เอเอฟพี-พิธีสารเกียวโต ข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่กำหนดให้นานาประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันนี้(16) โดยได้รับความสนับสนุนจาก 141 ชาติทั่วโลก ทว่าถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ที่สุดแห่งพิภพ
ประเทศพัฒนาแล้ว 34 ประเทศซึ่งให้สัตยาบันพิธีสารฉบับนี้ เท่ากับยอมรับความผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 5.2% ก่อนถึงปี 2012 โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่แต่ละชาติจะต้องลดอย่างชัดเจน ทั้งนี้คำนวณจากระดับการปล่อยก๊าซของเมื่อปี 1990
ข้อตกลงฉบับนี้สามารถโอเคกันได้ในการประชุมที่เกียวโต นครหลวงเก่าของญี่ปุ่นเมื่อปี 1997 ท่ามกลางความหวาดเกรงกันว่า หากปล่อยให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะทำให้เกิดภาวะภัยแล้งร้ายแรง น้ำแข็งแถบขั้วโลกละลายทำให้สภาพอากาศแปรปรวนไปทั่ว และเกาะกลางสมุทรตลอดจนเขตชายฝั่งถูกน้ำท่วม ตลอดจนสัตว์และพืชพรรณจำนวนมากจะต้องสูญพันธุ์ไป
"เราขอต้อนรับอย่างจริงใจ ในการที่ข้อตกลงแม่บทซึ่งโลกจะมาร่วมมือกันในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ได้มีผลบังคับใช้แล้ว" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จุนอิชิโร โคอิซูมิ แถลงในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมที่ทำให้พิธีสารฉบับนี้คลอดออกมาได้
สำหรับสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโตในปี 2001 โดยเป็นปฏิบัติการอย่างแรกๆ ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กระทำภายหลังเข้ารับตำแหน่งในวาระแรก เขาให้เหตุผลว่ามันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอเมริกัน
เวลานี้ สหรัฐฯกับออสเตรเลีย เป็นเพียง 2 ชาติใหญ่ในโลกพัฒนาแล้ว ที่ปฏิเสธไม่ร่วมข้อตกลง โดยที่สองประเทศนี้รวมกันแล้วเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 30% ของทั่วโลก
คณะรัฐบาลบุชโต้แย้งว่า พวกประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน กับ อินเดีย ไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยพิธีสารเกียวโต อันหมายความว่าระบบเศรษฐกิจซึ่งกำลังเติบใหญ่ของพวกเขา จะไม่ต้องมีภาระชนิดที่ประเทศพัฒนาแล้วผู้ยอมให้สัตยาบันต้องแบกรับ
จีนนั้นตามการคำนวณของบางฝ่ายคาดหมายว่า จะแซงหน้าสหรัฐฯและยึดครองตำแหน่งผู้สร้างมลพิษมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปครอบครองภายในปี 2020 ทั้งนี้มีการวางแผนกันไว้ว่า เหล่าประเทศกำลังพัฒนาจะถูกขอให้ต้องสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ในการเจรจาขั้นต่อไปของพิธีสารเกียวโต ซึ่งกำหนดจะเริ่มขึ้นในปลายปีนี้
สำหรับวาระเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงเมื่อวานนี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 300 คน จัดการเดินขบวนไปรอบเมืองเกียวโตท่ามกลางสายฝนที่เทลงมาไม่ยอมหยุด บางคนแต่งกายเป็นลิงนกเพนกวิน บางคนก็ใส่หูเสือปลอม เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่จะมีต่อเหล่าสรรพสัตว์
"อันตราย เราจะอดเล่นสกีและสโนว์บอร์ด" เป็นข้อความในแผ่นป้ายแผ่นหนึ่งซึ่งผู้เดินขบวนถือเดินไปเต้นไปตามจังหวะเสียงกลองแอฟริกัน
"บุชควรต้องรับฟังเสียงของโลก ไม่ใช่ฟังแต่คนวงการธุรกิจของพวกเขา" เดบอราห์ แมนเทิล กล่าว สตรีชาวอังกฤษวัย 36 ปีผู้นี้สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เกียวโต
สหรัฐฯกับออสเตรเลียอยู่ในสภาพตกเป็นจำเลยตั้งแต่ก่อนพิธีสารมีผลบังคับใช้แล้ว โดยพวกเขาตอบโต้ด้วยการยืนกรานว่า การปฏิเสธข้อตกลงนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผล อีกทั้งพวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะลดมลพิษด้วยวิธีของพวกเขาเอง
"จนกว่าจะถึงเวลาที่พวกสร้างมลพิษรายใหญ่ๆ ของโลก อย่างสหรัฐฯและจีน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบพิธีสารเกียวโตแล้วนั่นแหละ ไม่เช่นนั้นมันก็ไร้ประโยชน์และอันที่จริงกลับจะเป็นผลเสียหายต่อประเทศเฉกเช่นออสเตรเลียด้วยซ้ำที่จะไปลงนามรับรองพิธีสารเกียวโต" นายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิรด์ แถลงในรัฐสภาแดนจิงโจ้
ส่วนโฆษกทำเนียบขาว สก็อตต์ แมลเคลแลน กล่าวว่าคณะรัฐบาลบุช "ได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างไม่เคยมีมาก่อนที่จะลดอัตราเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในวิถีทางที่จะยังทำให้เศรษฐกิจของเราขยายตัวต่อไปได้
"ยังมีอะไรอีกมากที่เราจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศกันต่อไปอีก แต่คณะรัฐบาลนี้ก็กำลังปฏิบัติงานเพื่อให้ศาสตร์แขนงนี้ก้าวไกลไปข้างหน้า และเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศให้มากขึ้นด้วยตัวเอง ตลอดจนผลของมันที่จะมีต่อโลกด้วย" เขากล่าว
คณะรัฐบาลบุชแสดงความข้องใจเรื่อยมา เกี่ยวกับภยันตรายของภาวะโลกร้อน ถึงแม้จะถูกวิจารณ์ท้วงติงจากประชาคมทางวิทยาศาสตร์ส่วนข้างมาก ซึ่งเชื่อว่าการปล่อยก๊าซมลพิษไปเรื่อยๆ จะส่งผลร้ายแรงจริงๆ
ตามข้อมูลของคณะกรรมการนานารัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดยูเอ็นนั้น อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 0.6 องศาเซลเซียส จากปี 1900 ไปจนถึงปี 1990 และน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 5.8 เซลเซียสเมื่อถึงปี 2100 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นไปในอากาศ