xs
xsm
sm
md
lg

โดนัลด์ จ้าง : คนสิงคโปร์ในฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย แกรี่ ลาโมชี

ฮ่องกง – ในปี 1997 หลังจากเป็นอาณานิคมต่างชาติ มานาน 150 ปี ตุง ฉี-หว่า ขึ้นเป็นผู้บริหารเกาะฮ่องกงของคนฮ่องกง ตุงเกิดในเซี่ยงไฮ้ รับการศึกษาในสหรัฐ และสหราชอาณาจักร รัฐบาลจีนเข้ามากู้แผ่นดินนี้เอาไว้ และเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดีจีนในตอนนั้น เป็นคนเลือกเฟ้นเขาด้วยตัวเอง

เดือนที่แล้วเขาลาออก และรักษาการณ์โดย โดนัลด์ จ้าง จ้างเกิดและเติบโตในฮ่องกง ประกอบอาชีพเป็นข้ารัฐการ แต่อย่างเดียว โดยมีปริญญามหาบัณฑิต ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ มาจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ในที่สุด คนฮ่องกงก็ได้ปกครองฮ่องกง ! แต่เสียอยู่อย่างเดียวที่ว่า จริง ๆ แล้ว โดนัลด์ จ้าง เป็นคนสิงคโปร์

เฮ้ย เป็นไปได้ไง ! พ่อแม่จ้างไม่ได้มาจากสิงคโปร์สักหน่อย หูกระต่ายของเขา ก็ไม่ได้ทอมาจากเกาะแห่งนั้น และก็เป็นไปได้ ที่เขาอาจจะไม่เคยไปเยือนเกาะคู่แข่งฮ่องกง ในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจ อีกแห่งหนึ่งของโลก แห่งนั้นเลยด้วยซ้ำ

และที่สำคัญ การที่จ้างมีอำนาจขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไปเปลี่ยนฮ่องกงให้เป็นสิงคโปร์อะไรสักหน่อย (แต่ความจริงสิ่งนี้ ค่อย ๆ แพลมออกมา ตั้งแต่การคืนเกาะฮ่องกง ในปี 1997 แล้ว แต่พอมีคลื่นประท้วงปะป๋าตุง ในปี 2003 เกิดขึ้น กระแสนี้ก็หดลง)

“เอาหละ ที่นี้หุบปาก นั่งเงียบ ๆ แล้วฟังปะป๋า” ก็เพราะว่าตามปูมประวัติการทำงานของจ้าง มันเป็นสไตล์ ‘คุณพ่อรู้ดี’ ตามแบบทุนนิยม ที่บัดนี้ นำโดยลีเซียนลุง ลูกสุดที่รักของนายลีกวนยู พ่อของประเทศ เปะเลย

มูลนิธิเฮอริเทจของสหรัฐอเมริกา ประกาศในปีนี้ว่า ตลาดที่เสรีที่สุดในโลก ฮ่องกงเป็นอันดับ 1 สิงคโปร์เป็นอันดับ 2 ลำดับนั้นผิดหมด ซ้ำยังน่าหัวเราะไม่มีอะไรดี เพราะเหตุผลดังนี้

ของฟรีมีที่ไหน

ตามที่พวกเฮอริเทจป่าวร้อง ฮ่องกงมีกฎระเบียบของรัฐบาล ที่ออกมาควบคุมการดำเนินธุรกิจน้อยมาก แต่เรื่องนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับตลาดเสรี การที่ไม่มีกฎเกณฑ์ ทำให้กงสีมากมาย เกิดขึ้นมาคุมธุรกิจของเกาะ ที่ให้กำไรสูง โดยที่รัฐบาลขยิบตาให้

ด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นรากเหง้าของความร่ำรวยในฮ่องกง รัฐบาลควบคุมมา ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ ควบคุมธุรกิจเกี่ยวกับที่ทั้งหมด (ขัดกับสุภาษิตเก่า ที่บอกว่า ‘เร็ว รีบ ๆ ซื้อที่เข้า พระเจ้าไม่ได้สร้างเพิ่มนะ’ เพราะตอนนี้ มีการถมทะเล ทำที่กันแล้ว) และแทนที่จะปล่อยมือ กลับประเมินผลได้-ผลเสีย โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทุก ๆ โครงการเสียเอง ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นว่าระบบแบบนี้ มันเป็นอย่างไร แต่ในฮ่องกง (ที่ที่ราคามีดินสูงลิบลิ่ว) ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หัตถ์พระเจ้า’ หรือ ‘แข่งขันกันโดยเสมอภาค’ อันเป็นลักษณะของตลาดเสรีให้เห็นเลย แม้แต่น้อย

ว่ากันว่า คนฮ่องกงไม่สนการเมือง สนใจเฉพาะเรื่องธุรกิจอย่างเดียว แต่แทนที่จะหันหน้าหนีรัฐบาล พวกเขากลับกระโดดเข้าเสียบ ตุงกับลีกาชิง ประธานกลุ่มฮัตชิสัน วัมเป่า คนที่รวยที่สุดในเอเชีย เป็นสมาชิกคณะบริหาร (ExCo) ที่ปรึกษานโยบาย ของข้าหลวงอังกฤษ และ ExCo ก็ยังคงเหนียวแน่นกับพวกเจ้าพ่อทั้งหลาย สภานิติบัญญัติ (LegCo) ยังคงสงวนที่นั่งครึ่งหนึ่ง ไว้ให้ตัวแทนภาคธุรกิจ และกลุ่มวิชาชีพ และคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่รับรองตุงเป็นหัวหน้าบริหาร เมื่อปี 1997 และรับรองเขาอีกครั้ง ในปี 2002 (ทั้ง ๆ ที่เขามีเสียงสนับสนุน เพียง 20%) ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนคนฮ่องกง จากที่ไหน แต่ล้วนเป็นนักธุรกิจใหญ่ และพวกที่ภักดีต่อแผ่นดินใหญ่ ที่รัฐบาลจีนเลือกขึ้นมาเท่านั้น

ตัวแทนธุรกิจยักษ์ใหญ่ในรัฐบาลเหล่านี้ ไม่ได้ส่งเสริมตลาดเสรี เอาแต่คอยปราบปรามภัยที่คุกคามอำนาจเด็ดขาดของตน แต่อย่างเดียว เจ้าพ่อย่อมชอบใช้กำปั้นเหล็กเป็นนิสัย ไฉนคิดจะไปลำบาก อ้อนวอนขอหัตถ์มาจากพระเจ้า ดังนั้น ฮ่องกงจึงไม่มีกฎหมาย ห้ามการผูกขาด (antitrust laws) ในการควบคุมการแข่งขัน ที่ไม่เป็นธรรม ปล่อยให้เจ้าของตำแหน่งผนึกกำลังกัน จัดการกับพวกหน้าใหม่ ๆ ที่หาญกล้ามาท้าสู้ และทำให้ผู้บริโภค สู้กับค่าครองชีพหลายอย่าง ที่สูงที่สุดในโลก

เรื่องราวรักซ่านทรวงใน ระหว่างทุนนิยมฮ่องกง กับคอมมิวนิสต์ปักกิ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องลึกลับกันอีกแล้ว เจ้าพ่อฮ่องกงได้ในสิ่งที่ตนต้องการ จากการโอ้โลมนักการเมือง สิ่งนี้ยังใช้ได้กับปักกิ่ง ความเป็นเอกภาพระหว่างผู้นำทางเศรษฐกิจ กับผู้นำการเมืองนี้ เป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่า ทำไมฮ่องกง ถึงได้ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชีย ที่เกิดขึ้นในปี 1997 ที่จิ้มฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ ก่อนการส่งมอบ ให้แตกออกโผละใหญ่ ได้ช้านัก เจ้าพ่อได้ฐานะเจ้าพ่อ มาจากสถานะภาพเก่า ๆ พวกเขาย่อมรังเกียจสิ่งใหม่ ๆ และการรังสรรค์ทางเศรษฐกิจ

  • ความสำเร็จของสังคมนิยม

    ขางฝ่ายสิงคโปร์ ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจงวดนี้ อย่างกล้าแข็ง อาจจะเพราะใช้นโยบายต่างกัน แต่หากคุณคิดว่า สิงคโปร์เป็นตลาดเสรีแล้วละก้อ จงคลี่หนังสือพิมพ์ที่นั่นออกดูสักเล่มได้เลย

    รัฐบาลสิงคโปร์วางกรอบ และคอยสอดส่องตรวจตราภาคธุรกิจ ให้ทุนไปพัฒนา และควบคุมพวกมันอย่างเข้มงวด รวมทั้งออกกฎระเบียบ ขึ้นมาควบคุมเสรีภาพส่วนบุคคล อย่างยุบยับ มูลนิธิเฮอริเทจ ไม่ควรเรียกสิงคโปร์ ว่าเป็นตลาดที่เสรีที่สุด อับดับสองของโลก แต่ควรจะบอกว่า ประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นประเทศสังคมนิยม ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ตามที่มันเป็นอยู่จริง ไล่ตั้งแต่การปกครองที่ไร้การท้าทายของพรรคกิจประชาชนลงมาเลยทีเดียว

    มีกระทั่งบรรษัทสิงคโปร์ อิงก์ (บริษัทเตมาเสก โฮลดิ้งส์) ซึ่งเป็นของกระทรวงการคลัง บริหารงานโดยนางโห่ชิง ภรรยานายก ฯ (ลูกสะใภ้ลีกวนยู) ซึ่งมีหน้าที่เอาเงินภาษีของประชาชนไปลงทุน ทั้งในและนอกประเทศ มีแม้แต่บริษัทพาณิชย์ เช่นสิงคโปร์ เทเลคอม (บริหารโดยบริหารโดยน้องคนเล็กของลีกวนยู) ที่คอยเอาหุ้นของรัฐบาล ไปลงที่นั่น ที่นี่ แนวคิดแบบลีกวนยู (รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์+การเมืองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด+ภูมิปัญญาแบบขงจื้อ) เป็นตัวทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่า อำนาจของตลาด จะต้องมีอิทธิพล น้อยกว่านโยบายของรัฐบาล

    นโยบายของโดนัลด์ จ้าง หักเหทิศทางไปสู่ลัทธิแทรกแซงแบบสิงคโปร์แบบโจ่งแจ้ง ไม่เหมือนในฮ่องกง ที่เคยเป็นแบบลึก ๆ เงียบ ๆ ดูได้จากการเป็นรัฐมนตรีคลัง (ฮ่องกงไม่มีรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งเปรียบเทียบ) ระหว่างปี 1995-2001 มีกรณีตัวอย่าง 2 กรณี

    ในฤดูร้อนปี 1998 ฮ่องกงใกล้จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะเศรษฐกิจในย่านนั้น กำลังพังทลาย มีรายงานว่า นักเก็งกำไรพากันโจมตีค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ที่ผูกติดเอาไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ นักเก็งกำไร พากันเอาเงินฮ่องกง และหุ้นในตลาดหุ้นฮั่งเส็ง เทขายแบบช๊อตเซล (ขายโดยไม่มีเงิน หรือหุ้นอยู่ในมือ) ธนาคารชาติ (ฮ่องกง ก็ไม่ที่ธนาคารชาติเช่นกัน) ก็ขึ้นดอกเบี้ยโต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเงินของตัว ซึ่งก่อความเสียหายให้ตลาดหุ้น นักเก็งกำไรได้เงินไปมหาศาล

    จ้างเป็นคนคิดยุทธศาสตร์ มาแก้เกม กล่าวคือ รัฐเอาเงินภาษี HK$118.1 พันล้านเหรียญ (US$15.1 พันล้านเหรียญ) ออกหว่าน ต่อรองซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้รัฐบาลเป็นเจ้าของหุ้นบลูชิปรายใหญ่ขึ้นมา วิธีนี้ชี้ให้เห็นว่า จ้างเชื่อภูมิปัญญาของตัว มากกว่าภูมิปัญญาของตลาด

    ซื้อช้างบินได้

    พอมาปี 1999 จ้างก็เป็นหัวหอกฮ่องกง สู้กับภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ คือไปเอาสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ มาตั้งในฮ่องกง การสร้างสวนสนุก ที่จะเปิดทำการในปีนี้ ถ้าสาธารณะชนไม่ลงทุน ไม่ใช่ว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลง่าย ๆ

    สาธารณะชน มีส่วน “ลงทุน” ในดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง อย่างล้นหลาม กล่าวคือ คนฮ่องกง (ผู้เสียภาษี) ออกเงินในโครงการนี้ เกือบทั้งหมด คือ US$417 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 57% ของตัวสวนสนุก นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกง ก็เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นมูลค่า US$3 พันล้านเหรียญ (แพงขึ้นจากที่เคยประเมิน 65%) เชิญกระแหนะกระแหนได้เลยว่า ฮ่องกงกำลังเป็นเมืองมิกกี้เม้าส์ แต่พอโครงการนี้เปิด คุณก็คงได้เห็นช้างน้อยบินได้ (รัฐถือหุ้นใหญ่ในโครงการเอกชน)

    จ้างให้อรรถาธิบาย การเปลี่ยนแปลงของเขาว่า หุ้นส่วนแต่ละคน ก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ดิสนีย์หวังเงินจากคนมาเที่ยว แต่รัฐบาลฮ่องกงหวังมากว่า “รัฐบาลไม่ได้หวังแค่เงินส่วนแบ่ง ที่จะมาเข้าพกเข้าห่อ แต่หวังผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งหมดอีกด้วย กำไรจากโรงแรมของเรา กำไรจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สายการบินของเรา ก็จะได้กำไร ร้านรวงต่าง ๆ ในบ้าน ก็จะพลอยค้าได้ ขายคล่องขึ้น” ต่อให้ลีกวนยูมาพูด ก็คงอธิบายดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว

    ไม่มีอะไรถูก อะไรผิดดอก หากฮ่องกงจะเลียนแบบ การแทรกแซงเศรษฐกิจแบบสิงคโปร์ แต่การเที่ยวเรียกฮ่องกงว่า เป็นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนี่ มันสิ้นดีจริง ๆ และที่สำคัญกว่าความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตลาดเสรี ก็คือบรรษัทฮ่องกง อิงก์ของจ้าง จะทำดีเท่ากับเศรษฐกิจของครอบครัวลี ในสิงคโปร์หรือไม่ต่างหาก


  • Gary LaMoshi, a longtime editor of investor rights advocate eRaider.com, has also contributed to Slate and Salon.com. He's worked as a broadcast producer and as a print writer and editor in the United States and Asia. He moved to Hong Kong in 1995 and now splits his time between there and Indonesia.

    กำลังโหลดความคิดเห็น