xs
xsm
sm
md
lg

เหตุไฉนเวียดนามจึงทั้งรักทั้งชัง

เผยแพร่:   โดย: แอนดรูว์ ฟอร์บส

26/04/2007

การที่เวียดนามก่อร่างสร้างตัวมากว่า 2,000 ปี ก่อนจะกลายมาเป็นประชาชาติ เป็นปึกเป็นแผ่นได้นั้น เวียดนามจำต้องขึ้นต่อปัจจัยสำคัญแต่เพียงตัวเดียว ที่คงแน่ไม่แปรผันไปเป็นอย่างอื่นเลย นั่นก็คือ ‘ความที่ตั้งอยู่ติดกับจีน’ นั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในหลาย ๆ มิติ ล้วนเป็นเรื่องในครัวเรือนแทบทั้งสิ้น บางทีก็ใกล้ชิดร่วมค่านิยม บางทีก็ขมขื่นห้ำหั่นกันราวจะเป็นจะตาย

มองไปทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์ ไม่มีประเทศใดแล้วที่จะใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับจีน เกินกว่าเวียดนามไปได้ แล้วก็ไม่มีประเทศใดในย่านนี้อีกเช่นกัน ที่จะต่อต้านการครอบงำของจีนได้อย่างยาวนานเท่ากับเวียดนาม และโดยการกระทำแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องสังเวยโอกาสที่จะได้รอมชอมกันทางการเมือง สูญเสียเลือดเนื้อ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไปอย่างเอนกอนันต์ (คือถ้าไม่หนี ก็ต้องยอมให้เขากลืนแบบไทย-ผู้แปล)

สำหรับเวียดนาม จีนเป็นทั้งคำอวยพร และเป็นทั้งคำสาบแช่ง ตลอดระยะเวลาดังกล่าว จีนเปรียบเสมือนพ่อทูนหัวผู้ยื่นวัฒนธรรมให้ แต่ไม่มีคนเอา แต่ทว่ายักษ์ใหญ่ทางตอนเหนือ ‘ก็ยังตั้งอยู่ที่นั่นเสมอมา’ เกือบ 1 พันปีมาแล้วที่เวียดนามต้องตกอยู่ใต้การยึดครองของจีน (ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นปราบปราม ‘นามเวียด’ ลงได้ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และถึงเวียดนามได้รับเอกราช ตั้งเป็นประเทศ ‘ไดเวียด’ ได้ในปี ค.ศ. 967) เวียดนามต้องกลายเป็นเพียง ‘ด่านชายแดน’ (outpost) ของอารยธรรมจีน ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

ตลอดช่วงเวลานั้น ประเทศทั้งหลายในอินโดจีนล้วนเป็นพุทธแบบเถรวาท มีสายสัมพันธ์โยงใยกับชมพูทวีป แต่ศาสนา-อารยธรรมของเวียดนามเป็นศาสนาผสม ระหว่างพุทธศาสนาแบบมหายาน บวกเต๋า บวกขงจื้อ ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘ต๋ามหยาว’ (tam giao) หรือ ‘สามศาสนา’ ที่รับมาจากจีน (จีนเรียกซานเจี้ยว-ผู้แปล) จนกระทั่งกาลล่วงมาถึงศตวรรษที่ 17 ได้มีการนำอักษรโรมันมาเขียนเลียนคำในภาษา ‘ก๊วกหงู’ (quoc ngu) นั้น ปัญญาชนเวียดนามก็ยังใช้อักษรจีน เขียนเลียนเสียงภาษา ‘จู๋โญ่’ (chu nho) ของตัวอยู่

ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เวียดนามจึงคลี่คลายขยายตัวไปในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งอาณาจักรกลาง (จงกว๋อ) ฉบับย่อส่วน อยู่ภายใต้การปกครอง ที่ได้รับมอบอำนาจมาจากจักรพรรดิผู้มะลังมะเลืองกระเดื่องเดช ที่ประทับอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ที่ต้องห้ามสมชื่อจริง ๆ ในปักกิ่ง* รวมทั้งจากราชสำนักที่สุดจะขงจื้อจ๋า
(*ตรงนี้คลาดเคลื่อนนิดหน่อย จีนเพิ่งสถาปนาปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองในสมัยราชวงศ์หยวน 1271-1368 ตอนนั้นได้ชื่อว่า ‘ข่านบาลิก’ (เมืองหลวงของข่าน) หลังความปั่นป่วนวุ่นวายไปอีกระยะหนึ่ง ปักกิ่งกลับขึ้นมาเป็นเมืองหลวงขึ้นมาอีกครั้ง โดยการสถาปนาของจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ในปี 1420 และเป็นมาจนกระทั่งบัดนี้-ผู้แปล)

ทั้ง 2 ประเทศต่างสำเหนียกในรากเง้าทางวัฒนธรรม ที่ผูกพันทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่นในมโนนึก แต่ก็ด้วยสายตาที่หวาดระแวงกันและกันอย่างลึกล้ำ ในหลายต่อหลายศตวรรษที่ตกอยู่ใต้การยึดครอง เวียดนามรับอารยธรรมจีนเอามาไว้ในหลายต่อหลายด้าน ขณะที่ในระหว่างนั้นก็ต่อตี เพื่อที่จะคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว และรื้อฟื้นเอกราชแห่งความเป็นชาติของตัวขึ้นมาอย่างสุดฤทธิ์

ในสมัยราชวงศ์ถัง (ศตวรรษที่ 6-9) กองโจรเวียดนามที่สู้รบกับจีนร้องเพลงศึก ที่มีเนื้อหาแยกแยะอัตลักษณ์ระหว่างชาติทั้ง 2 อย่างชัดเจน ดังนี้

รบเพื่อเลี้ยงผมยาว
รบเพื่อรักษ์ฟันดำ
รบเพื่อให้รู้ซึ้งถึงความทรนงองอาจแห่งคนแดนใต้ ที่ไม่มีวันยอมแพ้

สำหรับชาวจีน พวกเขาถือว่าคนเวียดนามเป็นเหมือนน้อง ที่พี่หยิบยื่นอารยธรรมระดับสูงให้ ซึ่งก็คือเอกสิทธิ์ที่จะได้รับการยอมรับให้เข้ามาร่วมก๊วนกัน (Chinese polity)

แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อไหน ๆ ก็จะมาเป็นพี่เป็นน้องกันแล้ว ถ้าหากคิดจะละเมิดบรรทัดฐานแบบจีน หรือตั้งจิตคิดขบถต่อการปกครองของจีนแล้วไซร้ จะต้องถูกกำราบด้วยความรุนแรง ความนี้มีจารึกเอาไว้ในพระราชสาร ที่จักรพรรดิไถ้จงแห่งราชวงศ์ซ่งมีไปยังกษัตริย์เลฮวน (Le Hoan) ในปี 979 เพียงแค่สิบกว่าปี หลังจากที่เวียดนามเพิ่งจะประกาศความเป็นไทของตนขึ้นใหม่อีกครั้ง

เหมือนครูใหญ่ผู้เย็นชา พระเจ้าไถ้จงทรงเรียกร้องให้พระเจ้าเลฮวน ไตร่ตรองถึงหลักเหตุผล แล้วรีบกลับเข้ามาในอ้อมแขนของจีนเสีย “ถึงแม้ทะเลของพระองค์จะให้มุก พวกเราก็จะขว้างทิ้งน้ำ ถึงภูเขาในดินแดนของท่านให้ทอง พวกเราจะปัดเสียให้ฟุ้งกระจาย ปลิวไปอย่างฝุ่น เราไม่ปรารถนาของมีค่าของท่าน ท่านเดินเหิน กระโดดไปไหนต่อไหนราวคนป่า แต่เรามีบุษบกเทียมม้า ท่านดื่มน้ำทางจมูก เรามีข้าวและสุรา ให้เราเข้าไปเปลี่ยนธรรมเนียมของท่านเสียเถิด ตัดผมซะ เราจะสรวมหมวก เวลาท่านพูด ฟังดูเหมือนเสียงนกร้อง เรามีหนังสือ มีการสอบ มาให้เราสอนกฎระเบียบและความรู้ให้ ... ตัวท่านไม่อยากพ้นจากสภาพเป็นคนป่าในเกาะห่างไกล ออกมาเบิ่งมองบ้านของอารยะชนหรือไฉน? ไม่อยากทิ้งหญ้าและใบไม้ที่ใส่ หันมาสู่ดอกไม้ สรวมเสื้อคลุมปักลายภูเขาและมังกรดอกหรือ? เข้าใจไหมที่ว่ามานี่?”

อันที่จริงพระเจ้าเลฮวนเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าไถ้จงว่ามาดี และก็เหมือนคนรุ่นหลังในสมัยนี้ทั้งหลาย คือรู้ว่าตัวต้องการอะไรจากจีน คือพวกเขาพร้อมจะมีวัฒนธรรมและอารยธรรมจีน โดยไม่ต้องขึ้นสังกัดทางการเมืองของจีน และไม่ถูกจีนมาก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของตน ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน ๆ ทัศนะแบบนี้ทำให้พระเจ้าไถ้จงกริ้วยิ่งนัก ก็เหมือนคนจีนรุ่นหลัง ๆ นี่แหละ

พอมาถึงปี 1407 ราชอาณาจักรหมิงสามารถกลับไปยึดครองเวียดนาม เพื่อนบ้านทางแดนใต้ที่เป็นเอกราช และแสนจะดื้อดึงเอาไว้ได้อีกวาระหนึ่ง จักรพรรดิหย่งเล่อ (ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตามความคิดของพระองค์ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเวียดนามแล้ว) ทรงใช้นโยบายบีบบังคับให้เวียดนามเป็นจีน ไม่จำเป็นต้องเดาก็ได้ เวียดนามปฏิเสธ ‘พระมหากรุณาธิคุณ’ ที่ว่า แล้วตีโต้กลับมา ขับไล่จีนออกไปอีกครั้งหนึ่งในปี 1428

เมื่อได้ทรงสดับว่าพวกเวียดนามขบถ พระเจ้าหย่งเล่อทรงกริ้วอย่างสุด ๆ พระองค์ย้ำว่าเวียดนามไม่ใช่รัฐบรรณาการ (ประเทศราช) หากแต่เป็นมณฑลหนึ่งของจีน ที่ได้เคยเข้ามาอาศัยใบบุญจีน แต่บัดนี้กลับมาปฏิเสธประโยชน์นี้ไปอย่างเสีย ๆ หาย ๆ เมื่อใกล้ชิดสนิทสนมกันปานฉะนี้ จักรพรรดิหย่งเล่อทรงใช้คำว่า หมี่ หมี่ (mi mi) ที่แปลได้ว่า ‘แนบสนิทชิดใกล้’ (แต่พจนานุกรมไทย-จีนของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ แปลว่า ‘สะดีดสะดิ้ง-ยียวน ป่วนสวาท’-ผู้แปล) การก่อขบถคิดคดแบบนี้ร้ายกาจนัก อย่ากระนั้นเลย บี้ (...) ให้แหลกไปเลยจะดีกว่า

จีนขึ้นขี่อยู่บน

บางครั้งศัพท์คำว่า ‘แนบสนิทชิดใกล้’ กับเวียดนาม ที่เป็นคู่ผู้อ่อนแอกว่า ก็ก่อให้เกิดภาพที่เย้ายวนป่วนสวาทอย่างแรง (a strongly sexual imagery) คืบคลานเข้ามาในมโนนึก ในปี 248 คุณหญิงเจี่ยว (Triu) วีรสตรีผู้อาจหาญที่ก่อการลุกขึ้นสู้ต่อต้านการปกครองจีนอย่างกว้างขวาง ได้ออกมาประกาศว่า “ฉันหมายจะขี่พายุกล้า ฆ่าฉลามท่ามกลางสมุทรใหญ่ ขับไล่ผู้รุกรานที่คอยล้างผลาญชาติ ทำลายแอกแห่งความเป็นทาส ไม่ขอยอมเป็นทาสบำเรอกามให้ผู้ใด”

คำที่คุณหญิงใช้พูดเลือกสรรมาแล้วอย่างดี ไม่ใช่คำเปรียบเปรย หญิงสาวชาวเวียดนามตกเป็นแหล่งค้าทาสสวาทของจีนมาโดยตลอด ในสมัยราชวงศ์ถัง ท่านหยวนเฉิน กวีชาวจีนได้เขียนโคลงชมเชย ‘ทาสสาวชาวเวียด ผิวนุ่มเนียนขาวราวขนผีเสื้อ’ เท่าทุกวันนี้ ตลาดค้าผู้หญิงเวียดนามในไต้หวัน สร้างความอับอายและโกรธแค้นให้กับคนชาวเวียดนามจำนวนมาก

ตอนที่เหงียน ฮุย เถียบ (Nguyen Huy Thiep) เขียนนวนิยายเรื่อง ทองเพลิง (Fired Gold) ของเธอในปี 1989 เธอบอกเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง “คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของประเทศนี้ก็คือมันเล็กและอ่อนแอ เวียดนามเปรียบเสมือนหญิงสาวบริสุทธิ์ ที่อารยธรรมจีนเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำ หญิงคนนั้นทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งอับอายด้วยการถูกปู้ยี่ปู้ยำไปในเวลาเดียวกัน”

จีนเชื่อว่าเวียดนามไม่ได้เป็นอีกชาติหนึ่งหาก แต่เป็นคนในครอบครัว เป็นจีนเกือบทั้งแท่ง ได้รับประโยชน์จากอารยธรรมจีน แต่ก็ต่อต้านคัดค้านความเป็นจีนมาอย่างดื้อด้าน ศตวรรษแล้ว ศตวรรษเล่า จนกระทั่งเป็นมาจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างสงครามอินโดจีนรอบสอง (รบกับสหรัฐ-ผู้แปล) การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายจีนย้ำว่าเวียดนามกับจีน “ใกล้ชิดกันเปรียบเสมือนฟันกับริมฝีปาก” อย่างไรก็ดี ทันทีที่สหรัฐแพ้ เวียดนามชูความเป็นเอกราชของชาติขึ้นในทันที โดยหันไปญาติดีกับสหภาพโซเวียต เปิดฉากรุกรานเพื่อนบ้านกัมพูชา โค่นฝ่ายเขมรแดง ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของจีนในเอเชียอาคเนย์ ลงในปี 1978-79

กระตุ้นให้จีนโกรธแค้นขึ้นมาอย่างไม่บันยะบันยัง ปักกิ่งตั้งใจที่จะสอนบทเรียนให้กับเวียดนาม ในฐานะที่ ‘ไม่กตัญญู กตเวที’ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในตอนนั้น ออกมาประณามเวียดนามโดยเปิดเผย ว่าเป็น ‘ไอ้เด็กเกเรเกกมะเหรกแห่งตะวันออก’ นักการทูตไทยผู้หนึ่งชี้ว่า “ทันทีที่เรื่องเวียดนามปรากฏขึ้น คุณจะเห็นเติ้งเสี่ยวผิงเปลี่ยนไปในทันที”

“ความโกรธเกลียดของเขาเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วน ๆ ขากถุยใส่กระโถน ตะโกนเสียงดังด่าคนเวียดนามว่า ‘หมา’” โดยคำสั่งของเติ้ง กองทัพจีนรุกรานเวียดนามในปี 1979 ยึด 5 จังหวัดชายแดนทางเหนือของเวียดนาม หลังจาก ‘สั่งสอน’ พอหอมปากหอมคอ ก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเป็นระบบ แล้วถอนตัวกลับ

แต่จริง ๆ แล้ว ไผสอนไผ? จีนหมายจะให้เวียดนามถอนทหารหลักออกจากแนวรบในกัมพูชา แต่เวียดนามไม่นำกองทหารส่วนนี้ออกมารบ หากแต่ใช้ทหารบ้านและทหารท้องถิ่นแทน ผลของสงคราม ความเสียหายเกิดแก่ทั้งสองฝ่ายพอ ๆ กัน จีนหน้าแตกไปหลาย ทั้งในบ้านและความเชื่อถือของสังคมโลก

แล้วนับเป็นพันปีแบบนี้ จีนสอนบทเรียนอะไรให้เวียดนามจดจำบ้าง อ๋อ ก็มันอยู่ที่นั่นไง มันใหญ่ มันไม่หนีไปไหน ดังนั้นหากเป็นไปได้ ก็ให้เอาใจมันบ้าง และในยามจำเป็นก็ให้รบด้วยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มี

ก็เหมือนอย่างที่จีนมองเวียดนามว่าเป็นเด็กไม่กตัญญู เกเรเกกมะเหรก เวียดนามก็มองจีนว่าเย่อหยิ่ง ก้าวร้าวรุกราน เป็นมหาอำนาจที่ต้องแข่งขัน ระวังระไวเอาไว้ตลอด อ่อนให้ในยามสันติ แต่ต้องยันเอาไว้ให้ได้ในยามเกิดสงคราม

ในปี 1946 หรือราว 1,700 ปี หลังจากที่คุณหญิงจุ้ยว่าเอาไว้ โฮ่จี๋หมิง ผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนามอีกผู้หนึ่ง ก็ออกมาตักเตือนพรรคพวกร่วมขบวนการเวียดมินห์โดยใช้ศัพท์ที่รุนแรง เกี่ยวกับการที่กองทัพจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) วางกำลังขนาดใหญ่ไว้ทางตอนเหนือ เพื่อเป็นกันชนกับฝรังเศส “ไอ้พวกโง่เอ๊ย ไม่สำเหนียกบ้างหรือไร หากพวกจีนยังอยู่ที่นี่? จดจำประวัติศาสตร์ไม่ได้เลยหรือไฉน?”

“คราวที่แล้วที่มันมาถึงนี่ มันก็มาอยู่นานตั้งพันปี ไอ้พวกฝรั่งนี่มันต่างชาติ พวกมันกำลังอ่อนแอ ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังจะตาย คนขาวในเอเชียจบแล้ว แต่หากคนจีนอยู่ มันจะไม่ยอมไปไหน สำหรับผมนะ ผมยอมดมขี้ฝรั่งเศสไปอีกสัก 5 ปี ดีกว่าจะยอมกินขี้จีนไปทั้งชาติ”

แต่กระนั้น ลุงโฮ่ก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบ หลงไหลในอารยธรรมจีน พูดภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นนักเขียนอักษรประดิษฐ์ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญในการเขียนกาพย์กลอนโคลงฉันท์แบบจีน เป็นเพื่อนสนิทกับทั้งเหมาเจ๋อตุงและโจเอินไหล แต่เขารักเวียดนามมากกว่าต่อต้านจีน แต่ก็ด้วยที่เขาเป็นผู้ที่เข้าใจ และให้ความเคารพจีนอย่างมากนี่เอง ที่ทำให้เขาซาบซึ้งอย่างรู้แจ้งแทงตลอด ถึงอันตรายของ ‘ความเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิด’ กับยักษ์ใหญ่ในดินแดนตอนเหนือ ที่เคยมีต่อ และปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ ต่อเอกราชและอิสรภาพของเวียดนาม

มันเป็นเรื่องน่าประหลาด ว่ามั๊ย ที่ว่าผู้นำเวียดนามในตอนนี้พยายามพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และก็ยังผูกขาดอำนาจรัฐ ตามแบบอย่างของประเทศที่พวกเขากลัวมากที่สุด ทั้งด้วยชื่นชมและก็อยากจะข้ามหน้าข้ามตาไปในเวลาเดียวกัน

Andrew Forbes is editor of CPA Media as well as a correspondent in its Thailand bureau. He has recently completed National Geographic Traveler: Shanghai , and the above is an excerpt from his forthcoming book A Phoenix Reborn: Travels in New Vietnam.

กำลังโหลดความคิดเห็น