xs
xsm
sm
md
lg

UN เปิดเวทีเชื่อมรอยร้าว “อารยธรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ผู้นำชาติต่างๆ และบุคคลสำคัญจะเข้าร่วมเวทีการประชุมของยูเอ็นที่มุ่งลดและขจัดความกลัวและความระแวงสงสัยระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ท่ามกลางสภาพที่รอยร้าวระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมขยายกว้างขึ้น

โฆเซ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “พันธมิตรแห่งอารยธรรม (Alliance of Civilizations Forum)” ครั้งแรก ในวันพรุ่งนี้(15) ทั้งนี้ ซาปาเตโรเป็นผู้เสนอแนวคิดจัดการประชุมดังกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2004 นายกรัฐมนตรีสเปนเกิดแนวคิดนี้หลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมระเบิดรถไฟในกรุงมาดริด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 191 คน เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2004

นอกเหนือจากซาปาเตโรแล้ว ยังมีผู้นำคนสำคัญอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประชุมนี้ เช่น นายกรัฐมนตรี เทย์ยิป เออร์โดแกน แห่งตุรกี ซึ่งร่วมสนับสนุนแนวคิดของซาปาเตโร บันคีมุน เลขาธิการยูเอ็น และ ฆอร์เค ซัมไปโอ อดีตประธานาธิบดีโปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้แทนระดับสูงของแผนริเริ่มพันธมิตรแห่งอารยธรรม ของยูเอ็น ชิริน เอบาดี ชาวอิหร่านเจ้าของรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ

มาเรีย เตเรซา เฟร์นันเดซ เด ลา เบกา รองนายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวเมื่อวันศุกร์ (11)ว่า เป้าหมายของการประชุมพันธมิตรแห่งอารยธรรมซึ่งจัดเป็นครั้งแรกนั้น ก็คือ มุ่งสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม ความสำนึกร่วมกัน และการเล็งเห็นคุณค่าของความหลากหลายในการสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งสันติภาพโลก

ชามิล อิดริสส์ รักษาการผู้อำนวยการแผนริเริ่มพันธมิตรแห่งอารยธรรม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีระดับโลกครั้งสำคัญสำหรับผู้นำในโลกแห่งการเมือง อุตสาหกรรม และศาสนา เพื่อเสวนาหารือถึงสิ่งที่สนใจในเชิงข้ามวัฒนธรรม

อิดริสส์ กล่าวว่า ในการประชุมซึ่งมีขึ้นเป็นเวลา 2 วันนั้น จะมีการประกาศแผนริเริ่มต่างๆ ที่มุ่งสนับสนุนความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อและเยาวชน

หนึ่งในแผนริเริ่มเหล่านี้ก็เช่น การจัดตั้งกองทุนสื่อมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งจะดำเนินการโดยอิสระจากยูเอ็น และจัดตั้งโดยผู้ใจบุญจากภาคเอกชนและหน่วยงานด้านสื่อต่างๆ กองทุนนี้จะให้เงินสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เรื่องใหญ่ที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และต่อสู้กับแนวคิดอคติแบบเหมารวม

อิดริสส์ ยังกล่าวถึงอีกโครงการซึ่งจะประกาศในที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ ก็คือ กลไกสื่อเพื่อการตอบสนองที่รวดเร็ว (Rapid Response Media Mechanism) ซึ่งมุ่งเป้าช่วยลดความตึงเครียดในช่วงที่เกิดวิกฤติข้ามวัฒนธรรม

อิดริสส์ ได้ยกตัวอย่างกรณีที่หนังสือพิมพ์เดนมาร์ก เผยแพร่ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด เมื่อปี 2005 ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมในหลายประเทศทั่วโลกออกมาประท้วงอย่างรุนแรง และกรณีการประชุมหารือเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยพวกนาซี ซึ่งจัดขึ้นที่อิหร่าน เมื่อปีที่แล้ว อิดริสส์ กล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งสองนี้ โดยเนื้อแท้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่กลับถูกทำให้กลายเป็นประเด็นการเมือง

รักษาการผู้อำนวยการแผนริเริ่มพันธมิตรแห่งอารยธรรม กล่าวว่า ตนหวังว่าหน่วยงานด้านสื่อน่าจะใช้กลไกสื่อเพื่อการตอบสนองที่รวดเร็ว หากหน่วยงานเหล่านี้ต้องการขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากวงการต่างๆ ที่สามารถพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในลักษณะที่แบ่งขั้วหรือทำให้เกิดความแตกแยกน้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในกรณีที่ผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น