ผู้จัดการรายวัน - เตือนไทยเตรียมรับมือผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ นักวิชาการชี้ถ้า "บุช" ชนะ อเมริกาจะกดดันไทยให้สนับสนุนการทำสงครามครั้งต่อไปที่น่าจะพุ่งเป้ายังอิหร่าน รวมทั้งมุ่งกีดกันไม่ให้สนิทสนมกับจีน แต่หาก "แคร์รี" มีชัย ไทยก็ต้องเจอแรงบีบคั้นจากวอชิงตันซึ่งมุ่งปกป้องกีดกันทางการค้า รวมถึงการใช้มาตรการที่ไม่ใช่เศรษฐกิจโดยตรงอย่างเช่น สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย คาดเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯล้มแน่ ถ้าแคร์รีได้ครองทำเนียบขาว
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยดำเนินต่อเนื่องมายาวนานแล้ว บางช่วงเวลาก็ราบรื่น และบางช่วงเวลาก็เกิดการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันบ้าง ขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยภายในหรือลักษณะของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดของแต่ละประเทศ และปัจจัยภายนอกซึ่งก็คือสถานการณ์โลกในขณะนั้น
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งภายในและระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะบริหารชุดใหม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคเดโมแครต
ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมอเมริกันศึกษา สรุปภาพกว้างๆ ให้ฟังว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกันจะได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ต่อ หรือตำแหน่งผู้นำจะตกเป็นของจอห์น แคร์รี ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต ก็ล้วนแต่จะมีผลกระทบต่อไทยทั้งสิ้น แต่จะเป็นผลจากนโยบายที่แตกต่างกันไป
หากบุชเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย ความมั่นคงก็จะเป็นประเด็นหลักที่สหรัฐฯ จะใช้ในการดำเนินนโยบายทั้งต่อไทยและต่อโลก สหรัฐฯ จะยังคงกดดันให้ไทย ในฐานะพันธมิตรนอกนาโต้ ร่วมมือกับการต่อต้านการก่อการร้ายต่อไป และน่าจะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจบีบให้ไทยสนับสนุนในการทำสงครามครั้งต่อไปของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะพุ่งเป้าไปที่อิหร่าน อันเป็น 1 ใน 3 ประเทศอักษะปีศาจ โดยใช้เรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นข้ออ้าง
แต่หากแคร์รีขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เพราะนโยบายหลักของเดโมแครตคือการปกป้องทางการค้า กีดกันสินค้าต่างชาติเข้าประเทศ
นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งกำลังดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐฯ อยู่ นอกจากนี้รัฐบาลของแคร์รียังอาจนำเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็ก หรือสิ่งแวดล้อม มาใช้เพื่อกีดกันสินค้าเกษตรของไทย หรือทำการลงโทษทางเศรษฐกิจด้วย
ในส่วนของนโยบายด้านความมั่นคง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า นอกจากจะกดดันไทยอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการก่อการร้ายแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของบุช ยังเป็นกังวลเรื่องสถานะความเป็นผู้นำของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามสร้างความสัมพันธ์ในเชิงพิเศษกับประเทศต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นจีนเป็นภัยคุกคามสำคัญ และไม่พอใจหากประเทศใดจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษกับจีน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่จะถูกสหรัฐฯ กีดกันให้ออกห่างจากจีน
ดร.ปณิธานบอกว่า นโยบายความมั่นคงของแคร์รีนั้นจะมีความประนีประนอมมากกว่าบุช แต่จะนำปัญหาด้านความมั่นคงในแง่สิทธิมนุษยชนมาพิจารณามากกว่า โดยบุชนั้นมองปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทย ว่าเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายสากล ขณะที่แคร์รีจะยกเรื่องมนุษยธรรมมาตั้งข้อสังเกต คำถาม และเรียกร้องมากกว่า
ผู้ท้าชิงของประธานาธิบดีบุชเน้นการหาเสียงในเรื่องภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานในประเทศเป็นฐานเสียงสำคัญของเดโมแครต แคร์รีจึงต่อต้านการเอาต์ซอร์ส (outsource) หรือการจ้างประเทศอื่นผลิตสินค้าแล้วส่งมาขายยังสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน
ทั้งนี้ แคร์รีประกาศว่าจะลงโทษบริษัทที่ดำเนินการดังกล่าว และยังโจมตีนโยบายการทำเอฟทีเอของบุช ซึ่งก็เท่ากับว่า หากแคร์รีได้เป็นประธานาธิบดีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็คงไม่เกิด
อย่างไรก็ตาม ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อมองในระยะยาวแล้ว แคร์รีอาจทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นได้หากดำเนินตามนโยบายตามที่หาเสียงไว้ เพราะแคร์รีจะช่วยคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์สงคราม ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพความมั่นคงโลก ฉะนั้น กระแสเงินทุนในโลกยุคนี้ ซึ่งใช้ภาคการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนแทนภาคการผลิต ก็คงจะเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัวขึ้น
ดร.สมภพ เชื่อว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะเป็นใครก็ตาม ไทยคงต้องเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในลักษณะของการโดนหางเลข เพราะ "เรือรบชนกัน เรือลำเล็กกว่าที่พ่วงกับเรือรบจึงโคลงเคลงตามไปด้วย" เนื่องจากไทยไม่ใช่คู่ต่อสู้หลักในเวทีเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ตัวอย่างสำคัญที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในตัวเลขการส่งออกที่รัฐบาลภาคภูมิใจ โดยหากบุชเป็นประธานาธิบดี สถานการณ์ความวุ่นวายก็จะยังคงอยู่ต่อไป การค้าระหว่างประเทศคงจะดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นเรียบร้อยเท่าใดนัก ขณะเดียวกัน หากแคร์รีเป็นประธานาธิบดี เขาก็คงจะใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ฯลฯ กดดันไทยผ่านเวทีพหุภาคี ซึ่งก็จะทำให้เกิดความยากลำบากในการส่งสินค้าออกมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
ดร.สมภพทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2548 จะเป็นวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และช่วงนั้นก็ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งของไทยพอดี ดังนั้น รัฐบาลไทย รวมทั้งคนไทยจึงต้องตั้งสติให้ดีเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ