xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาชาวปัชตุนของปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: ฮารูน มีร์

SPEAKING FREELY
Pakistan's Pashtun 'problem'
By Haroun Mir
26/07/2007

Speaking Freely is an Asia Times Online feature that allows guest writers to have their say. Please click here if you are interested in contributing.



อย่างน้อย ๆ ก็ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา พวกที่ไปก่อการร้ายในตะวันตกเกือบทั้งหมดเป็นชาวอาหรับ หรือไม่ก็ชาวปากีสถาน แต่เหยื่อในปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐกลับเป็นชนเผ่าอัฟกัน หรือไม่ก็เป็นเผ่าปัชตุนในปากีสถาน
พวกอาหรับและปากีสถานโฆษณาต่อต้านตะวันตก แต่ชาวปัชตุน*จำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อ การที่อัฟกานิสถานยังตกอยู่ในวังวนของการก่อขบถ และการที่สถานการณ์ในเขตจังหวัดชายแดนเหนือ-ใต้ในปากีสถานเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้เผ่าปัชตุนต้องตกเป็นเป้าใน ‘สงครามปราบปรามการก่อการร้าย’
(*บ้านเราเรียกแขกปาทาน เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกและตอนใต้ของอัฟกานิสถาน (ราว 80%) จังหวัดชายแดนเหนือ-ใต้ เขตสมาพันธรัฐชนเผ่า (ราว 12%) และจังหวัดบาลูจีสถาน (ราว 8%) ของปากีสถาน มีประชากรรวมทั้งสิ้นราว 40 ล้านคน ชนเผ่านี้เป็นแกนหลักของอดีตรัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถาน)

คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในความยากจนข้นแค้น กลายเป็นนักรบในสงครามที่ถูกจับเอาไปเป็นเบี้ยในศึกระหว่างตะวันตกกับพวกสุดขั้วอิสลาม การที่เยาวชนปัชตุนต้องกลายเป็นพวกหัวรุนแรง เพราะการเสี้ยมสอนของโรงเรียนสอนศาสนา* ที่ได้รับทุนทรัพย์จากซาอุดิอารเบีย ทำให้พวกเขาเป็นอันตรายต่อโครงสร้างความเป็นปึกแผ่นในเผ่าอย่างรุนแรง
(*ฝรั่งเรียก madrassa ออกเสียงว่า มา-ดราส-สา หรือมัทราส บ้านเราเรียกปอเนาะ)

ประมาณว่าชาวปัชตุนราว 30-35 ล้านคนอาศัยอยู่ทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถาน แต่คนเหล่านี้ก็แตกแยกกันเอง มีการทะเลาะเบาะแวงกันเองเป็นประจำ มีเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่พวกเขารวมตัวกันได้ แต่ก็เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น นั่นคือในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอาหมัด ชาห์ ดูรานี (1747-73) ผู้ก่อตั้งประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน กษัตริย์พระองค์นี้ยังพิชิตดินแดนในอิหร่านและอินเดียได้อีกผืนใหญ่ นับตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย ชนเผ่านี้หากไม่รบกับชาวต่างประเทศ ก็รบกันเองภายใน

พวกเขาถูกทอดทิ้ง ไม่มีการศึกษาสมัยใหม่ ถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างจงใจ ในระหว่างที่โซเวียตบุกอัฟกานิสถานช่วงปี 1980s พวกเขาตกเป็นเบี้ยอยู่ในมือของปากีสถานและซาอุดิ อารเบีย และทุกวันนี้เป็นเหยื่อโดยตรงใน ‘สงครามปราบปรามการก่อการร้าย’

ในระหว่างปีแห่งสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน ซาอุดิ อารเบียและประเทศใหญ่ ๆ ในอ่าวเปอร์เซียส่งเงินบริจาคไปช่วยเหลือโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับผู้ลี้ภัยอัฟกันในปากีสถานนับเป็นพัน ๆ แห่ง ยังผลให้เยาวชนอัฟกันถูกทำให้หัวรุนแรงอย่างขนานใหญ่กันไปโดยถ้วนหน้า นอกจากนี้ การที่นักรบอาหรับนิกายวาฮาบีและนักบวช*ในโรงเรียนสอนศาสนา ที่หลั่งไหลกันเข้าไป ‘บรรเทาทุกข์’ (ตามหลักการที่ว่ามุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน -Muslim Brotherhood) ในค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าว ได้เปลี่ยนผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่ส่วนใหญ่ถือนิกายฮานาฟีสายกลาง ให้กลายเป็นฝ่ายสุดขั้วทางศาสนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ต่อมาในท้ายที่สุดได้พัฒนาไปเป็นขบวนการแบบตาลีบันเช่นในปัจจุบัน
(*อิสลามไม่มีนักบวช แต่มีคนอุปโลกน์ตัวเองให้เป็น)

ตัวอย่างในตอนนั้นที่พอจะชี้ให้เห็นได้ก็เช่น ในระหว่างโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถาน ยังไม่มีการระเบิดฆ่าตัวตายกระทำกับทหารโซเวียตและครอบครัวของพวกเขาในกรุงคาบุล ระเบิดฆ่าตัวตายครั้งแรกในอัฟกานิสถาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2001 โดยชาวอาหรับ 2 คนกระทำกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมอัฟกานิสถาน อาหมัด ชาห์ มัสซูด* นับตั้งแต่ปี 2003 (เป็นอย่างน้อย) พวกเยาวชนปัชตุนก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการระเบิดฆ่าตัวตาย ที่กระทำต่อศัตรูของเผ่า และต่อค่านิยมทางศาสนาของเผ่าตน
(*ผู้เขียนบทความนี้คือผู้ช่วยเขาคนหนึ่ง)

พวกสุดขั้วทางศาสนาอิสลามสายพันธุ์ใหม่นี้ ฝังรากลึกอยู่ในใจกลางของเผ่าปัชตุน มีเพียงชาวปัชตุนในปากีสถานราว 15-20 ล้านคนเท่านั้น ที่มีสิทธิได้รับการศึกษาสมัยใหม่ น่าสังเวชที่ว่าในเขตจังหวัดของปากีสถานที่ชาวปัชตุนอาศัยอยู่หนาแน่น พวกตาลีบันกลับรณรงค์เผาทำลายโรงเรียนแนวฆราวาส ที่สอนหลักสูตรสมัยใหม่ลงไปอีก บรรดาเยาวชนปัชตุนนับพัน ๆ จึงต้องแห่กันไปเรียนตามโรงเรียนสอนศาสนาเหล่านี้ ในจำนวนนี้มีจำนวนน้อยมากที่จะได้รับการศึกษาจากโรงเรียนในแบบฆราวาสดังกล่าวมาแล้ว

ผู้นำในกองทัพปากีสถานมีผลประโยชน์ที่ต้องทำให้มวลชนในชนเผ่าปัชตุนโง่เง่า เพราะพวกเขาต้องการใช้ให้เผ่าปัชตุนคอยควบคุมชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ทุกวันนี้ทางการปากีสถานยังคงใช้เทคนิคในการปกครองแบบ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ เดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งจักรวรรดินิยมอังกฤษ มาปั่นหัวผู้นำเผ่าปัชตุนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับความจงรักภักดี (ซื้อใจ)

ระบบจักรวรรดินิยมดังกล่าวนี้เองที่คอยดูแลรักษาความโง่เง่า การไร้ซึ่งการศึกษาของมวลชนปัชตุนให้คงอยู่ต่อมา มีเพียงในตระกูลที่กองทัพเลือกสรรเท่านั้นที่จะได้รับการศึกษาสมัยใหม่ และได้ตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกองทัพ กองทัพปากีสถานใช้พวกปัชตุนในกองทัพคอยสยบพวกบาลูจ* ที่พยายามแยกตัวออกมาปกครองตนเอง นับตั้งแต่ปากีสถานแยกประเทศจากอินเดียมาตั้งแต่ปี 1947 หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเผ่าปัชตุน กองทัพปากีสถานก็ไม่อาจควบคุมการกบฏของเผ่าบาลูจได้
(*เผ่าบาลูจ เป็นชาวอิหร่าน พูดภาษาอิหร่านทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นชาวอิหร่านที่หนีขึ้นไปอาศัยตามที่สูง เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ปัจจุบันมีจำนวนราว 4.8 ล้านคน ราว 60% อาศัยอยู่ในปากีสถาน 25% ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน และราว 15% ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน)

ท่านประธานาธิบดีมหานายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟแห่งปากีสถาน ใส่ใจเป็นพิเศษในการรักษาสันติภาพกับเผ่าปัชตุน และแอบผูกพันกันอย่างลับ ๆ กับพรรคอิงศาสนาสุดขั้วต่าง ๆ ในประเทศเอาไว้ เขาทราบดีว่าหากขยายสงครามเข้าไปในเขตปัชตุน ชนเผ่าเหล่านี้ก็จะรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น เพื่อสู้รบกับทางการ นอกเหนือไปจากนั้น ก็อาจจะกระตุ้นเผ่าบาลูจให้เขาพวกกับตนได้

ทางการทหารปากีสถานต้องการรักษาเขตชนเผ่าของตนให้เป็นเหมือนเดิมเช่นนี้ต่อไป พวกเขาสนใจแต่เฉพาะเรื่องการผนวกดินแดนของประเทศ มากกว่าจะไปเห่อรบกับผู้ก่อการร้ายในระดับโลก ดังนั้น มูชาร์ราฟก็มักจะแสวงหาความร่วมมือจากผู้นำทางศาสนาหัวรุนแรง แทนที่จะเป็นผู้นำฆราวาสสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะพวกผู้นำทางศาสนาหัวรุนแรงมักมีเส้นสายโยงใยไปถึงชาวเผ่าปัชตุน ที่ถูกปลุกปั่นให้หัวรุนแรงแล้วนั่นเอง

กองทัพปากีสถานไม่ได้สนใจในผลประโยชน์ของทั้งเผ่าปัชตุนและตะวันตก การดูแลรักษาความโง่เง่าของเผ่า ทำให้มันแตกกันเข้าไว้ ถือเป็นผลประโยชน์ของกองทัพ แต่ผลประโยชน์นี้เป็นแค่ระยะสั้น ๆ เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่มันก็เริ่มมากระทบผลประโยชน์ระยะยาวของตะวันตกเข้าให้แล้ว

อาณาเขตที่ครอบครองโดยเผ่าปัชตุนบัดนี้ ได้กลายเป็นแหล่งกบดานของการก่อการร้ายโลก องค์การนาโต้กับกำลังทหารของสหรัฐได้เข้าไปรบ และทิ้งระเบิดใส่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการก่อการร้ายในตะวันตกเลย พวกอัล-กออิดะกับขบวนการก่อการร้ายนานาชาติอื่น ๆ ก็เข้าไปใช้ประโยชน์จากชนเผ่าปัชตุนผู้เคร่งศาสนาและอยากเป็นอิสระเช่นกัน

จริง ๆ แล้ว กลุ่มสุดขั้วทางศาสนาและพวกตาลีบันในปากีสถาน ก็คือเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้มูชาร์ราฟสืบต่อการปกครองโดยทหารในปากีสถานต่อไป ทั้ง ๆ ที่ชาวปากีสถานส่วนใหญ่พากันสาปแช่ง ทางการทหารปากีสถานสามารถหว่านล้อมตะวันตกให้ยอมรับนโยบายต่อชนเผ่าที่ฉาวโฉ่ของตน ที่โดยลึก ๆ แล้วกลับสนับสนุนพวกผู้นำสุดขั้วหัวรุนแรง ท่ามกลางการลิดรอนผู้นำเผ่าสายกลางที่สืบทอดกันมาตามประเพณี ให้ล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ

ดังนั้น แทนที่จะแปลกแยกตัวเองกับพวกปัชตุน และผลักดันพวกเขาให้ไปเข้ากับค่ายพวกสุดชั้ว ตะวันตกควรจะต้องยื่นมือออกไปช่วยประคับประคองบรรดาผู้นำปัชตุนสายกลางทั้งหลาย แต่บรรดาเยาวชนปัชตุนที่ถูกเสี้ยมให้หัวรุนแรง มาเกือบ 3 ทศวรรษเต็ม ๆ คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย ก่อนที่จะพลิกกระแสกลับขึ้นมาได้

Haroun Mir was an aide to the late Ahmad Shah Massoud, Afghanistan's former defense minister. He works as a consultant and policy analyst in Kabul.

Speaking Freely is an Asia Times Online feature that allows guest writers to have their say. Please click here if you are interested in contributing.

กำลังโหลดความคิดเห็น