี และเราก็ได้เห็นกันแล้วว่า เหนือสิ่งอื่นใดในหัวใจของเขาก็คือ ผลประโยชน์ของตัวเขาเอง อย่างการผ่านกฎหมายที่ร่างกันแบบตั้งใจช่วยให้เขารอดพ้นปัญหาหรือไม่ก็เป็นฝ่ายได้เปรียบ” อีอูเจนิโอ สกัลฟารี บอก เขาเป็นอดีตบรรณาธิการใหญ่ของ ลา รีปุบบลีกา หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม ซึ่งคัดค้านแบร์ลุสโคนีอย่างแข็งขันเรื่อยมา

สกัลฟารี ยกตัวอย่างว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลเพิ่งยกฟ้องคดีที่ แบร์ลุสโคนี ถูกตั้งข้อหาทำบัญชีเท็จ ในกรณีอื้อฉาวการขายกลุ่มธุรกิจอาหาร เอสเอ็มอี ที่ยืดเยื้อมานาน คำตัดสินของศาลคราวนี้อิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อหาเช่นนี้ถูกถือเป็นการกระทำผิดอาญาสถานเบาเสียแล้ว หลังจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี 2002 โดยรัฐบาลแบร์ลุสโคนี

แต่ทางฝ่ายผู้สนับสนุนนั้น แม้อาจจะลดระดับความหลงใหลปลาบปลื้มลงกว่าเมื่อหลายๆ ปีก่อน ก็ยังพูดถึงผลงานความสำเร็จในสมัยที่แบร์ลุสโคนีเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นของจริงแม้จะมีข้อจำกัด อาทิ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นศูนย์ แต่เขาก็อยู่มาได้ถึง 5 ปีเต็ม ซึ่งถือเป็นสถิติสำหรับอิตาลี และทำให้การเมืองมีเสถียรภาพขึ้นสู่ระดับใหม่

เขายังได้รับเครดิตสำหรับการกล่อมเกลี้ยงขัดเกลาการเมืองอิตาลีซึ่งเคยมีหลายขั้วที่ล้วนอ่อนแอ กลายมาเป็นมี 2 ฝ่ายที่ค่อนข้างอยู่ตัวชัดเจน และโดยที่เขายังคงรักษาความเป็นผู้นำของฝ่ายกลาง-ขวาไว้ได้ ทำให้เขาเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่มีอยู่ เมื่อรัฐบาลกลาง-ซ้ายซึ่งประชาชนไม่ชมชอบอย่างของโพรดีล้มคว่ำลงไป

“มันไม่มีคนอื่นอีกแล้ว และเขาก็ยังได้รับความนิยมมากด้วย” เป็นความเห็นของ เปาโล กุซซันตี นักหนังสือพิมพ์และวุฒิสมาชิกสังกัดพรรค ฟอร์ซา อิตาเลีย พรรคของแบร์ลุสโคนี

“แบร์ลุสโคนีถูกเกลียดด้วยเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เขาเป็นที่รัก นั่นคือเขาเป็นคนพูดจาโผงผาง เขายังคงถูกมองว่าไม่ใช่คนที่มาจากแวดวงการเมือง ถึงแม้เขาเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปี 1994 เขาเป็นคนที่ไม่มีใครทำนายได้ถูกเสมอมา เป็นคนที่ทำลายเกมเก่าๆ และชี้หนทางใหม่ๆ”

เกือบ 14 ปีแล้วนับจากที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหนแรกชั่วเวลาแค่สั้นๆ (เม.ย.94-ม.ค.95) เครื่องจักรที่แม้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเป็นอย่างดีเยี่ยมของแบร์ลุสโคนี ก็ยังกำลังเผยให้เห็นความสึกกร่อน เขาต้องรับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ หลังจากเป็นลมในที่สาธารณะเมื่อปี 2006 ผมที่ย้อมเป็นประจำและดูสดใสกว่าธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ของเขา, การทำศัลยกรรมตกแต่งของเขา, ใบหน้าที่แต่งแต้มจนดูแดงผิดธรรมดาของเขา (ตอนที่แบร์ลุสโคนีให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ชมทีวีสามารถมองเห็นรอยลากเส้นตรงบริเวณคอของเขาด้วยซ้ำ) ทั้งหมดเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสนุกขบขันระดับชาติของอิตาลี

และพวกพันธมิตรของเขา ซึ่งไม่เคยภักดีต่อเขาอย่างเต็มเหนี่ยวเลย พอรัฐบาลโพรดีแพ้โหวตในวุฒิสภาและยื่นใบลาออก ต่างก็กำลังดิ้นรนหาทางกลับมาแม้อย่างไม่สู้เต็มใจ เมื่อปลายปีที่แล้ว สมาชิกสำคัญคนหนึ่งของรัฐบาลผสม นั่นคือ หัวหน้ากลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ จีอันฟรังโก ฟินี ผู้สุภาพนุ่มนวลและพูดจาเป็นหลักเป็นฐาน ได้เคยประกาศไว้ว่า เขาตัดขาดกับแบร์ลุสโคนีตลอดกาล

“เขาเป็นคนที่มีคุณค่าทางศีลธรรมในระดับจำกัดเอามากๆ และก่อนสิ่งอื่นใดเลยก็คือผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาเอง” ลา รีปุบบลีกา เคยรายงานโดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่ฟินีพูดกับเพื่อนคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ภูมิหลังของความแตกร้าวนี้มีความซับซ้อนอยู่ นั่นคือ ฟินีแสดงปฏิกิริยาขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามของแบร์ลุสโคนีที่จะโค่นรัฐบาลโพรดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนนั้นประสบความล้มเหลว นอกจากนั้น สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งใน 3 แห่งของแบร์ลุสโคนี ยังออกอากาศวิดีโออันน่าอับอายของแฟนสาวคนใหม่ของฟินี ซึ่งเป็นทั้งแดนเซอร์และทนายความ ตอนที่เธอยังอยู่กับอดีตคู่รักคนหนึ่ง

ขณะที่แบร์ลุสโคนีและพันธมิตรของเขามีคะแนนนำในผลโพลส่วนใหญ่ที่เผยแพร่กันออกมาในช่วงสองสามสัปดาห์มานี้ แต่เขาก็เพียงน่าที่จะเป็นผู้ชนะ ยังไม่ใช่ว่าจะนอนมาแน่ๆ เขายังอาจจะต้องต่อสู้กับ วัลแตร์ เวลโตรนี นายกเทศมนตรีกรุงโรมซึ่งป๊อปปูลาร์มาก แถมยังเป็นที่ชื่นชอบของสื่อ และอายุน้อยกว่าแบร์ลุสโคนีเกือบ 20 ปี ผลหยั่งเสียงของบางโพลแสดงให้เห็นว่า พรรคเดโมแครติก ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ที่มีเวลโตรนีเป็นหัวหน้า มีคะแนนตามจี้ติดๆ แบร์ลุสโคนีและพันธมิตร

ในสัปดาห์นี้ ประธานวุฒิสภา ฟรังโก มารินี จะต้องตัดสินว่าในรัฐสภามีเสียงสนับสนุนใครมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมา หรือจะต้องทำตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายแบร์ลุสโคนี นั่นคือจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด

เมื่อพิจารณากันถึงที่สุดแล้ว ชาวอิตาลีจำนวนมากบอกว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดไม่ใช่เรื่องของแบร์ลุสโคนีนักหรอก แต่เป็นตัวระบบการเลือกตั้งของอิตาลีเองต่างหาก เพราะเป็นระบบที่ออกแบบให้ผู้ออกเสียงแทบไม่มีทางเลือกอะไร

เอมิลิโอ จีอันเนลลี การ์ตูนนิสต์การเมืองที่มีผู้นิยมชมชื่นมาก และเป็นผู้วาดภาพแบร์ลุสโลนีเป็นคนแคระเจ้าเล่ห์ใส่รองเท้าส้นตึก บอกว่า เขาไม่สามารถทำใจให้เกิดความตื่นเต้นเพื่อเริ่มวาดภาพของแบร์ลุสโคนีอีกครั้ง

“แม้กระทั่งสำหรับนักวาดการ์ตูนการเมือง ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องดี เพราะพวกตัวละครตลอดกาลพวกนี้มันน่าเบื่อ แม้แต่กับคนซึ่งต้องวาดรูปของพวกเขา” จีอันเนลลีบอก “เราวาดรูปแบร์ลุสโคนีกันมา 18 ปีแล้ว และเราก็เบื่อหน่ายเต็มที”

เมื่อถูกถามว่าแล้วนักการเมืองอิตาลีคนไหนที่เขาอยากจะวาดในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า จีอันเนลลีซึ่งก็มีอายุ 71 ปี เท่ากับแบร์ลุสโคนี บอกว่า ผมต้องการคนหนุ่ม คนหน้าใหม่ คนที่มีความคิดใหม่ๆ

“ผมจะเกษียณอายุด้วยความยินดีเลย ถ้าผมได้เห็นคนหนุ่มและมีความสามารถขึ้นมามีอำนาจ”
กำลังโหลดความคิดเห็น