xs
xsm
sm
md
lg

ภาพรวม 1 ปีสึนามิ : ความสูญเสีย ความหวัง และสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ผู้คนในหลายประเทศแถบริมทะเลอันดามันที่ตื่นขึ้นมาสูดอากาศในยามเช้า ต้องตกอกตกใจกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเวลาประมาณ 7.58 น.วัดความรุนแรงได้ 9.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนเหนือของสุมาตรา

คนเหล่านั้นก็ต้องประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในเวลาหลังจากนั้นอีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่สูงถึง 15 เมตร ซัดเข้ามาบนเกาะสุมาตราลึกถึง 50 กิโลเมตร หลังจากนั้นคลื่นมรณะนี้ได้กระจายตัวไปทำลายล้างหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยไทย ศรีลังกา อินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า มาเลเซีย มัลดีฟส์ บังกลาเทศ และยังซัดไปไกลถึงแอฟริกาทำให้ประเทศเคนยา โซมาเลีย แทนซาเนีย เซเชลส์ได้รับความเสียหาย

ในวาระครบรอบ 1 เหตุการณ์ธรณีพิบัติ และคลื่นยักษ์สึนามินี้ ผู้จัดการออนไลน์ขอรวบรวมบทสรุป ความคืบหน้ากับการรับมือต่อความสูญเสียครั้งใหญ่ของโลกครั้งนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา

ยอดผู้เสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ประเมินไว้มีประมาณ 220,000 คนทั่วโลก แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการแถลงตัวเลขที่แน่นอน

สำหรับอินโดนีเซียซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงที่สุด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์ประมาณ 168,000 คน ส่วนที่ศรีลังกามีจำนวน 31,000 คน ขณะที่อินเดียมีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 16,389 คน

ประเทศไทยได้แถลงตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการว่ามีจำนวน 5,395 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยว 2,436 คน จาก 37 ประเทศ แต่ยังคงมีผู้สูญหายอีก 637 คน

ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่างมัลดีฟส์มีผู้เสียชีวิต 82 คน และสูญหายอีก 26 คน มาเลเซียเสียชีวิต 68 คน พม่า 61 คน บังกลาเทศ 2 คน ขณะที่ประเทศในแอฟริกาตะวันออกนั้น ที่โซมาเลียเสียชีวิต 298 คน แทนซาเนีย 10 คน เซเชลส์ 3 คน เคนยา 1 คน

คนไร้บ้าน

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยมาหลายล้านคนทั่วโลก แต่ 1 ปีที่ผ่านมานั้นมีเพียงแค่ 1.8 ล้านคนที่มีที่อยู่อาศัยถาวรแล้ว ที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ยังมีคนต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์มากถึง 60,000 คน ขณะที่อีก 100,000 คนยังคงอยู่ในที่พักชั่วคราว และยังมีผู้รอดชีวิตอีกจำนวนมากที่หอบผ้าหอบผ่อนไปนอนกับญาติพี่น้อง

ในศรีลังกาประชานที่ประสบภัยที่สูญเสียบ้านเรือนในเหตุการณ์มากถึง 100,000 หลัง ส่วนใหญ่ยังไม่มีบ้าน และอยู่อาศัยในค่ายผู้ประสบภัย ขณะที่ทางการกำลังเร่งสร้างบ้านถาวรให้กับคนเหล่านี้ ขณะที่อินเดียผู้คนยังคงอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว ซึ่งบ้านถาวรที่ทางการสร้างให้นั้นคาดว่าจะเสร็จพร้อมอยู่ในเดือนมีนาคมปีหน้า

การบริจาคและความช่วยเหลือ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 26 ธันวาคม หลายประเทศทั่วโลก และองค์กรทางด้านมนุษยธรรมต่างลงไปในที่เกิดเหตุในทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก นับได้ว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือมากที่สุดในโลก ซึ่งมูลค่าที่หลายประเทศประกาศว่าจะช่วยเหลือรวมแล้ว 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แต่ทางด้านองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นกลับออกมาแถลงว่าในขณะนี้มีความช่วยเหลือที่ส่งไปถึงมือผู้ประสบภัยแล้ว เพียงแค่ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในศรีลังกาตำรวจตรวจสอบบัญชีของนายกรัฐมนตรีมหินดา ราชปักษีที่คาดว่ายักยอกเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากต่างประเทศ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ภาคการท่องเที่ยว และภาคการประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มากที่สุด ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งและประกอบอาชีพประมงสูญเสียเรือ อุปกรณ์ทำการประมง เป็นจำนวนมาก บางรายต้องหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น

จังหวัดอาเจะห์รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้วประมาณ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการประมง ขณะที่มัลดีฟส์ซึ่งมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวนั้นประมาณการไว้ว่าสูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 470 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็น 62% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นอกจากนี้ยูเอ็นได้บันทึกตัวเลขความสูญเสียของไทยไว้ที่ประมาณ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรวมตัวเลขในการฟื้นฟูอีกประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ที่ประสบเหตุนั้นเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

ตัวเลขของยูเอ็นยังระบุว่าศรีลังกาเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 1,500 เหรียญสหรัฐฯ โดยใช้งบประมาณในการฟื้นฟู 2,150 ล้านเหรียญ ส่วนอินเดียยูเอ็นบันทึกไว้ว่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

องค์กรทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศออกมาเปิดเผยว่า พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นแนวป้องกันภัยธรรมชาติที่สำคัญต่อพื้นที่ภายในฝั่ง

ขณะที่ธรรมชาติใต้ทะเลนั้นได้รับผลกระทบจากคลื่นนี้เช่นกัน ในไทยได้มีการบันทึกไว้ว่าประมาณ 13% ของปะการังตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหาย ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติตามชายฝั่งเสียหายเกือบครึ่งของพื้นที่ประสบภัย

การเตือนภัยและการแก้ไข

ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำ เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยทันทีในวันที่ 5 มกราคม โดยมีผู้นำจาก 26 ประเทศ และตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงโคฟี อันนันเลขาธิการยูเอ็นเข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมตกลงกันว่าจะให้มีการจัดตั้งระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดีย

การประชุมว่าด้วยภัยพิบัติระหว่างประเทศจัดขึ้นอีกครั้งในเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 มกราคม และที่ประชุมตกลงให้ยูเอ็นเป็นหัวเรือหลักในการจัดตั้งระบบเตือนภัยในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งยูเอ็นคาดว่าระบบนี้จะใช้การได้ในอีก 12 – 18 เดือนข้างหน้า

ผู้นำจาก 26 ประเทศร่วมประชุมกันในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียอีกครั้งเมื่อ 23 เมษายน และมีการลงนามจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยสึนามิ และในวันที่ 5 สิงหาคมตัวแทนจาก 27 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียร่วมประชุมกันอีกครั้ง ในเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย และตกลงกันสร้างและพัฒนาทุ่นวัดระดับคลื่นหลายสิบอันในมหาสมุทรอินเดีย

นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เจ้าหน้าที่รัฐบาล เข้าร่วมการประชุมของยูเอ็นเมือวันที่ 14 ธันวาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตือนภัยสึนามิ และวางแผนการดำเนินการในปี 2006

สันติภาพหลังคลื่นยักษ์

ภายหลังจากที่เกิดเหตุคลื่นยักษ์ซัดถล่มหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ในพื้นที่เคยมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างอาเจะห์ของอินโดนีเซีย และศรีลังกา ซึ่งวิกฤตครั้งนี้กลับกลายมาเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สองประเทศนี้ นำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพในพื้นที่

สำหรับอินโดนีเซียนั้น หลังจากคลื่นยักษ์สันติภาพระหว่างรัฐบาลกลาง กับกลุ่มอาเจะห์เสรี (แกม) ก็ดูสดใสมากยิ่งขึ้นทุกวัน เริ่มจากที่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาสันติภาพที่กรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงฟินแลนด์ ซึ่งทางกลุ่มกบฏตกลงวางอาวุธและไม่เรียกร้องเอกราชอีกต่อไป

ขณะที่รัฐบาลกลางถอนทัพชุดสุดท้ายออกจากอาเจะห์ไปตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมแล้ว อีกทั้งจะนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษที่เป็นสมาชิกแกม และยินยอมให้จัดตั้งพรรคการเมือง

แต่คลื่นยักษ์ในครั้งนี้กลับไม่ทำให้สันติภาพเหนือผืนแผ่นดินศรีลังกาสดใส กลุ่มรัฐบาลกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (แอลทีทีอี) ต่อสู้กันในเรื่องจะแบ่งเงินช่วยเหลือจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์กันอย่างไร

ขณะที่ในวันที่ 12 สิงหาคม รัฐมนตรีต่างประเทศ ลักษมัน คาดีร์กามาร์ ก็ถูกลอบสังหาร ซึ่งรัฐบาลประณามว่าเป็นฝีมือของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ส่งผลให้ความรุนแรงกลับมาปะทุอีกครั้ง และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา ซึ่งในเดือนธันวาคมที่จะครบรอบ 1 ปีคลื่นยักษ์นี้ มีทหารเสียชีวิตจากการโจมตีไปแล้ว 17 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตของกลุ่มกบฏไม่มีการเปิดเผย

แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ถล่มจะครบรอบ 1 ปีแล้ว แต่นับได้ว่าภัยพิบัติในครั้งนี้ยังคงมีผลต่อเนื่องออกไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ประสบภัยโดยตรง หรือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ความมั่นคงทางการเมือง ที่หลายคนต้องติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะเหตุการณ์นี้เป็นครั้งหนึ่งของคนที่ได้พบเห็น จะต้องจดจำไปตลอดชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น