รอยเตอร์ / เอเอฟพี - โคฟี อันนัน เผยพิมพ์เขียวแผนปฏิรูปสหประชาชาติ หนุนร่างกฎเกณฑ์ใหม่ในการใช้กำลังทหารยุติความขัดแย้ง ยกเครื่องหน่วยงานสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนสนธิสัญญาต่อต้านก่อการร้าย ในจำนวนนี้รวมถึงมือระเบิดพลีชีพปาเลสไตน์
ในรายงานหนา 63 หน้า ที่เสนอต่อสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วันนี้(21) โคฟี อันนัน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ได้ระบุถึงโครงร่างแผนปฏิรูปองค์กร ซึ่งเขาต้องการให้ประชาคมนานาชาติ ให้การรับรองระหว่างการประชุมซัมมิต เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งยูเอ็น ในเดือนกันยายนนี้
รายงานดังกล่าวร่างขึ้นตามคำแนะนำของคณะกรรมการระดับสูงด้านความมั่นคงและความยากจน โดยอันนันเรียกข้อเสนอเหล่านี้ว่า "การปฏิรูปไกลสุดเอื้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ" อีกทั้งยังร้องขอให้นานาประเทศ "กระทำการอย่างกล้าหาญ" และเน้นความสำคัญของความมั่นคงทั่วโลกว่า ไม่สามารถแยกออกจากการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนได้
"เราจะไม่เป็นสุขกับการพัฒนาที่ปราศจากความมั่นคง เราจะไม่มีความสุขหากความมั่นคงไร้การพัฒนา และจะไม่สนุกถ้าทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นโดยขาดการเคารพสิทธิมนุษยชน" อันนันระบุ
เขาเรียกร้องให้นานาชาติเห็นชอบกับตารางเวลาจัดหารายได้ 0.7 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) เพื่อนำมาต่อสู้ความยากจนภายในปี 2015 และสนับสนุนข้อเสนอของอังกฤษ เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเงินกู้ระหว่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เริ่มต้นการพัฒนา
หนึ่งในข้อเสนอที่มีเสียงวิจารณ์มากที่สุด คือ การยกเลิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในนครเจนีวา ซึ่งมีสมาชิก 53 ประเทศ หลังหน่วยงานนี้มักถูกตำหนิฐานเพิกเฉยต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนสำคัญๆหลายครั้ง
อันนัน กล่าวว่า หน่วยงานนี้ควรแทนที่ด้วยสภาสิทธิมนุยชน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และสรรหาสมาชิกด้วยการออกเสียง 2 ใน 3 ของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ไม่ใช่วิธีแบ่งตามโซนภูมิภาค ซึ่งทำให้ประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างซูดาน ลิเบีย ซิมบับเว และเนปาล ได้ที่นั่งในองค์กรเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น เขาเสนอให้มีการระบุเงื่อนไขในการเปิดฉากสงครามอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้ "พรี-เอ็มพ์ทีฟ" หรือการชิงลงมือโจมตีก่อนเพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง หลังสหรัฐฯส่งกองทัพบุกอิรัก โดยปราศจากความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน อันนันยังสนับสนุนการใช้สนธิสัญญาต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง พร้อมกับเห็นชอบตามรัฐบาลอาหรับหลายประเทศ ซึ่งต้องการนิยามคำว่า "ก่อการร้าย" ให้รวมถึงการโจมตีทุกประเภทที่มีพลเรือนเป็นเป้าหมาย แม้จะเป็นการตอบโต้ "การก่อการร้ายโดยรัฐ" ก็ตาม
สำหรับการยกเครื่องคณะมนตรีความมั่นคง 15 ประเทศ อันนันยังไม่ตัดสินใจเลือกแผนใดแผนหนึ่งระหว่างเพิ่มจำนวนสมาชิกถาวร 6 ประเทศ และสมาชิกชั่วคราวอีก 3 ประเทศ หรือเพิ่มสมาชิกกลุ่มใหม่ที่มีวาระ 4 ปี 8 ประเทศ บวกกับสมาชิกชั่วคราวอีก 1 ประเทศ
อย่างไรก็ดี เขายืนยันชัดเจนถึงความสำคัญในการเพิ่มจำนวนสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง พร้อมเรียกร้องให้สมัชชาใหญ่โหวตรับรองแผนการนี้ในการประชุมซัมมิตเดือนกันยายน