รอยเตอร์/เอเอฟพี - องค์การการค้าโลก (WTO) เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นทางการวานนี้(20) เพื่อเข้าสอบสวนและตัดสินข้อพิพาทระหว่างแอร์บัสกับโบอิ้ง 2 ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการบิน ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในลักษณะละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ นับเป็นการเดินหน้าไปอีกขั้นหนึ่งของสงครามการค้า ซึ่งน่าจะเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
หน่วยงานแก้ไขข้อพิพาทของ WTO มีมติรับคำร้องทั้งของรัฐบาลสหรัฐฯ และของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเข้าไปช่วยเหลือบริษัทสร้างเครื่องบินยักษ์ของแต่ละฝ่ายชนิดที่เป็นการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และประกาศให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญขึ้น 2 ชุด โดยแต่ละชุดจะทำหน้าที่สอบสวนข้อกล่าวหาของแต่ละฝ่ายแล้ว
กรณีพิพาทระหว่างแอร์บัสของอียูกับโบอิ้งของสหรัฐฯ คราวนี้ อาจเพิ่มความร้าวฉานให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจทั้งสอง ในเวลาที่สหรัฐฯ กับอียูกำลังใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อประคับประคองไม่ให้การเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบโดฮาต้องมีอันล้มครืนลง
ถึงแม้ทั้งวอชิงตันและบรัสเซลส์ต่างยืนยันว่าไม่ปรารถนาเลยที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก แต่ตามระเบียบขององค์การการค้าโลกแล้วจะต้องเดินหน้าเปิดการสอบสวนอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะคู่พิพาทต่างยื่นคำร้องซ้ำเข้ามาเป็นครั้งที่ 2
ทั้งนี้วอชิงตันเป็นฝ่ายเริ่มต้นร้องเรียนอียูต่อ WTO ก่อนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ยังผลให้บรัสเซลส์ยื่นคำร้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว
ในตอนนั้นทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในทันทีที่จะระงับการค้าความกันไว้ก่อน และเปิดการเจรจากันรอบใหม่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาแบบรอมชอม ทว่าเมื่อไม่เห็นเค้าว่าจะสามารถตกลงกันได้ สหรัฐฯ ก็ได้กลับมายื่นคำร้องต่อ WTO อีกครั้ง และอียูก็ทำอย่างเดียวกันบ้าง
แม้เรื่องจะบานปลายถึงขั้นนี้ แต่วอชิงตันกับบรัสเซลส์ก็แถลงว่าประตูยังคงเปิดสำหรับการเจรากันต่อไปอีก ตราบใดที่กระบวนการพิจารณาตัดสินของ WTO ยังไม่ถึงฉากสุดท้าย
พวกผู้เชี่ยวชาญทางการค้าชี้ว่ากระบวนการนี้จะกินเวลายาวนาน เพราะแค่เพียงตกลงกันให้ได้ว่าจะเชิญใครมานั่งในคณะผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ชุด ก็อาจกินเวลาถึงสองสามเดือน และกว่าจะมีการตัดสินขั้นต้น ติดตามด้วยการตัดสินในขั้นอุทธรณ์ซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุด อย่างเร็วสุดก็น่าจะถึงสิ้นปีหน้า
ข้อพิพาทคราวนี้เนื่องมาจากแผนการของแอร์บัสที่จะผลิตเครื่องบินโดยสารที่ใช้บินในระดับภูมิภาครุ่นใหม่เพื่อแข่งขันกับรุ่น 787 ของโบอิ้ง โดยแอร์บัสแจ้งว่าจะขอความช่วยเหลือจาก 4 ชาติผู้สนับสนุนทางการเงินของตน อันได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และอังกฤษ
สหรัฐฯ โวยว่าแอร์บัสซึ่งช่วงชิงตำแหน่งผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่สุดของโลกไปจากโบอิ้งได้ตั้งแต่ปี 2003 ได้รับความช่วยเหลือจาก 4 ชาติยุโรปหลายพันล้านดอลลาร์อยู่แล้ว อาทิ ได้มา 6,700 ล้านดอลลาร์เพื่ออุดหนุนการผลิตแอร์บัส เอ380 ซูเปอร์จัมโบ
ทางฝ่ายอียูโต้กลับว่าโบอิ้งได้รับการอุดหนุนเป็นเงินมากกว่านี้เสียอีก ทั้งในรูปของเงินให้เปล่าจากมลรัฐวอชิงตัน ที่ต้องการดึงให้บริษัทยังคงโรงงานไว้ในมลรัฐนั้น ตลอดจนจากการทำสัญญาพัฒนาและสร้างเครื่องบินให้กระทรวงกลาโหมอเมริกัน