xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว!! นักเศรษฐศาสตร์ 'มิลตัน ฟรีดแมน'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซี - มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20 และถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของแนวความคิดเรื่องตลาดเสรี ถึงแก่มรณกรรมแล้วเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี(16) ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุได้ 94 ปี

นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญผู้นี้ สิ้นลมในเมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นที่เขาสอนและทำวิจัยในช่วงหลังสุดแห่งชีวิต เพื่อนๆ และผู้ช่วยของเขาเผย

ฟรีดแมนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1976 และแนวความคิดของเขามีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่ออดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ และ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมทั้งยังช่วยสร้างพลังอำนาจให้แก่กระแสปฏิวัตินโยบายแบบอนุรักษนิยมในทศวรรษ 1980

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนเอเชียและเข้าร่วมประชุมกลุ่มเอเปก ออกคำแถลงยกย่องฟรีดแมนว่า "ผลงานของเขาช่วยผลักดันเกียติภูมิของมนุษย์และเสรีภาพของมนุษย์"

"ผลงานของเขาสาธิตให้เห็นว่า ตลาดเสรีเป็นเครื่องจักรอันยิ่งใหญ่แห่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ" และ "งานเขียนของเขาวางรากฐานที่เปลี่ยนแปลงธนาคารกลางจำนวนมากในโลก ช่วยให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก"

ขณะที่ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) กล่าวว่า "เขาได้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่งในชีวิตของผม ทั้งทางวิชาชีพและทางส่วนตัวมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ โลกของผมจะไม่เป็นอย่างเดิมอีกแล้ว (หลังการมรณกรรมของฟรีดแมน)"

ทัศนะของฟรีดแมนก่อตัวขึ้นโดยเหตุการณ์ เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในทศวรรษ 1930 ในงานเขียนของเขาหลายชิ้น ฟรีดแมนประณามเฟดในยุคนั้นที่ใช้นโยบายสกัดกั้นปริมาณเงิน และดังนั้นจึงทำให้สิ่งซึ่งควรเป็นแค่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ค่อยๆ ผ่านพ้นไป กลับกลายเป็น "ความหายนะครั้งใหญ่" สำหรับโลก

ทฤษฎีที่ถูกขนานนามว่าเป็น "monetarist" ของฟรีดแมน ย้ำว่ารัฐบาลควรที่จะถอยห่างออกไป ปล่อยให้พลังของตลาดจัดการแก้ไขตัวมันเอง โดยรัฐบาลควรเข้ามายุ่งก็เพียงแค่การคอยควบคุมเรื่องปริมาณเงิน อันนำไปสู่การคอยสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นอันตรายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่โตที่สุด

จากปี 1946 ถึง 1976 ฟรีดแมนสอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก และกลายเป็นผู้บุกเบิก "สำนักชิคาโก" ซึ่งเน้นส่งเสริมความคิดเรื่องตลาดเสรี

งานของฟรีดแมนมักจะขัดแย้งตรงกันข้ามกับนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ จอห์น เมย์นาร์ด เคย์นส์ (1883-1946) ยักษ์ใหญ่ที่สุดอีกคนหนึ่งของวงการเศรษฐศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 เคย์นส์ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่ากว่าฟรีดแมน เชื่อในความจำเป็นของรัฐบาลที่จะต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ

ในทศวรรษ 1980 ทั้งเรแกนและแธตเชอร์ต่างปฏิเสธโมเดลแบบสำนักเคย์นส์ และหันมาใช้แนวคิดแบบฟรีดแมน เพื่อช่วยมุมมองวิสัยทัศน์ของพวกเขา ในเรื่องเกี่ยวกับ รัฐบาลควรต้องมีขนาดเล็ก, การลดเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆ, และ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม เหล่านักคิดฝ่ายซ้ายต่างโต้แย้งมุมมองต่อโลกของฟรีดแมน และฟรีดแมนยังถูกหลายฝ่ายติเตียนหนัก เรื่องไปเยือนชิลีในปี 1975 เพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่คณะเผด็จการทหาร ภายหลังพลเอกออกุสโต ปิโนเชต์ เข้ายึดอำนาจ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างนองเลือด
กำลังโหลดความคิดเห็น