เอเอฟพี -ซีไอเอหลีกเลี่ยงแสดงความคิดเห็นยืนยันหรือปฏิเสธรายงานการจัดตั้งคุกลับกักขังแกนนำอัลกออิดะห์ ในยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศไทย ขณะสาธารณรัฐเช็ก ยอมรับเคยถูกทาบทามเป็นที่ตั้งเรือนจำประเภทนี้เมื่อเดือนก่อน
นายสตีเฟน แฮดลีย์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ให้สัมภาษณ์นักข่าวเมื่อวันพุธ (2) ปฏิเสธออกความเห็นเกี่ยวกับรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเปิดเผยในวันเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯได้แอบจัดตั้งเรือนจำลับสำหรับคุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกอัลกออิดะห์ขึ้นใน 8 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึง ไทย, อัฟกานิสถาน และ “ชาติประชาธิปไตยหลายแห่งในยุโรปตะวันออก” ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายสหรัฐฯ ที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน และห้ามปกปิดสถานที่ควบคุมตัวนักโทษ
นายแฮดลีย์ กล่าวเพียงอ้อมๆว่า สหรัฐฯจะทำในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นในการต่อสู้เพื่อเอาชนะสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็ยังเคารพต่อตัวบทกฎหมาย และมีการตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง
“ในขณะที่เราต้องทำอะไรซึ่งจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากผู้ก่อการร้าย และเอาชนะสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ท่านประธานาธิบดีบอกไว้ชัดเจนมากว่า เราจะทำสิ่งนั้นในหนทางที่สอดคล้องกับค่านิยมของเรา และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมท่านจึงพูดชัดเจนว่า สหรัฐฯจะไม่ใช้การทรมาน” เขากล่าว
ด้านนายสก็อต แมคเคลแลน โฆษกประจำทำเนียบขาว ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องนี้แบบอ้อมๆเช่นกันว่า “ผมขอพูดว่า ความรับผิดชอบสำคัญที่สุดของท่านประธานาธิบดี คือ การปกป้องประชาชนชาวอเมริกัน”
ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายอัลเบอร์โต กอนซาเลซ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ และผู้แทนสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งไม่ขอออกความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานของวอชิงตันโพสต์
“ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนั้น” พลอากาศเอกไมเคิล เฮย์เดน รองผู้อำนายการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งมีนายจอห์น เนโกรพอนเต เป็นหัวหน้า กล่าวตัดบทระหว่างงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปข่าวกรองที่เมืองซานอันโตนิโอ
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีขึ้นหลังรายงานซึ่งอ้างข้อมูลจากบรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ระบุว่า การมีอยู่ ตลอดจนสถานที่ตั้งของเรือนจำลับมีชาวอเมริกันรับรู้เพียงไม่กี่คน ซึ่งโดยปกติจะมีแค่ประธานาธิบดี และหัวหน้าหน่วยข่าวกรองในประเทศซึ่งใช้เป็นที่ตั้ง 2-3 คนเท่านั้นที่รับทราบ
สำหรับปฏิกิริยาของนานาชาติภายหลังรายงานของวอชิงตันโพสต์แพร่สะพัดออกไป บรรดาชาติซึ่งเข้าข่ายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องต่างออกมาปฏิเสธไม่รู้เห็นกับคุกลับดังกล่าว โดยหน่วยงานความมั่นคงเอฟเอสบีของรัสเซีย และกระทรวงต่างประเทศบัลแกเรีย แถลงว่า ประเทศของตนไม่ใช่ที่ตั้งของเรือนจำซีไอเอ
ด้านเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นของสาธารณรัฐเช็ก อ้างคำพูดของนายฟรานติเสค บูบลาน รัฐมนตรีมหาดไทย ที่ออกมายอมรับว่า สาธารณรัฐเช็กเพิ่งปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เพื่อเข้ามาจัดตั้งศูนย์คุมขังนักโทษในดินแดนของตน หลังทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากันเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
รายงานอื้อฉาวนี้ส่งผลให้บรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงอดีตผู้นำสหรัฐฯ ออกมาตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯชุดปัจจุบันว่ากำลังทำลายแนวทางอันดีงามในอดีตของแดนลุงแซม
อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ซึ่งยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด กล่าวถึงรายงานชิ้นนี้ว่า มันคืออีกหนึ่งหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วและลึกซึ้งในแนวนโยบายพื้นฐาน หรือค่านิยมทางศีลธรรมของประเทศซึ่งยึดมั่นกันมายาวนาน
ขณะที่นายริชาร์ด เดอร์บิน วุฒิสมาชิกหมายเลขสองของพรรคเดโมแครต แสดงความวิตกว่า “มันคืออีกหนึ่งธาตุแท้ของนโยบายรัฐบาลชุดนี้ ตลอดจนการดูแลผู้ถูกคุมขัง และนักโทษ ซึ่งผมเกรงกลัวว่า มันจะย้อนกลับมาหลอกหลอนพวกเราในอนาคต”