xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจค้าอวัยวะเฟื่องฟูในทั่วโลก ต่อชีวิตคนรวย/คนจนเสี่ยงตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - ตลาดค้าอวัยวะผุดขึ้นมากมายในหลายประเทศทั่วโลก ดึงดูด “ลูกค้า” จากชาติร่ำรวยที่กระเสือกกระสนหาทางต่อชีวิต ขณะที่ประชากรจำนวนมากในประเทศยากจนผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายชิ้นส่วนในร่างกาย เพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว ถือเป็นวิธีหาเงินที่บางครั้งอาจต้องแลกด้วยชีวิต เพราะบ่อยครั้งที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากทั้งแพทย์และผู้รอรับอวัยวะ นอกจากนั้นยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งตกเป็นเหยื่อโจรในคราบหมอสุดชั่ว เข้าพบแพทย์หวังตรวจสุขภาพแต่กลับถูกปล้นอวัยวะ

พอล ลี ได้รับตับจากนักโทษประหารชาวจีนคนหนึ่ง กอรอมในอียิปต์หาไตให้น้องสาวได้ในราคา 5,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฮากาน ชาวเมืองอิสตันบุล โพสประกาศขายไต 1 ข้างในอินเทอร์เน็ต สนนราคา 30,700 ดอลลาร์

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ผิดปกติแม้แต่น้อย ปัจจุบันนี้การที่ประเทศร่ำรวยขาดแคลนอวัยวะบริจาคอย่างหนักทำให้ชาวต่างชาติและผู้ป่วยโรคร้ายระยะสุดท้ายพากันเดินทางมายังประเทศที่ยากจนกว่า เช่น จีน ปากีสถาน ตุรกี อียิปต์ โคลอมเบีย และฟิลิปปินส์ เพื่อหาซื้ออวัยวะใหม่ต่อชีวิต

ลี หัวหน้าช่างเทคนิคของรถไฟใต้ดินในฮ่องกง วัย 53 ปี ทราบผลวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับเมื่อเดือนมกราคม ปี 2005 แต่คณะแพทย์ไม่ยอมปลูกถ่ายอวัยวะให้ลีเพราะเกรงว่าเนื้อร้ายจะแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย

ต่อมา เพื่อนคนหนึ่งบอกลี ว่า มีโรงพยาบาลที่รับปลูกถ่ายอวัยวะตั้งอยู่ที่เมืองเทียนจิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ลีจึงเดินทางไปที่นั่น ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ลีจ่ายเงินไป 260,000 หยวน หรือราว 34,380 ดอลลาร์ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ช่วยต่อชีวิต

ลี เล่าว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ติดต่อกับนักโทษมากมาย “ไตใหม่ของผมได้มาจากนักโทษประหารคนหนึ่งจากมณฑลเฮยหลงเจียง ผมขอขอบคุณนักโทษผู้บริจาคไตอย่างสุดซึ้ง”

องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีการปลูกถ่ายตับ 21,000 ชิ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กล่าวว่า ในแต่ละปีทั่วโลกต้องการตับอย่างน้อย 90,000 ชิ้น

ขณะที่ความต้องการไตก็เกินกว่าจำนวนไตที่มีผู้บริจาค สิ่งนี้ทำให้การลักลอบค้าอวัยวะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดมืดที่คนรวย และ “นักท่องเที่ยวปลูกถ่ายอวัยวะ” ซึ่งเดินทางไปประเทศยากจนเพื่อซื้ออวัยวะจากผู้ที่มีหนทางอันน้อยนิดแห่งการยกระดับชีวิต ก็ผุดขึ้นมากมายเช่นกัน

ผู้สละไต 1 ข้าง ในแอฟริกาใต้ จะได้รับเงิน 700 ดอลลาร์ ขณะที่ในสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อไต 1 ข้าง จะอยู่ที่ราว 30,000 ดอลลาร์ โดยผู้สละไตไม่ได้รับเงินจำนวนนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นไปตามที่ฮูประมาณการไว้

การขาดมาตรการตรวจสอบความโปร่งใสหรือแม้แต่การปกป้องชีวิตผู้บริจาค ทำให้องค์การระหว่างประเทศต่างเรียกร้องให้มีการปราบปรามการค้าอวัยวะ หรืออย่างน้อยก็ควรออกกฎระเบียบควบคุมธุรกิจนี้

ทว่า แม้ในบางประเทศที่ห้ามการค้าอวัยวะ แต่กฎหมายก็มีช่องโหว่ ทำให้การค้าอวัยวะยังคงรอดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่เรื่อยไป

**ผู้รับสบาย ผู้ให้เสี่ยงตาย
กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ กระบวนการนั้นย่อมทำให้ผู้บริจาคเสี่ยงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการปลูกถ่ายตับซึ่งมีการตัดบางชิ้นส่วนออกจากตับของผู้บริจาค

ผู้บริจาคอาจเสียเลือดมาก หรือติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งตาย

ในทางตรงกันข้าม ผู้รับอวัยวะไม่ต้องวิตกกังวล เพราะไม่ต้องให้ญาติของตนเสี่ยงชีวิตในการบริจาคอวัยวะ

ลุค โนเอล ผู้ประสานงานด้านกระบวนวิธีทางคลินิกของฮู กล่าวว่า วิธีดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า ญาติของผู้รับไม่ต้องเสี่ยงชีวิต ผู้รับเองก็ไม่ต้องวิตกกังวลต่อชีวิตของคนที่ผู้รับไม่รู้จัก “เมื่อคุณจ่ายเงินไปแล้ว คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบหรือกังวลอะไรอีกแล้ว”

ที่ผ่านมา ทางการจีนสั่งห้ามการซื้อขายอวัยวะมนุษย์ รวมถึงจำกัดการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับชาวต่างชาติ โดยอ้างว่าต้องปลูกถ่ายให้กับชาวจีนที่ต้องการอวัยวะปีละ 2 ล้านชิ้นเสียก่อน หากยังมีอวัยวะเหลือจึงค่อยปลูกถ่ายให้กับชาวต่างชาติ

ในแต่ละปีมีการปลูกถ่ายอวัยวะที่จีนเพียง 20,000 ราย ในจำนวนนี้ เป็นการปลูกถ่ายตับ 3,000 ราย และ 95% ใช้ตับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

จีน ยืนยันว่า การใช้อวัยวะจากนักโทษที่ถูกประหารชีวิตแล้วสามารถกระทำได้ เนื่องจากได้รับการยินยอมจากตัวนักโทษหรือครอบครัวของนักโทษ ทั้งนี้ การปลูกถ่ายโดยใช้ตับของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว สนนราคาราว 33,000 ดอลลาร์ ที่จีน

“สิ่งที่สำคัญก็คือความโปร่งใส จำเป็นต้องมีการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ถ้าจีนทำให้ระบบปัจจุบันตรวจสอบได้และโปร่งใสมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องดี” โนเอล กล่าว

**ตลาดค้าไต
ในเอเชีย วัฒนธรรมความเชื่อที่ว่าควรเก็บรักษาศพผู้ตายให้มีสภาพที่สมบูรณ์ไม่บุบสลาย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนรับบริจาคอวัยวะ
โลฉุงมาน ศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ช่องท้องและตับอ่อน แห่งยูนิเวอร์ซิตี้ออฟฮ่องกง กล่าวว่า หากไม่นับรวมจีน ในเอเชีย มีผู้บริจาคตับก่อนเสียชีวิตน้อยกว่า 200 ชิ้นในแต่ละปี

ขณะที่ปากีสถานซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามการค้าอวัยวะมนุษย์นั้น กำลังกลายเป็นตลาดใหญ่ค้าไต ทั้งนี้ เป็นไปตามคำกล่าวของจาฟฟาร์ นักวี ซีอีโอของมูลนิธิไตแห่งปากีสถาน

ทั้งนี้ ไม่มีการยืนยันจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมาปากีสถานเพื่อหาไตใหม่ แต่นักวีกล่าวว่า เฉพาะแค่ที่เมืองลาฮอร์ ก็มีศูนย์ถึง 13 แห่งที่รายงานว่ารับปลูกถ่ายไตที่ลูกค้าซื้อมา 2,000 ราย เมื่อปีที่แล้ว

นักวี กล่าวว่า คนไข้ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากยุโรป ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย จ่ายเงินราว 500,000 รูปี หรือประมาณ 8,500 ดอลลาร์ เพื่อซื้อไตใหม่ ขณะที่ผู้ขายไตจะได้รับเงินเพียง 300-1,000 ดอลลาร์ อีกทั้งบ่อยครั้งก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์หลังเข้ารับการผ่าตัด

ในบางครั้ง เจ้าของก็ไม่ยินยอมสมัครใจมอบไตแต่อย่างใด โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 คน ในจำนวนนี้มี 4 คนเป็นแพทย์ ทั้งหมดร่วมกันลักพาตัวเหยื่อ วางยาแล้วจึงขโมยไตของเหยื่อเพื่อนำไปใช้ปลูกถ่ายอวัยวะ

ทางการเตรียมออกร่างกฎหมายที่มุ่งห้ามการค้าอวัยวะ แต่กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่มีอิทธิพลก็พยายามล็อบบี้ให้กฎหมายยังคงมีมาตราที่อนุญาตให้มีการบริจาคอวัยวะให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ตราบใดที่ไม่ต้องจ่ายเงินตอบแทนผู้ให้
นักวีกล่าวว่า หากมีมาตราดังกล่าว ก็จะยังคงมีผู้ลักลอบจ่ายเงินเพื่อซื้ออวัยวะ

**แค่ 15 วันก็ซื้อไตได้แล้ว
เรื่องราวของผู้คนที่เร่ขายอวัยวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งไต ไม่ใช่เรื่องวิปริตผิดปกติแต่อย่างใดในอียิปต์ เพราะ 30% ของประชากรมากกว่า 73 ล้านคนยังมีฐานะยากจน

กอรอม ผู้ที่ไม่เปิดเผยนามสกุล เพราะการค้าอวัยวะเป็นธุรกิจผิดกฎหมายในอียิปต์ กล่าวว่า ตนใช้เวลาเพียง 15 วัน ในการหาซื้อไตใหม่ให้น้องสาวที่มีอาการไตวาย กอรอมกล่าวว่าแพทย์พบชายคนหนึ่งที่ยินดีขายไตข้างหนึ่งในราคา 30,000 ปอนด์อียิปต์ หรือ 5,300 ดอลลาร์

กอรอม กล่าวว่า แพทย์ได้ค่าเหนื่อย 5,000 ปอนด์อียิปต์ โดยค่าเหนื่อยของแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาลจะหักจากเงินที่ผู้ขายอวัยวะได้รับ

ชายผู้นี้ กล่าวว่า บ่อยครั้งที่แพทย์จะช่วยหาผู้ที่เต็มใจขายอวัยวะโดยดูจากรายชื่อคนไข้ของแพทย์

อับเดล กาเดร์ เฮกาซี ประธานคณะกรรมธิการด้านวินัยของสหภาพแพทย์ กล่าวว่า กฎหมายอียิปต์ไม่มีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนต่อแพทย์ที่พัวพันกับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ผิดกฎหมาย เปิดช่องให้แพทย์กลับมาทำความผิดซ้ำๆ ซากๆ

“กฎหมายบอกว่า การค้าอวัยวะผิดกฎหมายแต่กลับไม่ระบุมาตรการลงโทษที่ชัดเจน พวกเราที่เป็นสหภาพสั่งพักงานแพทย์หลายคนรวมทั้งยึดใบประกอบโรคศิลป์ แต่แพทย์เหล่านั้นก็ยื่นฟ้องต่อศาล ชนะคดีแล้วก็ได้ใบประกอบโรคศิลป์คืน” เฮกาซี กล่าว

สหภาพแพทย์พยายามผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมการปลูกถ่ายอวัยวะ ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งโทษปรับอย่างหนัก และการสั่งจำคุกผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังสั่งห้ามมิให้ปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างคนที่มีสัญชาติต่างกัน

ทว่า ร่างกฎหมายยังติดค้างอยู่ในรัฐสภามานานหลายปีแล้ว เนื่องจากแพทย์กับผู้นำมุสลิมอาวุโสหลายคนมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นที่ว่าศาสนาอิสลามอนุญาตให้ปลูกถ่ายอวัยวะในกรณีที่ผู้ให้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยหรือไม่

**ประกาศขายในอินเทอร์เน็ต
ในตุรกี นักเรียนนักศึกษา คนตกงาน และพ่อที่ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ต่างประกาศขายไตในอินเทอร์เน็ต โดยระบุทั้งอุปนิสัยการดื่ม สูบบุหรี่ รวมทั้งกรุ๊ปเลือด

พ่อค้าจำเป็นเหล่านี้ระบุว่าได้รับคำสั่งซื้อไตจากทั้งเยอรมนี อิสราเอล และตุรกี โดยบางคนตั้งราคาไต 1 ข้าง แพงสุดที่ 50,000 ลิรา หรือราว 38,760 ดอลลาร์

ฮากาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยวัย 27 ปี ที่อาศัยอยู่ในนครอิสตันบุล มีลูกน้อย 2 คน ฮากานเล่าให้สำนักข่าวรอยเตอร์ฟังว่า มีผู้คนจากทั้งเยอรมนีและตุรกี 5-6 คน ต้องการซื้อไตของเขา โดยเสนอราคาซื้อ 10,000-15,000 ลิรา (ราว 11,600 ดอลลาร์) แต่ฮากานตั้งราคาขายไว้ที่ 40,000 ลิรา หรือราว 30,700 ดอลลาร์

ฮากาน ยอมรับว่า การสละไตแลกเงินเป็นเรื่องที่น่ากลัว ตนไม่ยอมบอกภรรยาเพราะรู้ว่าภรรยา จะคัดค้านอย่างแน่นอน

“ผมยอมทำเช่นนี้เพื่อครอบครัว ถ้าผมอยู่คนเดียวก็คงจะไม่เป็นไรหรอก แต่ผมมีลูกที่ต้องเลี้ยงดู 2 คน ไม่มีอะไรที่ผมจะทำเพื่อลูกๆได้อีกแล้วนอกจากขายไต”
กำลังโหลดความคิดเห็น