เอเอฟพี - รัฐสภาญี่ปุ่นบัญญัติกฎหมาย 2 ฉบับเมื่อวานนี้(15) ให้ตั้งกระทรวงกลาโหมเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และให้โรงเรียนปลูกฝังลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นการฝืนข้อต้องห้ามที่มีมาตั้งแต่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม
วุฒิสภาลงมติอนุมัติ ด้วยเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้ตั้งกระทรวงกลาโหม ก่อนหน้านี้ สภาล่างได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปแล้ว เพื่อให้ร่างฉบับนี้กลายเป็นกฎหมาย เจ้าหน้าที่จากรัฐสภาผู้หนึ่งกล่าว
ญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามมี "ทบวงป้องกันประเทศ" ซึ่งมีสถานะต่ำกว่ากระทรวง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ประกาศชัดเจนว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศนิยมสันติ
ชินโซะ อาเบะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับการก่อตั้งกระทรวงกลาโหมและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในที่สุด
การปฏิรูปครั้งนี้ จะทำให้ ฟูมิโอะ คิวมะ อธิบดีของทบวง มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม กองกำลังของญี่ปุ่นจะยังคงใช้ชื่อว่า "กองกำลังป้องกันตนเอง" อยู่
ความพยายามที่จะก่อตั้งกระทรวงกลาโหมก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักไป เพราะมีเรื่องความอ่อนไหวทางการเมืองเนื่องด้วยญี่ปุ่นเคยรุกรานประเทศอื่นในอดีต และเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศนิยมสันติอย่างเป็นทางการ แต่แดนปลาดิบก็เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีงบประมาณด้านกองกำลังทหารมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 4.81 ล้านล้านเยน (41,600 ล้านดอลลาร์) ต่อปี
ญี่ปุ่นเพิ่มกองกำลังป้องกันตัวเองให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อพยายามลบภาพหลังสงครามของประเทศว่าเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว
ในขณะที่ความเห็นสาธารณชนนั้นยังแบ่งแยกว่า ควรจะเปลี่ยนนโยบายนิยมสันติที่ญี่ปุ่นใช้มาครึ่งศตวรรษมากถึงระดับใด ร่างพรบ.ที่จะให้จัดตั้งกระทรวงกลาโหมกลับได้รับเสียงสนันสนุนอย่างกว้างขวาง มีเพียงพรรคโซเชียลเดโมแครติกและพรรคเจแปนคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเล็ก เท่านั้น ที่คัดค้านร่างพรบ.ดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากการจะเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญลักษณ์อย่างชัดเจนแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังจะให้กระทรวงกลาโหมมีอำนาจภายในกระทรวงมากขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้กระทรวงยื่นของบประมาณเป็นของตัวเองได้เลย
ส่วนการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการให้โรงเรียนสอนเด็กเรื่อง "เคารพขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม และการรักชาติและบ้านเกิด" นั้น อาเบะต้องประสบกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
พวกเสรีนิยมกล่าวว่า การให้การศึกษาแบบชาตินิยมมีความคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ฝ่ายค้านทั้ง 4 พรรค คว่ำบาตรการอภิปรายเรื่องร่างพรบ.การศึกษาฉบับนี้ โดยแย้งว่าความสำคัญอันดับต้นควรอยู่ที่การแก้ปัญหาเด็กนักเรียนรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า และวานนี้ได้สนับสนุนให้ลงมติไม่ไว้วางใจอาเบะ แต่อาเบะสามารถผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจมาได้อย่างง่ายดาย เพราะพรรคของเขาครองเสียงข้างมากในสภา