xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศึกชิงอำนาจกำกับดูแล "อินเทอร์เน็ต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - การประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ ซึ่งกำหนดเริ่มขึ้นวันพรุ่งนี้(16) กำลังทำท่าจะกลายเป็นการประจันหน้าเพื่อชิงอำนาจกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต โดยหลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้ปรับดุลอำนาจในเรื่องนี้ ไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลของสหรัฐฯมากเกินไปเหมือนดังปัจจุบัน

คณะผู้แทนจากชาติต่างๆ ราว 170 ชาติ ไปชุมนุมกันที่กรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซียตั้งแต่วันอาทิตย์(13) เพื่อเริ่มความพยายามครั้งสุดท้ายในการผ่าทางตันประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ ซึ่งติดขัดแก้กันไม่ออกมาได้ 3 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเบื้องต้นเหล่านี้คาดกันว่า คงไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ก่อนเวลาที่การประชุมสุดยอด ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะเปิดฉากขึ้น ซาราห์ พาร์กส์ โฆษกไอทียูแถลงยอมรับ เช่นเดียวกับผู้แทนชาติต่างๆ อีกหลายคน

ผลลัพธ์จากการเจรจาต่อรองรอบนี้ อาจกลายเป็นตัวตัดสินว่า ในที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางเทคนิคและทางการบริหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานรากเหง้าของอินเทอร์เน็ต

เจ้าหน้าที่บางคนหวาดหวั่นว่า การโต้แย้งกันเที่ยวนี้อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และที่สุดแล้วจะนำไปสู่ความแตกแยก ขนาดทำให้อินเตอร์เน็ตแตกเป็นเสี่ยงๆ

เวลานี้ ผู้ทำหน้าที่หลักในการบริหารอินเทอร์เน็ตคือ บรรษัทอินเทอร์เน็ตเพื่อการมอบหมายชื่อและหมายเลข (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อย่อว่า ไอแคนน์ (ICANN) อันเป็นองค์การอิสระที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย และได้รับภารกิจนี้จากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยชนะการประมูลแข่งขัน

ไอแคนน์ก่อตั้งขึ้นในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1998 ตอนที่อินเทอร์เน็ตยังบูมอยู่เฉพาะในสหรัฐฯ องค์การแห่งนี้ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้กระตือรือร้นซึ่งศรัทธาในความอิสระเสรี และปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้อินเทอร์เน็ตถูกจำกัดขีดกรอบ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตขยายการติดต่อเชื่อมโยงไปทั่วโลกอย่างมโหฬารยิ่งของอินเทอร์เน็ต ตลอดจนความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกทีของเวิลด์ไวด์เว็บ ทำให้บังเกิดกระแสคัดค้านการผูกขาดของสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่บางคนของบางประเทศยังเชื่อด้วยว่า ผู้คนซึ่งอยู่เบื้องหลังไอแคนน์ ได้เติบโตมีความใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มากขึ้น และอาจประสบปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน หากต้องตัดสินใจเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีไหนนี้กับส่วนพื้นฐานรากเหง้าของอินเทอร์เน็ต

เมื่อเดือนกรกฎาคม สำนักงานบริหารโทรคมนาคมและสารสนเทศแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ลงความเห็นว่า ระบบให้ชื่อโดเมนที่ทำอยู่นี้ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไร โดยต้องคำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯนั้นมีท่าทีชัดเจนว่า ไม่ยอมยกอำนาจกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตนี้ไปให้แก่สหประชาชาติ ขณะที่ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดระดับโลกที่ตูนิส มีข้อเสนออื่นๆ ออกมา 7 ข้อเสนอ ทว่าเมื่อดูที่จุดยืนพื้นฐานแล้วก็พอจะรวบได้เป็น 2 แบบ

แบบแรกนั้น อิหร่าน ซึ่งมีชาติกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อื่นๆ หนุนหลัง ต้องการให้มีหน่วยงานซึ่ง "ทอดสมอ" อยู่กับยูเอ็น เป็นผู้กำกับดูแลเหนือไอแคนน์ตลอดจนองค์การอื่นๆ ทำนองเดียวกัน

อีกแบบหนึ่งเป็นของสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งเสนอสูตรที่มุ่งถอดถอนไม่ให้สหรัฐฯมีอำนาจกำกับดูแลทางการเมืองต่อไอแคนน์ และภายหลังขั้นตอนระยะผ่าน ก็จะให้แทนที่ด้วยหน่วยงานระดับระหว่างรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ทางด้านเทคนิคล้วนๆ ถึงแม้ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากสหประชาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น