รอยเตอร์/เฮลโล แมกกาซีน - เมื่อพลิกบทบาทครั้งสำคัญในชีวิต มาเป็นเจ้าหญิงขวัญใจชาวอาทิตย์อุทัยแล้ว ไม่ว่าจะขยับตัวไปไหน ก็ตกเป็นข่าวให้ได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอๆ
หลังยอมสลัดคราบสาวมั่นยุคใหม่ เข้าสู่รั้วพระราชวังในฐานะพระราชชายาขององค์มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น “มาซาโกะ” อดีตนักการทูตอนาคตไกลต้องเผชิญกับความกดดันอย่างหนัก ที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางสู่ราชสำนักที่เธอเลือก
จากสาวร่าเริงสดใสสะพรั่งพร้อมด้วยสติปัญญาจากโลกตะวันตก บัดนี้สาวชั้นสูงที่คาดกันว่าจะเป็น “ไดอาน่าคนใหม่” กลับกลายเป็น “เจ้าหญิงผู้สงบเงียบ” ที่เผชิญกับความเครียดกับการปรับตัวในขนบธรรมเนียมของราชวงศ์เบญจมาศอันเก่าแก่ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกดดันในการที่ต้องให้ประสูติโอรสเพื่อสืบทอดราชบัลลังก์นั้นเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง
การวิพากษ์วิจารณ์กันเองเล็กๆ น้อยในพระราชวัง การที่ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตในราชสำนัก ทำให้เจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาของเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ทรงทุกข์ทรมานจากความเครียด และมีอาการซึมเศร้า
จะเรียกว่าราชวงศ์ของแดนอาทิตย์อุทัยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติว่าได้ แม้จะอภิเษกกับเจ้าชายนารุฮิโตะมากว่า 10 ปี แต่เจ้าหญิงมาซาโกะก็ยังไม่ทรงมีราชโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ โดยตามกฎหมายปัจจุบัน เจ้าหญิง “ไอโกะ” ราชธิดาองค์แรก ของพระองค์นั้น ไม่สามารถขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้
แม้จะไม่เคยมีการระบุอย่างเป็นทางการ แต่นั่นก็คือเหตุสำคัญที่สร้างแรงกดดันให้แก่เจ้าหญิง และตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าหญิงมาซาโกะ ต้องระงับพระราชกรณียกิจในที่สาธารณะทั้งหมด โดยทรงให้เหตุผลว่า “เพราะความเหนื่อยทางกายและทางจิตใจ”
สถานการณ์ที่ยากลำบากของพระชายา ทำให้ เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ถึงกับตรัสตรงๆ ผิดธรรมดาในการกล่าวแถลงข่าวเมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า พระชายาซึ่งทรงยอมทอดทิ้งอาชีพนักการทูตที่กำลังรุ่งโรจน์เพื่อมาอภิเษกกับพระองค์นั้นต้องทรงพยายามปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตในราชสำนัก จนกระทั่งทรง “หมดสิ้นพระกำลัง”
การตรัสอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ต่อสาธารณชน สร้างความประหลาดใจไปทั่ว แม้แต่เจ้าชายอาคิชิโนะ พระอนุชา ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์พระเชษฐาว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่เจ้าชายนารุฮิโตะตรัสเช่นนี้ โดยที่ไม่ได้กราบทูลแก่จักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระราชบิดาก่อน
ขณะที่จักรพรรดินีมิชิโกะทรงกล่าวเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 70 พรรษา เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า พระองค์ทรงเสียใจต่อความยากลำบากในการปรับตัวของเจ้าหญิงมาซาโกะ อย่างไรก็ตาม การที่ทรงยกตัวอย่างพระองค์เองซึ่งเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้เป็นจักรพรรดินีแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ก็เคยต้องทนทุกข์จากความเครียดในลักษณะเดียวกันมาแล้ว โดยทรงระบุว่า “ด้วยสำนึกของความรับผิดชอบ พระองค์จึงพยายามกัดฟันต่อสู้ เพื่อรักษาชื่อเสียงของราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องผิดหวัง” ก็เท่ากับเป็นการตำหนิเจ้าหญิงมาซาโกะกลายๆ
“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ล้วนเกี่ยวกับการมีพระโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์” เคนเนธ ริวออฟฟ์ ผู้อำนวยการศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ของพอร์ตแลนด์ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี และเขียนหนังสือเกี่ยวกับราชวงศ์ญี่ปุ่นกล่าว
การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมากในราชวงศ์ญี่ปุ่นที่ได้รับการเทิดทูนอย่างสูงจากพสกนิกร นับตั้งแต่การยอมสละสถานะแบบเทวสิทธิ์ขององค์จักรพรรดิ หลังจากสงครามที่สอง ด้วยการสร้างภาพของระบอบราชาธิปไตยายกลาง ขึ้นมาแทนที่
ปฏิกิริยาของจักรพรรดินีมิชิโกะและเจ้าชายอาคิชิโนะ ย้ำชัดให้เห็นถึงพันธะกิจในการปฏิบัติหน้าที่ของราชสำนัก ซึ่งตรงข้ามกับความมุ่งมาดปรารถนาของเจ้าหญิงมาซาโกะ ที่ทรงต้องการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในฐานะทูตหลวง อันเป็นภาพสะท้อนของความต้องการบรรลุตนเองของเจ้าหญิง อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการทูตปลาดิบ
ผู้สังเกตการณ์ข่าวคราวในราชสำนักเชื่อว่า ทางออกเดียวของวิกฤตินี้ คือ การเปลี่ยนกฎมณเทียรบาลให้ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้
ผลการสำรวจชาวญี่ปุ่นพบว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่ออนุญาตให้สตรีขึ้นเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ได้ ด้านนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ เองก็บอกว่าไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ขณะที่ ส.ส.พรรครัฐบาลเสนอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้จักรพรรดินีปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าแค่เปลี่ยนกฎการสืบทอดราชบัลลังก์ก็เพียงพอแล้ว
เวลาอาจจะสั้น ขณะนี้เจ้าหญิงไอโกะมีพระชันษาเพียง 3 พรรษา แต่ในวัยนี้ก็เป็นช่วงที่การศึกษาปรัชญา ขนบธรรมเนียมของราชวงศ์อันซับซ้อนของผู้สืบราชบัลลังก์จะต้องเริ่มขึ้นแล้ว
“ถึงเวลาที่จะต้องถวายการสอนแด่เจ้าหญิงเกี่ยวกับปรัชญาของราชวงศ์ และการเตรียมบ่มเพาะจิตใจของพระองค์ให้พร้อม”ศาสตราจารย์ กาซามารา ฮิเดะฮิโกะ ศาสตราจารย์ผู้สันทัดกรณีจากมหาวิทยาลัยเคโอะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งคำถามมากมายกับการเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีการสืบทอดราชบัลลังก์ของญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นหัวอนุรักษนิยมจำนวนมากปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น
ตามประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นมีจักรพรรดินีเพียง 8 พระองค์เท่านั้น โดยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ปกครองแผ่นดินเป็นการชั่วคราว และไม่มีพระองค์ใดที่มอบราชบัลลังก์ให้แก่พระโอรสของพระองค์เองเลย
“ถ้าจักรพรรดินีซึ่งกำลังปกครองแผ่นดินอยู่ ทรงให้พระประสูติกาลพระโอรสที่อยู่ในรายชื่อเป็นองค์รัชทายาท กฎเกณฑ์อันเคร่งครัดมาก็พังสลาย และมันก็เหมือนกับว่า ประวัติศาสตร์ก็ถึงจุดจบสิ้น " อาจารย์ชาวอเมริกันกล่าว
ขณะที่พวกที่มองโลกกันตามความเป็นจริงบางรายกลัวว่า บทบาททางเพศตามธรรมเนียมญี่ปุ่น มีนัยหมายถึงการที่ผู้สืบบัลลังก์ที่เป็นสตรี จะไม่สามารถที่จะหาคู่ครองซึ่งเต็มใจ ที่จะยอมรับบทบาทที่ต้องเป็นรองจากคู่ได้
นักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมคงอยากจะรอไปอีกสักระยะ จนกว่าจะหมดหวังว่า เจ้าหญิงมาซาโกะ และเจ้าหญิงกิโกะ พระชายาของเจ้าชายอาคิชิโนะ จะประสูติโอรส อย่างไรก็ตาม หากจะยกประเด็นอันเปราะบางนี้มาพิจารณากัน ก็ต้องรอไปอีกหลายปี เนื่องจากจะไม่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในญี่ปุ่นเกิดขึ้นจนกว่าปี 2007