xs
xsm
sm
md
lg

เรือนจำกวนตานาโม : คุกแห่งความวิปริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ - เรือนจำในฐานทัพของกองทัพเรือสหรัฐฯที่อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา ตกเป็นเป้าครหาอย่างหนักจากนานาประเทศและองค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี2002

เรือนจำแห่งนี้ถูกใช้เพื่อคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งถูกจับตัวมาจากสมรภูมิรบในอัฟกานิสถาน โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนทากอน) กล่าวว่าการคุมขังนักโทษเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามก่อการร้ายโจมสหรัฐฯและทั่วโลกขึ้นมาอีก

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เพนทากอนยืนยันว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯมีสิทธิคุมขัง "นักรบผู้เป็นศัตรูของสหรัฐฯ"โดยไม่ต้องตั้งข้อหาหรือพิจารณาคดีแต่อย่างใด

บรรดานักรบเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับที่เชลยสงครามและอาชญากรอเมริกันพึงมี

นับตั้งแต่ต้นปี2002 จนถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เรือนจำคุมขังนักโทษมากกว่า 600 คน

ปัจจุบันนี้ มีนักโทษราว 490 คน จาก 40 ประเทศถูกคุมขังอยู่ในนั้น ซึ่งรวมถึงสมาชิกกลุ่มก่อการ้ายในยุโรปตะวันออกและแอฟริกา

การละเมิดสิทธินักโทษในเรือนจำ

องค์การกาชาดสากลเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่มีสิทธิเข้าไปตรวจสภาพของนักโทษได้

แต่ทว่า สหประชาชาติ(ยูเอ็น) แถลงว่า มีหลักฐานต่างๆซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในเรือนจำแห่งนี้ ดังเช่น มีการบังคับให้อาหารผ่านสายยางเสียบเข้าจมูกของนักโทษที่ประท้วงอดอาหาร พร้อมกันนี้ ยังมีการใช้เทคนิคดังเช่น การจับขังเดี่ยว การส่งนักโทษเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสง เสียง และอุณหภูมิสูงถึงขีดสุด เพื่อบีบนักโทษให้ปากคำ

ยูเอ็นยังเปิดเผยอีกว่า นักโทษหลายคนถึงขนาดเสียสติคุ้มคลั่งจากการถูกคุมขัง

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว นิตยสารนิวส์วีกของสหรัฐฯรายงานว่า ผู้คุมเรือนจำได้โยนคัมภีร์อัลกุรอานลงโถส้วมและกดน้ำทิ้ง แต่ภายหลังนิวส์วีกก็ยอมถอนข่าว นี้

อย่างไรก็ดี เพนทากอนออกมายอมรับว่ามีเหตุที่ผู้คุมประพฤติไม่เหมาะสมต่อคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม 5 กรณี แต่พลจัตวาเจย์ ฮูด ผู้บัญชาการเรือนจำ(ในขณะนั้น) กล่าวว่า มีกรณีที่ผู้คุมประพฤติไม่เหมาะสมเพียง 10 กรณีเท่านั้น นับตั้งแต่ปี2002

ส่วนหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เมื่อต้นปีนี้ได้ตีพิมพ์บันทึกของเอฟบีไอซึ่งกล่าวว่ามีเหตุละเมิดนักโทษที่กวนตานาโม ซึ่งรวมถึง การบีบคอ ตบหน้า และนำบุหรี่ที่จุดไฟแล้วไปใส่ในหูของนักโทษ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ แห่งอังกฤษ เคยขนานนามคุกแห่งนี้ว่า เป็นสถานที่แห่งความวิปริต

สหรัฐฯทำตามกฎหมาย

องค์การนิรโทษกรรมสากลและผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นต่างเรียกร้องให้สหรัฐฯสั่งปิดเรือนจำแห่งนี้ แต่สหรัฐฯยืนกรานว่าได้ประพฤติปฏิบัติต่อนักโทษโดยเคารพหลักมนุษยธรรมเสมอมา

สหรัฐฯอ้างว่า ในทุกๆปี จะมีการสรุปสถานภาพของนักโทษที่ยังถูกคุมขังอยู่ ผ่านทางระบบของคณะกรรมการบริหารด้านการทหาร พร้อมกับระบุว่าผู้ต้องหาคนใดสมควรได้รับการปล่อยตัวหรือถูกคุมขังต่อไป ขั้นตอนนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆจนกว่าที่นักโทษทุกคนจะได้รับอิสรภาพหรือถูกตัดสินคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น