08/05/2007
“เรา (ชาวอาหรับ) กำลังสูญพันธุ์” นี่คือคำพูดของอโดนีส กวีชาวซีเรียที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ดูไบ ถอดความโดย MEMRI สถานีดักฟังสื่อของอิสราเอล* แต่สื่อหลัก ๆ ในตะวันตกไม่สน คำพูดที่ว่านี้เป็นการคาดหมายของอโดนีส** (นักเขียนผู้ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล ปี 2005 และ 2006-ผู้แปล) ทั้งนี้เพราะปีแล้วปีเล่าที่ผ่านไป โฉมหน้าในอนาคตของชาวอาหรับนับว่าจะมืดมัวลง ๆ และคำพูดครั้งล่าสุดของเขาก็แสดงออกซึ่งความสูญสิ้นแบบเดียวกับผมเลย (Spenglerian finality)
(*สถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลาง The Middle East Media Research Institute
**ในเทพนิยายของกรีก อโดนีสเป็นหนุ่มน้อยชาวกรีกที่มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงามชวนหลงใหล ด้วยความงามทำให้เขาเป็นที่หลงใหลของเทพีอะโพรไดท์-เทพีวีนัส กับเทพีเปอร์ซีโฟน-เจ้าแม่แห่งนรก หลังจากเสียชีวิตในระหว่างออกไปล่าหมูป่า ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ และในทุก ๆ ปีต้องแบ่งเวลาไปอยู่ในนรกและสวรรค์เพื่อให้เทพีทั้งสองได้เชยชม อโดนีสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็น-ความตาย’)
“เรากำลังสูญพันธุ์ ... เรามีผู้คนเป็นจำนวนมากก็จริง แต่เมื่อผู้คนไร้ซึ่งศักยภาพในการสร้างสรรค์ ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกของตัวเอง พวกเขาก็จะต้องพบกับความสาบสูญ ... เหมือนกับพวกสุเมเรียน พวกกรีกผู้ยิ่งใหญ่ และพวกฟาโรห์ ที่ต่างสูญพันธุ์กันไปหมดแล้ว”
เป็นธรรมดาพวกกวีมักจะชอบเว่อร์ แต่ไม่ใช่อโดนีส (นามปากกาของอาลี อาห์เม็ด ซาอิด) เขาเขียนกวีเป็นภาษาอาหรับในแง่ที่ลึกซึ้ง เขาชี้ว่าศาสนาอิสลามเป็นผู้ทำลายศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ของชาวอาหรับ ทำให้พวกเขาขาดศักยภาพที่จะทันสมัย สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘นรกของการมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ’ (hell of daily life) คือประเด็นหลักที่เขาเขียนถึง โปรดหาอ่านได้จากต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ*แล้ว
(*ดูเรื่อง โฉมหน้าแห่งกลางวันและกลางคืน (The Pages of Day and Night แปลโดยซามูเอล ฮาโซ) สำนักพิมพ์ Marlboro Press 1994 โลหิตของอโดนีส (The Blood of Adonis) สำนักพิมพ์ University of Pittsburgh Press 1971 เล่มอื่น ๆ กำลังทยอยแปลออกมา)
อโดนีสอุทิศชีวิตการงานที่ยาวนานของเขา (เขาจบปริญญาเอกทางปรัชญาที่มหาวิทยาลัยในปารีส ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอร์นของฝรั่งเศส) สร้างสรรค์งานวรรณกรรมสมัยใหม่ในภาษาอาหรับ ที่มีรากเง้าสืบทอดมาจากกวีอาหรับในยุคกลาง ทำให้เขาต้องฟาดฟันกับเหล่าศัตรู ทั้งที่เป็นอิสลามและพวกชาตินิยมอาหรับ ที่เป็นฆราวาสด้วยกันเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีในตะวันตก โฟอัด อาจามี วิญญูชนอเมริกัน-อาหรับทำประวัติเขาประกอบเรื่อง วังแห่งความฝันของชาวอาหรับ (Dream Palace of the Arabs) และโธมัส ฟรีดแมนก็เอ่ยถึงเขาในหนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่านักวิเคราะห์ตะวันตกยังไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไรกับคำพูดเชิงพยากรณ์ของเขาครั้งล่าสุดนี้ จึงพากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มันง่ายที่จะทึกทักเอาว่า คำพูดถึงวาระสุดท้ายของอโดนีสเป็นเพียงคำปรารภที่ฟุ้งซ่านของคนแก่ แต่มันเป็นเรื่องผิดถนัด ด้วยว่าอโดนีสมองประเด็นเฉียบขาดนี้ ด้วยสายตาที่เฉียบคมยิ่งนัก
อโดนีสบอกกับโทรทัศน์ดูไบว่า การที่จะทำให้คนอาหรับก้าวไปสู่โลกสมัยใหม่ ทำได้ไม่ยากเลย หากจะเปลี่ยนศาสนาอิสลาม จากการเป็นศาสนาโดยรัฐ ให้เป็นศาสนาของตัวบุคคล เขากล่าวว่า :
“ผมคัดค้านการที่ภายนอกเข้าไปแทรกแซงกิจการในโลกอาหรับ หากชาวอาหรับไม่มีความเหมาะสมจะเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยตนเอง การให้ภายนอกแทรกแซงเข้าไปก็ทำให้พวกเขาเป็นขึ้นมาไม่ได้ เงื่อนไขที่จะปูพื้นให้สังคมอาหรับเป็นประชาธิปไตยไม่มี จนกว่าจะมีการสังคายนายศาสนา ให้เป็นไปตามทิศทางใหม่ที่ถูกต้อง จนกว่าศาสนาจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้เสียก่อน”
เขาเสริมว่า ปัญหาก็คือชาวอาหรับไม่ต้องการเป็นอิสระ ส่วนข้อถามที่ว่าทำไมชาวอาหรับจึงชื่นชมเผด็จการนัก อโดนีสตอบดังนี้
“ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นเอก’ ซึ่งหากมองในเชิงปฏิบัติและในแง่ทางการเมือง ก็คือความเป็นวีรชน ความเป็นพระผู้ไถ่ หรือความเป็นผู้นำนั่นเอง แนวคิดดังกล่าวให้ความรู้สึกที่มั่นคง กับประชาชนที่กลัวเสรีภาพ คุณก็รู้ว่าบางคนกลัวเสรีภาพ”
ผู้สัมภาษณ์ : คงเพราะเสรีภาพส่อนัยไปทางอนาธิปไตยหรือไร?
อโดนีส : ไม่ใช่ครับ แต่เป็นเพราะว่าเสรีภาพนำมาซึ่งภาระที่หนักอึ้ง หมายความว่าแบกมันเอาไว้ได้ไม่ง่ายเลย
ผู้สัมภาษณ์ : คุณต้องมีนาย ...
อโดนีส : ในกรณีที่หากคุณมีเสรีภาพ คุณต้องเผชิญกับความเป็นจริงในชีวิตด้วยตนเอง คือเผชิญกับโลกทั้งโลก คุณต้องจัดการกับปัญหาของโลก จัดการกับทุกสิ่ง ...
ผู้สัมภาษณ์ : ทุกประเด็น ...
อโดนีส : ส่วนอีกด้านหนึ่ง หากเราเป็นทาส เราจะมีความอิ่มอกอิ่มใจ ไม่ต้องไปทำอะไรสักอย่าง ก็เหมือนกับองค์อัลเลาะห์ทรงแก้ปัญหาให้เราทุกสิ่งทุกอย่าง
ต่อข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาผู้รู้ในโลกอาหรับ ส่วนใหญ่พากันปฏิเสธหลักนโยบายของสหรัฐ (ที่บอกว่าหลักจารีตประเพณีของอิสลามกับประชาธิปไตยนั้นไปกันได้) นั้น ใคร ๆ ก็ใคร่จะได้ฟังจากปากผู้วิพากษ์สหรัฐอเมริกาบ้าง เรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่ว่าอโดนีสมีอิทธิพลต่อโลกอาหรับในทุกวันนี้มากแค่ไหน (อาหรับมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลก แต่งานแปลของอโดนีสมีแค่ปีละ 5 เล่มเท่านั้น) นักเขียนอาหรับในโลกมีเพียงน้อยนิด ดังนั้นอิทธิพลของพวกเขาต่อชุมชนจึงใหญ่โตขึ้นไปตามส่วน
ผมอ่านอาหรับไม่ออก และไม่มีความรู้ว่ากวีนิพนธ์ของเขาคู่ควรสมกับรางวัลโนเบลหรือไม่ (ในตอนก่อน ๆ ผมเคยเขียนเชียร์นักเขียนนวนิยายจากโลกมุสลิมผู้หนึ่ง คือออร์หัน ปามุกแห่งตุรกี ว่าควรจะได้รางวัลโนเบลปี 2006) แต่ผมเองก็ยังสงสัยว่า หากไม่มีอโดนีสช่วยแล้ว ตะวันตกจะแทรกตัวเข้าไปในโลกแห่งจิตวิญญาณของอาหรับได้หรือไม่ และไม่ใช่ว่าที่เขาพูดมานั้นทำยาก หากแต่ตรงกันข้ามกันเลย เพราะความจริงที่เขากล้าบอก เป็นเรื่องที่เราเห็นอยู่ตำตาต่างหาก ชาวอาหรับไม่ต้องการเสรีภาพ เพราะพวกเขาจะแบกรับภาระของชีวิตไม่ได้นั่นเอง อโดนีสกล่าวว่า อิสลามไม่เพียงกดดันโอกาสที่กวีจะได้แสดงออกเท่านั้น หากแต่ลิดรอนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยอมให้ปัจเจกบุคคลมีบุคลิกภาพเป็นตัวของตัวเอง นี่ต่างหากที่เป็นคำให้การต่อวัฒนธรรมของตัวเอง ที่น่าสนเท่ห์ น่าหวาดกลัว และสมบูรณ์ที่สุด
ในฐานะเป็นกวี อโดนีสไม่พูดถึงสภาวะแห่งจิตวิญญาณของโลกอาหรับ หากแต่เจาะลงไปในสภาพที่มันเป็นอยู่มากกว่า วรรณกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกอิสลาม เป็นแต่เพียงยกเอาข้อความในพระคัมภีร์กูรอ่านมาอ้างกัน และข้อความนั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนยกขึ้นมาอ้าง จะเต็มไปด้วยรักหรือเกลียด จะใจกว้างหรือคับแคบ สงบสันติหรือรบราฆ่าฟัน อย่างเคเรน อาร์มสตรองหรือโรเบิร์ต สเปนเซอร์ หรือจะอ้างให้เป็นอะไร ๆ ก็ล้วนได้ทั้งสิ้น คำอ้างทั้งหมดล้วนไม่มีประเด็น ไม่เป็นวุฒิภาวะ ใคร ๆ ก็สามารถยกข้อความในพระคัมภีร์กูรอ่าน หรือพระคัมภีร์ไบเบิล ขึ้นมาอ้างตามที่ตนเองอยากจะเชื่อ ด้วยเพราะมีอโดนีส เราจึงได้เยี่ยมเข้าไปมองประสบการณ์ด้านความเป็นทันสมัยในโลกอาหรับ ซึ่งก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงทีเดียว ผมไม่ขอแนะนำให้พวกขี้ใจอ่อน ขี้ตกอกตกใจเข้าไปชมกัน แต่สำหรับคนที่อยากจะแหวกผ่านประดาคำขวัญของท่านเกจิทั้งหลายแล้ว ท่านต้องเข้าไปครับ
อโดนีสเขียนว่า “กวีอาหรับพากันบอกว่าอิสรภาพและประชาธิปไตยเป็นมายาภาพ ที่ผมใช้คำว่า ‘มายาภาพ’ นั้น เพราะที่จริงชีวิตมีมาก่อนอิสรภาพและประชาธิปไตย แล้วหากจะมาห้ามไม่ให้ผมเป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้ผมมีชีวิตอยู่ แล้วจะให้ผมไปพูดถึงชีวิต ไม่ว่าจะพูดกับตัวหรือพูดให้ตัว ได้อย่างไรกัน ?”*
(*บทนำของเรื่อง หน้าต่าง ๆ ของกลางวันและกลางคืน หน้า 15)
ประเด็นนี้เขาให้อรรถาธิบายว่า “ทุกวันนี้เราเข้าใจความหมายต่าง ๆ โดยผ่านถ้อยคำ ผมพูด ผมจึงมีชีวิตอยู่ ดังนั้นการดำรงอยู่ของผมจึงเป็นตัวสร้างความหมาย ดังนั้นผมจึงหวังจะให้กวีอาหรับได้เริ่มพูด เริ่มเขียน โดยใช้ครรลองตามนี้”
ชีวิตจะดำรงอยู่โดยปราศจากความหมายไม่ได้ และความหมายเองก็อยู่ไม่ได้ หากไม่มีวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาวอาหรับ อันเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้จำกัดอยู่ด้วยสภาวะ หรือเขตแดนทางการเมือง หากแต่เป็นภาษา ในบทประพันธ์เรื่อง ‘กวีกับวัฒนธรรมต่อต้านกวี’ (Poetry and Apoetical Culture) ของเขา อโดนีสประกาศเรื่องที่น่าคิดว่า สิ่งที่ปรากฏในพระคัมภีร์กูรอ่าน ทำลายความเป็นไปได้ของการเขียนกวี ซึ่งก็คือความเป็นไปได้ของชีวิตนั่นเอง ก่อนยุคอิสลาม ภาษาอาหรับมีรากเง้าเป็นภาษากวี แต่ทันทีที่อิสลามกำเนิดขึ้น ภาษากวีก็สิ้นสุดลง
พอพระธรรมวิวรณ์เข้าแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของกวี มหาคัมภีร์เล่มนี้ก็อ้างตัวว่าเป็นสรรพพิญญู แต่องค์เดียวของสรรพสิ่ง และขับไล่กวีออกไปจากอาณาจักรนั้น กวีวัจน์ไม่ใช่คำแห่งสัจธรรม เหมือนดังที่กวีก่อนอิสลามเคยอ้างไว้อีกต่อไป กระนั้นก็ตาม ... อิสลามก็ยังยอมรับว่า กวีเป็นรูปแบบและวิธีการในการแสดงออกแบบหนึ่ง ไม่ได้ทำลายไปจนหมด เป็นแต่ทำลายบทบาทของกวีในการเป็นตัวแทนแห่งองค์ความรู้ และจัดสรรหน้าที่ใหม่ให้ กล่าวคือให้เป็นตัวเทศนาความจริง ที่ปรากฏในพระธรรมวิวรณ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงปอกลอกเอาคุณลักษณะเก่า ๆ ออกจากตัวกวี นั่นก็คือ ‘ความรู้โดยสัญชาติญาณ และอำนาจในการเล่าขานความรู้’ (intuition and the power of revelation) และทำให้มันเป็นแค่เครื่องมือสื่อสารชิ้นหนึ่งเท่านั้น
“... ตราบเท่าที่กวีเอาตัวเองเข้าไปรับใช้อาการคลั่งศาสนา เปลี่ยนความเชื่อ และผูกมัดตัวเองเข้ากับการเมืองและอุดมการณ์หนึ่ง ๆ กวีในสังคมอาหรับก็ได้ถูกละทิ้ง และค่อย ๆ อับเฉาลง”* อโดนีสเสริมอีกว่า :
(*เพิ่งอ้าง หน้า 101-102)
“นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของชาวอาหรับ ที่ผมขอเรียกมันว่า ‘การสมยอมกับอดีต’ ("pastism") ตามความในบทนี้ความว่า pastism หมายถึงการไม่ยอมรับ และความกลัวสิ่งไม่ปกติ*
(*อ้างแล้ว)
อโดนีสอธิบายว่าสิ่งนี้เป็นความจริง เพราะพระคัมภีร์กูรอ่านได้ไขปริศนาทุกอย่าง จนเป็นอันยุติแล้ว แจ่มชัดแล้ว ขจัดความสงสัยใด ๆ ออกไปจนหมดแล้ว :
“องค์การศาสนา-การเมืองที่ว่า แสดงตนว่ามีอำนาจ เป็นผู้พิทักษ์พระคัมภีร์กูรอ่าน มันเห็นว่าคำสอนในพระคัมภีร์ ที่เกี่ยวกับมนุษย์และจักรวาลเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอนแล้ว ไม่มีข้อผิดพลาด บกพร่องใด ๆ อีกโดยเด็ดขาด ในทางกลับกัน เมื่อมันสุดจะจริงแท้แน่นอนเช่นนี้ คนมุสลิมแต่ละคนจะต้องถูกจัดตั้งให้มาล้อมรวมกัน รอบ ๆ ศรัทธาในพระสูตรดังกล่าว ไม่ต้องตั้งคำถามใด ๆ ที่จะนำมาซึ่งความงุนงงสงสัย ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่อย่างไรก็ตามที เมื่อมีสภาพการณ์เช่นนี้ ความรู้สึกแปลกแยกจึงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น บุคคลช่างสงสัยจะไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นสมาชิกในชุมชนดังกล่าวได้”
“เพราะศาสนาอิสลามคือพระราชสารชิ้นสุดท้ายที่พระเจ้าประทานลงมาให้มนุษยชาติ เป็นการประทับตราคำว่า ‘สวรรค์’ กำกับเอาไว้แล้ว คำพูดใด ๆ ที่จะมีตามมา ล้วนไม่มีสาระอะไร ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น คำพูดของคน (ในระดับอารมณ์ความรู้สึก) ต้องพยายามเทิดทูนบูชาพระราชสารชิ้นนี้ (และในระดับภูมิปัญญา) จะต้องมีเอาไว้ใช้อธิบายความให้เสียงดังฟังชัด”
“ดังนั้นกวี อันเป็นรูปแบบการแสดงออกชั้นสูงที่สุด จะมีค่าได้ก็แต่การมีอยู่ของพระคัมภีร์เท่านั้น”*
(*อ้างแล้ว หน้า 102-103)
มองในแง่วรรณกรรม ไม่ใช่แง่เทวะวิทยา (มองในฐานะเป็นคำพูดของคน ไม่ใช่คำพูดของเทพ) อโดนีสก็พูดเรื่องนี้เหมือน ๆ กับพระราชดำรัสของพระสันตะปาปาเบเนดิคที่ 16 ที่ดำรัสเกี่ยวกับ ‘สิ่งอันเป็นที่สุดในพระธรรมวิวรณ์ในศาสนาอิสลาม’ (the finality of Islamic revelation*) ที่ทรงว่าเอาไว้เมื่อปีกลาย
(*โปรดดูเรื่อง When even the pope has to whisper ในเอเชียไทม์ วันที่ 10 มกราคม 2006)
คนตะวันตกคงจะกระเดือกคำ ๆ นี้ลงไปค่อนข้างยาก เพราะการเขียนกวีที่ยอพระยศ เป็นสุดยอดของวรรณศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือความสลับซับซ้อน ที่พอจะคิดออกในตอนนี้ก็เช่น ดังเต้ในภาษาอิตาลี จอห์น ดอนน์ และจอห์น มิลตันในภาษาอังกฤษ นักบุญจอห์น ไม้กางเขนในภาษาสเปน ฟรีดริช ก๊อตต์เลียบ คล็อปสต๊อกค์ และคริสเตียน โฟชต์ก๊อตต์ จีลเยอร์ทในภาษาเยอรมัน และเยฮูดา ฮาเลอวีในภาษาฮิบรู
สำหรับชาวคริสต์กับชาวยิว พระเจ้าไม่ใช่พระราชาที่พระราชดำรัสเป็นสัจธรรมที่โต้แย้งไม่ได้ แต่พระเจ้าของคนเหล่านี้เป็นพระเจ้าแห่งความรัก ที่พระพักตร์ถูกซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็น บางทีสิ่งนี้เองที่เป็นประเด็นให้กวีนิพนธ์ในประวัติศาสตร์ได้รจนาถึง ในเพลง ‘บทเพลงแห่งเพลง’ (Song of Songs) ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ท่านนักบุญเซนต์จอห์น ได้นำมาขับขานฉบับดั่งเดิม ได้สื่อความรักของพระเจ้าออกมาโดยใช้ถ้อยคำที่ป่วนสวาท (erotic terms) เสียด้วยซ้ำ สำหรับกวีชาวมุสลิมจะเอาคำพูดที่สื่อถึงอาการกระสันสวาท ไปเที่ยวตีเสมอกับพระผู้เป็นเจ้าแบบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงบังอาจเป็นที่ยิ่ง หากกวีเอาแว่นมาส่องชีวิตภายในตัวตนของเรา ตัวตนของคนตะวันตกก็ย่อมจะแตกต่างกับของคนมุสลิมแบบฟ้ากับดิน เช่นเดียวกับแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าแห่งความรักความเมตตา ที่ให้ความปลื้มปีติกับคนยาก และองค์พระอัลเลาะห์ที่ทรงรักคนแข็งแรง และประทานพรให้กับผู้ชนะ ผมเองพูดเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ครั้งแล้ว
เราพอจะหากวีแบบเกื้อศาสน์ปนรหัสลัทธิ (mystical-religious poetry) ที่เป็นอยู่ในกระแสหลักของชาวตะวันตกจากศาสนาอิสลาม ก็มีแต่พวกนิกายซูฟี ซึ่งนิกายนี้ก็เป็นเพียงกระพี้ ที่อยู่วงนอกของอิสลามกระแสหลักเท่านั้น จากการศึกษา อโดนีสสรรเสริญกวีชาวอาหรับในสมัยอิสลาม 3 ท่าน* อันเป็นแรงบันดาลใจให้เขา คือท่านอาบู นูวาส ท่านอัล-นีฟฟารี และท่านอัล-มา’อารี อโดนีสกล่าวว่า ท่านอาบู นูวาส “ใส่หน้ากากตัวตลก ที่กำลังเมาแอ๋ ความเมามายปลดเปลื้องตัวตน ออกจากความคิดอ่านตามจารีตประเพณีและตรรกะทั้งปวง ให้ขึ้นไปสู่จุดปลดปล่อยโดยสิ้นเชิง”** ส่วนท่านอัล-นีฟฟารีใช้ภาษา ‘แบบหฤหรรษ์โพ้นบรรยาย’ (transcendental bliss) ที่ “ช่วยขจัดช่องว่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิสิทธิ์ ทำให้สิ่งศักดิสิทธิ์มีความเป็นมนุษย์มนาและทำให้ความคิดอ่านของมนุษย์สูงส่ง เป็นท่วงทำนองกวี เป็นมนุษย์”
(*เรื่อง กวีอาหรับเบื้องต้น (An Introduction to Arab Poetics) แปลโดยแคเธอรีน โคบฮัม สำนักพิมพ์ ลอนดอน 1990
**เรื่อง กวีนิพนธ์ (Poetics) หน้า 60)
แต่ที่อโดนีสชื่นชอบมากที่สุดก็คือท่านอาบุล อลา อัล-มา’อารี นักทำลายล้าง (Nihilist) แห่งศตวรรษที่ 11 ว่ากันตาม ‘วิถีของชาวอาหรับ’ หากกวีเคยเป็น ‘ศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำ’ อัล-มา’อารีก็ทำให้มันกลายเป็น ‘ศิลปะแห่งความนัย’ ... หากมองในแง่ภาษาหรือความนัยแล้ว อัล-มา’อารีไม่ได้ให้อะไรเลย ตรงกันข้าม เขาทำให้มันทั้ง 2 เป็นเรื่องน่างุนงงสงสัย เพราะเขาบอกว่ามันทั้งสองเป็นแค่วิธีแสดงออกของสิ่งไร้ประโยชน์และความว่างเปล่า เขาจึงสร้างโลกของเขาอย่างหนึ่งขึ้นมา – หากคำว่า ‘การสร้างสรรค์’ เป็นคำที่ถูกต้อง จุดเริ่มของเขาก็คือความตาย ความตายเป็นน้ำอมฤต เป็นยาชุบชีวิต ตัวตนของชีวิตเป็นเพียงความตาย ที่ล่วงผ่านไปตามครรลองของมัน เสื้อผ้าของใครก็เป็นผ้าห่อศพของคนนั้น บ้านก็คือหลุมศพ และชีวิตที่แท้จริงของเขาก็คือความตาย ... แขนงที่ชั่วร้ายที่สุดของสัจธรรม ก็คือหากตัวมันเป็นตัวก่อให้เกิดมนุษย์ ชีวิตก็เป็นเพียงความเจ็บป่วย ที่มีแต่ต้องตายจึงจะรักษาให้หาย*
(*เพิ่งอ้าง หน้า 65 )
เราจะได้ยินคำว่า ‘วัฒนธรรมแห่งความตาย’ ในงานของเขาบ่อย ๆ แต่ไม่มีประตูที่จะเปิดเข้าไปสัมผัสกับวัฒนธรรมที่ครอบงำด้วยความตายที่ว่า แต่สิ่งที่มา’อารีสื่อออกมา อโดนีสเจาะช่องให้เสร็จ คำในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘ความหม่นไหม้’ (despondent) ยังไม่พอที่จะอธิบายกวีของอโดนีส เพราะมันยังบรรยายไม่ได้แม้เพียงกระผีกของความทุกข์ระทมขมขื่นแห่งชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น ‘เรื่องที่เป็นไปไม่ได้’ (พุทธเห็นว่า ‘ชีวิตเป็นอนิจจัง’-ผู้แปล) ผมเองคงถอดความกวีของอโดนีส ตามนัยนี้ออกมาได้ไม่เหมาะสมนัก แต่ก็จะขอยกตัวอย่างออกมาให้ท่านผู้อ่าน ได้สัมผัสกับอรรถรสของมันสักหน่อย :
วันแต่ละวันเป็นดั่งเด็กทารก
ที่ตายอยู่ภายในกำแพง
ซุกหน้าเข้าหาผนัง*
(*จากบทที่ชื่อว่า ‘อดีต’ ในเรื่อง ‘หน้าต่าง ๆ ของกลางวันและกลางคืน’)
ตอนผมเห็นความตายเดินมาตามทาง
ผมเห็นหน้ามันเป็นผม
ความคิดผมเหมือนขบวนรถจักร
คืบคลานออกมาจากหมอก
แล้วลับหายเข้าไปในหมอก
(*อ้างแล้ว หน้า 21)
“ถ้าเราไม่ได้กลายเป็นพระผู้เป็นเจ้า เราจะต้องตาย
เราต้องฆ่าพระองค์ หรือไม่ก็ตายไปเสีย”
ศิลาที่สาบสูญกระซิบมาจากอาณาจักรที่สาบสูญ*
(*อ้างแล้ว หน้า 21)
อึดอัดอยู่ในใบ้สนิท
ในพยางค์
ที่ไร้สรรพสำเนียง
โลกครวญคราง
อย่างไร้ภาษา
เพลงของผมบรรเลงความตาย
ในความปลื้มปีติแห่งปริเวทนาการ
ในทุกสรรพสิ่งที่เป็นอยู่
แด่ทุกผู้ที่ได้ยิน
ทำนองคือการปฏิเสธ
เนื้อร้องคือชีวิต
และชีวิตของผมนั้นคือโรคร้าย
ท่านผู้อ่านพึ่งใคร่ครวญผลงานของอโดนีสเอาเอง ว่าผมแสดงแต่ด้านที่เลวร้ายของเขาหรือไฉน แต่อันที่จริงแล้ว มันมีแต่ด้านที่มืดมนทั้งสิ้น ความเศร้าหมอง ความสลดหดหู่ การถวิลหาแต่ความตาย ล้วนเป็นสิ่งธรรมดาในงานที่ได้รับการแปลออกมาของเขา แต่ก็แน่นอนมีความโกรธเกี้ยวปรากฏอยู่ด้วย โดยเฉพาะตอนที่เขาเขียนถึงสหรัฐ บทกวีของเขาที่ชอบอ้างกันและชิ้นที่ยาวที่สุด จั่วหัวเรื่องเอาไว้ว่า ‘พิธีศพ (บางครั้งเขียนว่าหลุมศพ) แห่งนิวยอร์ค’ ในนั้นเขาเรียกนครแห่งนี้ (รวมทั้งคำอีกหลายคำ ที่ล้วนไม่น่าพึงใจ) ว่า ‘มหานครสี่ขา/ ส่ายหัวไปมาหาฆาตกร/ คนที่จมตายร่ำไห้/ ได้ยินอยู่แต่ไกลๆ’
ตอนที่เขาเขียนกวีชิ้นนี้ในปี 1971 นั้น เขาอยากเห็นนิวยอร์คถูกทำลาย และเรียกร้องไปยังผู้คนในย่านฮาเลมว่า “พวกท่านควรกวาดล้างนิวยอร์ค/ ใช้มหันตภัยแห่งพายุกล้า/ เป่ามันไปเหมือนใบไม้ปลิว”
หากจะให้ความเป็นธรรมกับเขาบ้าง อโดนีสก็เหมือนกับพวกทันสมัยนิยมตะวันตกทั่ว ๆ ไป เช่นวอล์ท วิทแมน (โดยเฉพาะสตีเฟน มัลลามี และชาร์ล โบเดอแลร์) ซึ่งอโดนีสเองเป็นผู้ยอมรับว่า คนเหล่านี้ช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจกวีอาหรับในยุคกลาง* หากดูจากสำบัดสำนวน อโดนีสพูดเหมือนผู้ก่อการร้าย แต่เขาไม่ถือเอาอารมณ์ดังกล่าวมาเป็นสรณะ ถึงเขาจะเป็นผู้ต่อต้านยิวที่รุนแรง แต่เขาก็ยังพบปะกับกวีอิสราเอล และชื่นชอบที่จะได้เสวนากับคนเหล่านั้น
(*เรื่อง กวีนิพนธ์ (Poetics) หน้า80-81)
ในฐานะที่เป็นกวีชาวอาหรับ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่อาหรับถือว่าเป็นกวี เขาได้ช่วยให้อรรถาธิบายสิ่งที่น่าตื่นใจยิ่ง นั่นคือเพื่อยังความเสียหายให้กับศัตรู ชาวอาหรับยินดีที่จะฆ่าตัวเอง เมื่อถูกทึ้งอยู่ระหว่างอดีตตามจารีตประเพณีที่เข้มงวด กับความทันสมัยที่ข่มขู่คุกคามและไม่เป็นที่พึงปรารถนา ชาวอาหรับตามความคิดเห็นของอโดนีสนั้น ไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพของตนได้ และกำลังหมิ่นเหม่ที่จะเป็นพวกนักทำลายล้าง เหมือนเช่นที่กวีของอัล-มา’อารีสะกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 11 และที่กวีของอโดนีสกวนให้ฟุ้งขึ้นในปัจจุบัน
‘ขุมนรกแห่งชีวิตที่มีไปวัน ๆ’ ซึ่งก็คือการที่ชาวอาหรับไม่สามารถย่อยแป้งหมักของปีศาจได้ ที่ไปกระตุ้นให้พวกเขาถวิลหาความตาย อันปรากฏเป็นข่าวที่น่าสะพรึงกลัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหนังสือพิมพ์ในขณะนี้ คำเตือนของอโดนีสเป็นคำจารึกบนหลุมฝังศพ ที่ขุดเตรียมเอาไว้ ถึงในตอนนี้ยังไม่มีใครจับจอง แต่ทว่าคนอาหรับกำลังสูญพันธุ์ครับ
“เรา (ชาวอาหรับ) กำลังสูญพันธุ์” นี่คือคำพูดของอโดนีส กวีชาวซีเรียที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ดูไบ ถอดความโดย MEMRI สถานีดักฟังสื่อของอิสราเอล* แต่สื่อหลัก ๆ ในตะวันตกไม่สน คำพูดที่ว่านี้เป็นการคาดหมายของอโดนีส** (นักเขียนผู้ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล ปี 2005 และ 2006-ผู้แปล) ทั้งนี้เพราะปีแล้วปีเล่าที่ผ่านไป โฉมหน้าในอนาคตของชาวอาหรับนับว่าจะมืดมัวลง ๆ และคำพูดครั้งล่าสุดของเขาก็แสดงออกซึ่งความสูญสิ้นแบบเดียวกับผมเลย (Spenglerian finality)
(*สถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลาง The Middle East Media Research Institute
**ในเทพนิยายของกรีก อโดนีสเป็นหนุ่มน้อยชาวกรีกที่มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงามชวนหลงใหล ด้วยความงามทำให้เขาเป็นที่หลงใหลของเทพีอะโพรไดท์-เทพีวีนัส กับเทพีเปอร์ซีโฟน-เจ้าแม่แห่งนรก หลังจากเสียชีวิตในระหว่างออกไปล่าหมูป่า ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ และในทุก ๆ ปีต้องแบ่งเวลาไปอยู่ในนรกและสวรรค์เพื่อให้เทพีทั้งสองได้เชยชม อโดนีสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็น-ความตาย’)
“เรากำลังสูญพันธุ์ ... เรามีผู้คนเป็นจำนวนมากก็จริง แต่เมื่อผู้คนไร้ซึ่งศักยภาพในการสร้างสรรค์ ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกของตัวเอง พวกเขาก็จะต้องพบกับความสาบสูญ ... เหมือนกับพวกสุเมเรียน พวกกรีกผู้ยิ่งใหญ่ และพวกฟาโรห์ ที่ต่างสูญพันธุ์กันไปหมดแล้ว”
เป็นธรรมดาพวกกวีมักจะชอบเว่อร์ แต่ไม่ใช่อโดนีส (นามปากกาของอาลี อาห์เม็ด ซาอิด) เขาเขียนกวีเป็นภาษาอาหรับในแง่ที่ลึกซึ้ง เขาชี้ว่าศาสนาอิสลามเป็นผู้ทำลายศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ของชาวอาหรับ ทำให้พวกเขาขาดศักยภาพที่จะทันสมัย สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘นรกของการมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ’ (hell of daily life) คือประเด็นหลักที่เขาเขียนถึง โปรดหาอ่านได้จากต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ*แล้ว
(*ดูเรื่อง โฉมหน้าแห่งกลางวันและกลางคืน (The Pages of Day and Night แปลโดยซามูเอล ฮาโซ) สำนักพิมพ์ Marlboro Press 1994 โลหิตของอโดนีส (The Blood of Adonis) สำนักพิมพ์ University of Pittsburgh Press 1971 เล่มอื่น ๆ กำลังทยอยแปลออกมา)
อโดนีสอุทิศชีวิตการงานที่ยาวนานของเขา (เขาจบปริญญาเอกทางปรัชญาที่มหาวิทยาลัยในปารีส ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอร์นของฝรั่งเศส) สร้างสรรค์งานวรรณกรรมสมัยใหม่ในภาษาอาหรับ ที่มีรากเง้าสืบทอดมาจากกวีอาหรับในยุคกลาง ทำให้เขาต้องฟาดฟันกับเหล่าศัตรู ทั้งที่เป็นอิสลามและพวกชาตินิยมอาหรับ ที่เป็นฆราวาสด้วยกันเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีในตะวันตก โฟอัด อาจามี วิญญูชนอเมริกัน-อาหรับทำประวัติเขาประกอบเรื่อง วังแห่งความฝันของชาวอาหรับ (Dream Palace of the Arabs) และโธมัส ฟรีดแมนก็เอ่ยถึงเขาในหนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่านักวิเคราะห์ตะวันตกยังไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไรกับคำพูดเชิงพยากรณ์ของเขาครั้งล่าสุดนี้ จึงพากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มันง่ายที่จะทึกทักเอาว่า คำพูดถึงวาระสุดท้ายของอโดนีสเป็นเพียงคำปรารภที่ฟุ้งซ่านของคนแก่ แต่มันเป็นเรื่องผิดถนัด ด้วยว่าอโดนีสมองประเด็นเฉียบขาดนี้ ด้วยสายตาที่เฉียบคมยิ่งนัก
อโดนีสบอกกับโทรทัศน์ดูไบว่า การที่จะทำให้คนอาหรับก้าวไปสู่โลกสมัยใหม่ ทำได้ไม่ยากเลย หากจะเปลี่ยนศาสนาอิสลาม จากการเป็นศาสนาโดยรัฐ ให้เป็นศาสนาของตัวบุคคล เขากล่าวว่า :
“ผมคัดค้านการที่ภายนอกเข้าไปแทรกแซงกิจการในโลกอาหรับ หากชาวอาหรับไม่มีความเหมาะสมจะเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยตนเอง การให้ภายนอกแทรกแซงเข้าไปก็ทำให้พวกเขาเป็นขึ้นมาไม่ได้ เงื่อนไขที่จะปูพื้นให้สังคมอาหรับเป็นประชาธิปไตยไม่มี จนกว่าจะมีการสังคายนายศาสนา ให้เป็นไปตามทิศทางใหม่ที่ถูกต้อง จนกว่าศาสนาจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้เสียก่อน”
เขาเสริมว่า ปัญหาก็คือชาวอาหรับไม่ต้องการเป็นอิสระ ส่วนข้อถามที่ว่าทำไมชาวอาหรับจึงชื่นชมเผด็จการนัก อโดนีสตอบดังนี้
“ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นเอก’ ซึ่งหากมองในเชิงปฏิบัติและในแง่ทางการเมือง ก็คือความเป็นวีรชน ความเป็นพระผู้ไถ่ หรือความเป็นผู้นำนั่นเอง แนวคิดดังกล่าวให้ความรู้สึกที่มั่นคง กับประชาชนที่กลัวเสรีภาพ คุณก็รู้ว่าบางคนกลัวเสรีภาพ”
ผู้สัมภาษณ์ : คงเพราะเสรีภาพส่อนัยไปทางอนาธิปไตยหรือไร?
อโดนีส : ไม่ใช่ครับ แต่เป็นเพราะว่าเสรีภาพนำมาซึ่งภาระที่หนักอึ้ง หมายความว่าแบกมันเอาไว้ได้ไม่ง่ายเลย
ผู้สัมภาษณ์ : คุณต้องมีนาย ...
อโดนีส : ในกรณีที่หากคุณมีเสรีภาพ คุณต้องเผชิญกับความเป็นจริงในชีวิตด้วยตนเอง คือเผชิญกับโลกทั้งโลก คุณต้องจัดการกับปัญหาของโลก จัดการกับทุกสิ่ง ...
ผู้สัมภาษณ์ : ทุกประเด็น ...
อโดนีส : ส่วนอีกด้านหนึ่ง หากเราเป็นทาส เราจะมีความอิ่มอกอิ่มใจ ไม่ต้องไปทำอะไรสักอย่าง ก็เหมือนกับองค์อัลเลาะห์ทรงแก้ปัญหาให้เราทุกสิ่งทุกอย่าง
ต่อข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาผู้รู้ในโลกอาหรับ ส่วนใหญ่พากันปฏิเสธหลักนโยบายของสหรัฐ (ที่บอกว่าหลักจารีตประเพณีของอิสลามกับประชาธิปไตยนั้นไปกันได้) นั้น ใคร ๆ ก็ใคร่จะได้ฟังจากปากผู้วิพากษ์สหรัฐอเมริกาบ้าง เรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่ว่าอโดนีสมีอิทธิพลต่อโลกอาหรับในทุกวันนี้มากแค่ไหน (อาหรับมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลก แต่งานแปลของอโดนีสมีแค่ปีละ 5 เล่มเท่านั้น) นักเขียนอาหรับในโลกมีเพียงน้อยนิด ดังนั้นอิทธิพลของพวกเขาต่อชุมชนจึงใหญ่โตขึ้นไปตามส่วน
ผมอ่านอาหรับไม่ออก และไม่มีความรู้ว่ากวีนิพนธ์ของเขาคู่ควรสมกับรางวัลโนเบลหรือไม่ (ในตอนก่อน ๆ ผมเคยเขียนเชียร์นักเขียนนวนิยายจากโลกมุสลิมผู้หนึ่ง คือออร์หัน ปามุกแห่งตุรกี ว่าควรจะได้รางวัลโนเบลปี 2006) แต่ผมเองก็ยังสงสัยว่า หากไม่มีอโดนีสช่วยแล้ว ตะวันตกจะแทรกตัวเข้าไปในโลกแห่งจิตวิญญาณของอาหรับได้หรือไม่ และไม่ใช่ว่าที่เขาพูดมานั้นทำยาก หากแต่ตรงกันข้ามกันเลย เพราะความจริงที่เขากล้าบอก เป็นเรื่องที่เราเห็นอยู่ตำตาต่างหาก ชาวอาหรับไม่ต้องการเสรีภาพ เพราะพวกเขาจะแบกรับภาระของชีวิตไม่ได้นั่นเอง อโดนีสกล่าวว่า อิสลามไม่เพียงกดดันโอกาสที่กวีจะได้แสดงออกเท่านั้น หากแต่ลิดรอนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยอมให้ปัจเจกบุคคลมีบุคลิกภาพเป็นตัวของตัวเอง นี่ต่างหากที่เป็นคำให้การต่อวัฒนธรรมของตัวเอง ที่น่าสนเท่ห์ น่าหวาดกลัว และสมบูรณ์ที่สุด
ในฐานะเป็นกวี อโดนีสไม่พูดถึงสภาวะแห่งจิตวิญญาณของโลกอาหรับ หากแต่เจาะลงไปในสภาพที่มันเป็นอยู่มากกว่า วรรณกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกอิสลาม เป็นแต่เพียงยกเอาข้อความในพระคัมภีร์กูรอ่านมาอ้างกัน และข้อความนั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนยกขึ้นมาอ้าง จะเต็มไปด้วยรักหรือเกลียด จะใจกว้างหรือคับแคบ สงบสันติหรือรบราฆ่าฟัน อย่างเคเรน อาร์มสตรองหรือโรเบิร์ต สเปนเซอร์ หรือจะอ้างให้เป็นอะไร ๆ ก็ล้วนได้ทั้งสิ้น คำอ้างทั้งหมดล้วนไม่มีประเด็น ไม่เป็นวุฒิภาวะ ใคร ๆ ก็สามารถยกข้อความในพระคัมภีร์กูรอ่าน หรือพระคัมภีร์ไบเบิล ขึ้นมาอ้างตามที่ตนเองอยากจะเชื่อ ด้วยเพราะมีอโดนีส เราจึงได้เยี่ยมเข้าไปมองประสบการณ์ด้านความเป็นทันสมัยในโลกอาหรับ ซึ่งก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงทีเดียว ผมไม่ขอแนะนำให้พวกขี้ใจอ่อน ขี้ตกอกตกใจเข้าไปชมกัน แต่สำหรับคนที่อยากจะแหวกผ่านประดาคำขวัญของท่านเกจิทั้งหลายแล้ว ท่านต้องเข้าไปครับ
อโดนีสเขียนว่า “กวีอาหรับพากันบอกว่าอิสรภาพและประชาธิปไตยเป็นมายาภาพ ที่ผมใช้คำว่า ‘มายาภาพ’ นั้น เพราะที่จริงชีวิตมีมาก่อนอิสรภาพและประชาธิปไตย แล้วหากจะมาห้ามไม่ให้ผมเป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้ผมมีชีวิตอยู่ แล้วจะให้ผมไปพูดถึงชีวิต ไม่ว่าจะพูดกับตัวหรือพูดให้ตัว ได้อย่างไรกัน ?”*
(*บทนำของเรื่อง หน้าต่าง ๆ ของกลางวันและกลางคืน หน้า 15)
ประเด็นนี้เขาให้อรรถาธิบายว่า “ทุกวันนี้เราเข้าใจความหมายต่าง ๆ โดยผ่านถ้อยคำ ผมพูด ผมจึงมีชีวิตอยู่ ดังนั้นการดำรงอยู่ของผมจึงเป็นตัวสร้างความหมาย ดังนั้นผมจึงหวังจะให้กวีอาหรับได้เริ่มพูด เริ่มเขียน โดยใช้ครรลองตามนี้”
ชีวิตจะดำรงอยู่โดยปราศจากความหมายไม่ได้ และความหมายเองก็อยู่ไม่ได้ หากไม่มีวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาวอาหรับ อันเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้จำกัดอยู่ด้วยสภาวะ หรือเขตแดนทางการเมือง หากแต่เป็นภาษา ในบทประพันธ์เรื่อง ‘กวีกับวัฒนธรรมต่อต้านกวี’ (Poetry and Apoetical Culture) ของเขา อโดนีสประกาศเรื่องที่น่าคิดว่า สิ่งที่ปรากฏในพระคัมภีร์กูรอ่าน ทำลายความเป็นไปได้ของการเขียนกวี ซึ่งก็คือความเป็นไปได้ของชีวิตนั่นเอง ก่อนยุคอิสลาม ภาษาอาหรับมีรากเง้าเป็นภาษากวี แต่ทันทีที่อิสลามกำเนิดขึ้น ภาษากวีก็สิ้นสุดลง
พอพระธรรมวิวรณ์เข้าแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของกวี มหาคัมภีร์เล่มนี้ก็อ้างตัวว่าเป็นสรรพพิญญู แต่องค์เดียวของสรรพสิ่ง และขับไล่กวีออกไปจากอาณาจักรนั้น กวีวัจน์ไม่ใช่คำแห่งสัจธรรม เหมือนดังที่กวีก่อนอิสลามเคยอ้างไว้อีกต่อไป กระนั้นก็ตาม ... อิสลามก็ยังยอมรับว่า กวีเป็นรูปแบบและวิธีการในการแสดงออกแบบหนึ่ง ไม่ได้ทำลายไปจนหมด เป็นแต่ทำลายบทบาทของกวีในการเป็นตัวแทนแห่งองค์ความรู้ และจัดสรรหน้าที่ใหม่ให้ กล่าวคือให้เป็นตัวเทศนาความจริง ที่ปรากฏในพระธรรมวิวรณ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงปอกลอกเอาคุณลักษณะเก่า ๆ ออกจากตัวกวี นั่นก็คือ ‘ความรู้โดยสัญชาติญาณ และอำนาจในการเล่าขานความรู้’ (intuition and the power of revelation) และทำให้มันเป็นแค่เครื่องมือสื่อสารชิ้นหนึ่งเท่านั้น
“... ตราบเท่าที่กวีเอาตัวเองเข้าไปรับใช้อาการคลั่งศาสนา เปลี่ยนความเชื่อ และผูกมัดตัวเองเข้ากับการเมืองและอุดมการณ์หนึ่ง ๆ กวีในสังคมอาหรับก็ได้ถูกละทิ้ง และค่อย ๆ อับเฉาลง”* อโดนีสเสริมอีกว่า :
(*เพิ่งอ้าง หน้า 101-102)
“นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของชาวอาหรับ ที่ผมขอเรียกมันว่า ‘การสมยอมกับอดีต’ ("pastism") ตามความในบทนี้ความว่า pastism หมายถึงการไม่ยอมรับ และความกลัวสิ่งไม่ปกติ*
(*อ้างแล้ว)
อโดนีสอธิบายว่าสิ่งนี้เป็นความจริง เพราะพระคัมภีร์กูรอ่านได้ไขปริศนาทุกอย่าง จนเป็นอันยุติแล้ว แจ่มชัดแล้ว ขจัดความสงสัยใด ๆ ออกไปจนหมดแล้ว :
“องค์การศาสนา-การเมืองที่ว่า แสดงตนว่ามีอำนาจ เป็นผู้พิทักษ์พระคัมภีร์กูรอ่าน มันเห็นว่าคำสอนในพระคัมภีร์ ที่เกี่ยวกับมนุษย์และจักรวาลเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอนแล้ว ไม่มีข้อผิดพลาด บกพร่องใด ๆ อีกโดยเด็ดขาด ในทางกลับกัน เมื่อมันสุดจะจริงแท้แน่นอนเช่นนี้ คนมุสลิมแต่ละคนจะต้องถูกจัดตั้งให้มาล้อมรวมกัน รอบ ๆ ศรัทธาในพระสูตรดังกล่าว ไม่ต้องตั้งคำถามใด ๆ ที่จะนำมาซึ่งความงุนงงสงสัย ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่อย่างไรก็ตามที เมื่อมีสภาพการณ์เช่นนี้ ความรู้สึกแปลกแยกจึงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น บุคคลช่างสงสัยจะไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นสมาชิกในชุมชนดังกล่าวได้”
“เพราะศาสนาอิสลามคือพระราชสารชิ้นสุดท้ายที่พระเจ้าประทานลงมาให้มนุษยชาติ เป็นการประทับตราคำว่า ‘สวรรค์’ กำกับเอาไว้แล้ว คำพูดใด ๆ ที่จะมีตามมา ล้วนไม่มีสาระอะไร ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น คำพูดของคน (ในระดับอารมณ์ความรู้สึก) ต้องพยายามเทิดทูนบูชาพระราชสารชิ้นนี้ (และในระดับภูมิปัญญา) จะต้องมีเอาไว้ใช้อธิบายความให้เสียงดังฟังชัด”
“ดังนั้นกวี อันเป็นรูปแบบการแสดงออกชั้นสูงที่สุด จะมีค่าได้ก็แต่การมีอยู่ของพระคัมภีร์เท่านั้น”*
(*อ้างแล้ว หน้า 102-103)
มองในแง่วรรณกรรม ไม่ใช่แง่เทวะวิทยา (มองในฐานะเป็นคำพูดของคน ไม่ใช่คำพูดของเทพ) อโดนีสก็พูดเรื่องนี้เหมือน ๆ กับพระราชดำรัสของพระสันตะปาปาเบเนดิคที่ 16 ที่ดำรัสเกี่ยวกับ ‘สิ่งอันเป็นที่สุดในพระธรรมวิวรณ์ในศาสนาอิสลาม’ (the finality of Islamic revelation*) ที่ทรงว่าเอาไว้เมื่อปีกลาย
(*โปรดดูเรื่อง When even the pope has to whisper ในเอเชียไทม์ วันที่ 10 มกราคม 2006)
คนตะวันตกคงจะกระเดือกคำ ๆ นี้ลงไปค่อนข้างยาก เพราะการเขียนกวีที่ยอพระยศ เป็นสุดยอดของวรรณศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือความสลับซับซ้อน ที่พอจะคิดออกในตอนนี้ก็เช่น ดังเต้ในภาษาอิตาลี จอห์น ดอนน์ และจอห์น มิลตันในภาษาอังกฤษ นักบุญจอห์น ไม้กางเขนในภาษาสเปน ฟรีดริช ก๊อตต์เลียบ คล็อปสต๊อกค์ และคริสเตียน โฟชต์ก๊อตต์ จีลเยอร์ทในภาษาเยอรมัน และเยฮูดา ฮาเลอวีในภาษาฮิบรู
สำหรับชาวคริสต์กับชาวยิว พระเจ้าไม่ใช่พระราชาที่พระราชดำรัสเป็นสัจธรรมที่โต้แย้งไม่ได้ แต่พระเจ้าของคนเหล่านี้เป็นพระเจ้าแห่งความรัก ที่พระพักตร์ถูกซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็น บางทีสิ่งนี้เองที่เป็นประเด็นให้กวีนิพนธ์ในประวัติศาสตร์ได้รจนาถึง ในเพลง ‘บทเพลงแห่งเพลง’ (Song of Songs) ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ท่านนักบุญเซนต์จอห์น ได้นำมาขับขานฉบับดั่งเดิม ได้สื่อความรักของพระเจ้าออกมาโดยใช้ถ้อยคำที่ป่วนสวาท (erotic terms) เสียด้วยซ้ำ สำหรับกวีชาวมุสลิมจะเอาคำพูดที่สื่อถึงอาการกระสันสวาท ไปเที่ยวตีเสมอกับพระผู้เป็นเจ้าแบบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงบังอาจเป็นที่ยิ่ง หากกวีเอาแว่นมาส่องชีวิตภายในตัวตนของเรา ตัวตนของคนตะวันตกก็ย่อมจะแตกต่างกับของคนมุสลิมแบบฟ้ากับดิน เช่นเดียวกับแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าแห่งความรักความเมตตา ที่ให้ความปลื้มปีติกับคนยาก และองค์พระอัลเลาะห์ที่ทรงรักคนแข็งแรง และประทานพรให้กับผู้ชนะ ผมเองพูดเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ครั้งแล้ว
เราพอจะหากวีแบบเกื้อศาสน์ปนรหัสลัทธิ (mystical-religious poetry) ที่เป็นอยู่ในกระแสหลักของชาวตะวันตกจากศาสนาอิสลาม ก็มีแต่พวกนิกายซูฟี ซึ่งนิกายนี้ก็เป็นเพียงกระพี้ ที่อยู่วงนอกของอิสลามกระแสหลักเท่านั้น จากการศึกษา อโดนีสสรรเสริญกวีชาวอาหรับในสมัยอิสลาม 3 ท่าน* อันเป็นแรงบันดาลใจให้เขา คือท่านอาบู นูวาส ท่านอัล-นีฟฟารี และท่านอัล-มา’อารี อโดนีสกล่าวว่า ท่านอาบู นูวาส “ใส่หน้ากากตัวตลก ที่กำลังเมาแอ๋ ความเมามายปลดเปลื้องตัวตน ออกจากความคิดอ่านตามจารีตประเพณีและตรรกะทั้งปวง ให้ขึ้นไปสู่จุดปลดปล่อยโดยสิ้นเชิง”** ส่วนท่านอัล-นีฟฟารีใช้ภาษา ‘แบบหฤหรรษ์โพ้นบรรยาย’ (transcendental bliss) ที่ “ช่วยขจัดช่องว่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิสิทธิ์ ทำให้สิ่งศักดิสิทธิ์มีความเป็นมนุษย์มนาและทำให้ความคิดอ่านของมนุษย์สูงส่ง เป็นท่วงทำนองกวี เป็นมนุษย์”
(*เรื่อง กวีอาหรับเบื้องต้น (An Introduction to Arab Poetics) แปลโดยแคเธอรีน โคบฮัม สำนักพิมพ์ ลอนดอน 1990
**เรื่อง กวีนิพนธ์ (Poetics) หน้า 60)
แต่ที่อโดนีสชื่นชอบมากที่สุดก็คือท่านอาบุล อลา อัล-มา’อารี นักทำลายล้าง (Nihilist) แห่งศตวรรษที่ 11 ว่ากันตาม ‘วิถีของชาวอาหรับ’ หากกวีเคยเป็น ‘ศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำ’ อัล-มา’อารีก็ทำให้มันกลายเป็น ‘ศิลปะแห่งความนัย’ ... หากมองในแง่ภาษาหรือความนัยแล้ว อัล-มา’อารีไม่ได้ให้อะไรเลย ตรงกันข้าม เขาทำให้มันทั้ง 2 เป็นเรื่องน่างุนงงสงสัย เพราะเขาบอกว่ามันทั้งสองเป็นแค่วิธีแสดงออกของสิ่งไร้ประโยชน์และความว่างเปล่า เขาจึงสร้างโลกของเขาอย่างหนึ่งขึ้นมา – หากคำว่า ‘การสร้างสรรค์’ เป็นคำที่ถูกต้อง จุดเริ่มของเขาก็คือความตาย ความตายเป็นน้ำอมฤต เป็นยาชุบชีวิต ตัวตนของชีวิตเป็นเพียงความตาย ที่ล่วงผ่านไปตามครรลองของมัน เสื้อผ้าของใครก็เป็นผ้าห่อศพของคนนั้น บ้านก็คือหลุมศพ และชีวิตที่แท้จริงของเขาก็คือความตาย ... แขนงที่ชั่วร้ายที่สุดของสัจธรรม ก็คือหากตัวมันเป็นตัวก่อให้เกิดมนุษย์ ชีวิตก็เป็นเพียงความเจ็บป่วย ที่มีแต่ต้องตายจึงจะรักษาให้หาย*
(*เพิ่งอ้าง หน้า 65 )
เราจะได้ยินคำว่า ‘วัฒนธรรมแห่งความตาย’ ในงานของเขาบ่อย ๆ แต่ไม่มีประตูที่จะเปิดเข้าไปสัมผัสกับวัฒนธรรมที่ครอบงำด้วยความตายที่ว่า แต่สิ่งที่มา’อารีสื่อออกมา อโดนีสเจาะช่องให้เสร็จ คำในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘ความหม่นไหม้’ (despondent) ยังไม่พอที่จะอธิบายกวีของอโดนีส เพราะมันยังบรรยายไม่ได้แม้เพียงกระผีกของความทุกข์ระทมขมขื่นแห่งชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น ‘เรื่องที่เป็นไปไม่ได้’ (พุทธเห็นว่า ‘ชีวิตเป็นอนิจจัง’-ผู้แปล) ผมเองคงถอดความกวีของอโดนีส ตามนัยนี้ออกมาได้ไม่เหมาะสมนัก แต่ก็จะขอยกตัวอย่างออกมาให้ท่านผู้อ่าน ได้สัมผัสกับอรรถรสของมันสักหน่อย :
วันแต่ละวันเป็นดั่งเด็กทารก
ที่ตายอยู่ภายในกำแพง
ซุกหน้าเข้าหาผนัง*
(*จากบทที่ชื่อว่า ‘อดีต’ ในเรื่อง ‘หน้าต่าง ๆ ของกลางวันและกลางคืน’)
ตอนผมเห็นความตายเดินมาตามทาง
ผมเห็นหน้ามันเป็นผม
ความคิดผมเหมือนขบวนรถจักร
คืบคลานออกมาจากหมอก
แล้วลับหายเข้าไปในหมอก
(*อ้างแล้ว หน้า 21)
“ถ้าเราไม่ได้กลายเป็นพระผู้เป็นเจ้า เราจะต้องตาย
เราต้องฆ่าพระองค์ หรือไม่ก็ตายไปเสีย”
ศิลาที่สาบสูญกระซิบมาจากอาณาจักรที่สาบสูญ*
(*อ้างแล้ว หน้า 21)
อึดอัดอยู่ในใบ้สนิท
ในพยางค์
ที่ไร้สรรพสำเนียง
โลกครวญคราง
อย่างไร้ภาษา
เพลงของผมบรรเลงความตาย
ในความปลื้มปีติแห่งปริเวทนาการ
ในทุกสรรพสิ่งที่เป็นอยู่
แด่ทุกผู้ที่ได้ยิน
ทำนองคือการปฏิเสธ
เนื้อร้องคือชีวิต
และชีวิตของผมนั้นคือโรคร้าย
ท่านผู้อ่านพึ่งใคร่ครวญผลงานของอโดนีสเอาเอง ว่าผมแสดงแต่ด้านที่เลวร้ายของเขาหรือไฉน แต่อันที่จริงแล้ว มันมีแต่ด้านที่มืดมนทั้งสิ้น ความเศร้าหมอง ความสลดหดหู่ การถวิลหาแต่ความตาย ล้วนเป็นสิ่งธรรมดาในงานที่ได้รับการแปลออกมาของเขา แต่ก็แน่นอนมีความโกรธเกี้ยวปรากฏอยู่ด้วย โดยเฉพาะตอนที่เขาเขียนถึงสหรัฐ บทกวีของเขาที่ชอบอ้างกันและชิ้นที่ยาวที่สุด จั่วหัวเรื่องเอาไว้ว่า ‘พิธีศพ (บางครั้งเขียนว่าหลุมศพ) แห่งนิวยอร์ค’ ในนั้นเขาเรียกนครแห่งนี้ (รวมทั้งคำอีกหลายคำ ที่ล้วนไม่น่าพึงใจ) ว่า ‘มหานครสี่ขา/ ส่ายหัวไปมาหาฆาตกร/ คนที่จมตายร่ำไห้/ ได้ยินอยู่แต่ไกลๆ’
ตอนที่เขาเขียนกวีชิ้นนี้ในปี 1971 นั้น เขาอยากเห็นนิวยอร์คถูกทำลาย และเรียกร้องไปยังผู้คนในย่านฮาเลมว่า “พวกท่านควรกวาดล้างนิวยอร์ค/ ใช้มหันตภัยแห่งพายุกล้า/ เป่ามันไปเหมือนใบไม้ปลิว”
หากจะให้ความเป็นธรรมกับเขาบ้าง อโดนีสก็เหมือนกับพวกทันสมัยนิยมตะวันตกทั่ว ๆ ไป เช่นวอล์ท วิทแมน (โดยเฉพาะสตีเฟน มัลลามี และชาร์ล โบเดอแลร์) ซึ่งอโดนีสเองเป็นผู้ยอมรับว่า คนเหล่านี้ช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจกวีอาหรับในยุคกลาง* หากดูจากสำบัดสำนวน อโดนีสพูดเหมือนผู้ก่อการร้าย แต่เขาไม่ถือเอาอารมณ์ดังกล่าวมาเป็นสรณะ ถึงเขาจะเป็นผู้ต่อต้านยิวที่รุนแรง แต่เขาก็ยังพบปะกับกวีอิสราเอล และชื่นชอบที่จะได้เสวนากับคนเหล่านั้น
(*เรื่อง กวีนิพนธ์ (Poetics) หน้า80-81)
ในฐานะที่เป็นกวีชาวอาหรับ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่อาหรับถือว่าเป็นกวี เขาได้ช่วยให้อรรถาธิบายสิ่งที่น่าตื่นใจยิ่ง นั่นคือเพื่อยังความเสียหายให้กับศัตรู ชาวอาหรับยินดีที่จะฆ่าตัวเอง เมื่อถูกทึ้งอยู่ระหว่างอดีตตามจารีตประเพณีที่เข้มงวด กับความทันสมัยที่ข่มขู่คุกคามและไม่เป็นที่พึงปรารถนา ชาวอาหรับตามความคิดเห็นของอโดนีสนั้น ไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพของตนได้ และกำลังหมิ่นเหม่ที่จะเป็นพวกนักทำลายล้าง เหมือนเช่นที่กวีของอัล-มา’อารีสะกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 11 และที่กวีของอโดนีสกวนให้ฟุ้งขึ้นในปัจจุบัน
‘ขุมนรกแห่งชีวิตที่มีไปวัน ๆ’ ซึ่งก็คือการที่ชาวอาหรับไม่สามารถย่อยแป้งหมักของปีศาจได้ ที่ไปกระตุ้นให้พวกเขาถวิลหาความตาย อันปรากฏเป็นข่าวที่น่าสะพรึงกลัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหนังสือพิมพ์ในขณะนี้ คำเตือนของอโดนีสเป็นคำจารึกบนหลุมฝังศพ ที่ขุดเตรียมเอาไว้ ถึงในตอนนี้ยังไม่มีใครจับจอง แต่ทว่าคนอาหรับกำลังสูญพันธุ์ครับ